
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีรายงานว่า ชาวบ้านที่ถูกอพยพโยกย้ายจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี จำนวนหนึ่งมีรายได้ต่อปีน้อยกว่าอยู่บ้านเดิม และไม่มีอาชีพที่มั่นคง แม้ในเบื้องต้นทางเขื่อนไซยะบุรีได้ฝึกอบรมการเลี้ยงปลาและเลี้ยงกบให้ชาวบ้าน แต่ต่อมาโครงการส่งเสริมอาชีพนั้นล้มเหลว ชาวบ้านจึงเลิกเลี้ยงและทิ้งร้างอ่างซีเมนต์ต่าง ๆ ไว้ข้างบ้าน
ชาวบ้านหมู่บ้านตาลานคนหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายจากเขื่อนไซยะบุรี กล่าวว่า ทางเขื่อนได้มาส่งเสริมอาชีพครึ่งปี โดยแต่ละครอบครัวจับฉลากว่าจะได้เลี้ยงกบหรือเลี้ยงปลา แต่มีปัญหาเรื่องน้ำเพราะน้ำประปาที่ทางโครงการสร้างให้ไม่สามารถใช้ได้แล้ว ทำให้ชาวบ้านตาลานหลายสิบครอบครัวเลิกเลี้ยงกบทั้งหมด
ชาวบ้านอีกรายได้กล่าวเสริมว่า การเลี้ยงกบไปไม่รอด เพราะขายไม่ได้ ตายบ้าง มีการลักขโมยน้อย ระบบการเลี้ยงไม่ได้ ระบบน้ำก็ไม่ดี ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงเลิกเลี้ยง ชาวบ้านหลายครอบครัวที่เคยมีอาชีพหาปลา ปัจจุบันก็ไม่สามามารถทำได้ เพราะว่าปริมาณปลาลดลงมาก ต้องจอดเรือไว้ริมฝั่ง เนื่องจากสภาพน้ำโขงที่นิ่งและมีปริมาณมาก ทำให้จับปลายากกว่าเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ ระหว่างการก่อสร้างเขื่อน ชาวบ้านยังได้ไปทำงานรับจ้างเป็นกรรมกร ยังพอมีรายได้แต่หลังจากสร้างเขื่อนเสร็จ พวกเขาก็ไม่มีงานทำ หากเปรียบเทียบรายได้ก่อนที่จะมีการโยกย้ายหมู่บ้าน ประมาณ 5-7 ล้านกีบ หรือประมาณ 30,000 บาทต่อปี แต่ขณะนี้พวกเขามีรายได้เพียง 1 ล้านกีบต่อปี(2500 บาท/คน)
นอกจากนี้ โครงการได้จัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านครอบครัวละไม่เกิน 1 เฮกตาร์หรือ 6.25 ไร่ แต่บางครอบครัวก็ได้เพียง 0.5 -0.7 เฮกตาร์ เท่านั้น เพื่อทำการเกษตร ระยะแรกชาวบ้านบางครอบครัวปลูกกล้วย แต่ไม่ได้ผลและต่อมาจึงได้ลองปลูกมันสำปะหลัง แต่ไม่ได้มากเพราะว่ามีที่ดินน้อย
ชาวบ้านเนินสว่างคนหนึ่งที่ถูกโยกย้ายจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี กล่าวว่า “ลำบากมาก เพราะได้ที่ดินเพียง 0.5 เฮกตาร์ หรือประมาณ 3 ไร่ แต่ไม่สามารถปลูกผลผลิตเลี้ยงครอบครัวได้ การอพยพมาอยู่บ้านใหม่ ค่าครองชีพแพงกว่าเดิมมาก เพราะว่าต้องซื้อทุกอย่าง ตอนที่อยู่ที่บ้านเดิมนั้นชาวบ้านมีที่ดิน ทำไร่ ทำนา และหาปลาจากแม่น้ำโขงได้ ไม่ต้องซื้อข้าวซื้อน้ำกินและมีที่ดินมากเพียงพอ
ทั้งนี้ปัจจุบันแปลงอพยพบ้านเนินสว่าง มีประมาณ 200 กว่าครัวเรือน เพราะทางการได้อพยพชาวบ้านจากบ้านเข่น บ้านห้วยหีบ บ้านปากเนิน บ้านคกใหญ่ และบ้านห้วยเดื่อ มาอยู่รวมกัน ในช่วงการก่อสร้างเขื่อน ชาวบ้านได้ไปทำงานก่อสร้างและบางคนก็มีเงินเดือนอย่างน้อยประมาณล้านกีบ หรือ 3,000 บาทขึ้นไป เมื่อเขื่อนก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงไม่มีงานทำ โดยชาวบ้านเนินสว่างประมาณ 10 กว่าครอบครัวที่ได้ไปบุกเบิกเนื้อที่เพื่อทำไร่ทำนาในเขตหมู่บ้านเดิม แต่ทางการไม่อนุญาตและหากฝ่าฝืนจะต้องถูกปรับเป็นเงินประมาณ 40-50 ล้านกีบ หรือประมาณ 150,000 บาท ที่ผ่านมาโครงการเขื่อนไซยะบุรี ได้นำเป็ด ไก่ แพะ และหมูมาให้ชาวบ้านเลี้ยง แต่สัตว์เลี้ยงตายหมด และชาวบ้านเนินสว่างที่ถูกอพยพมาไม่มีที่ดินทำนา และมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกยางพาราเพื่อขายให้กับบริษัทเอกชน แต่การปลูกยางพาราต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะมีน้ำยางขายได้และที่สำคัญชาวบ้านมีที่ดินไม่เพียงพอ
ชาวบ้านตาลานคนหนึ่งกล่าวว่า ได้รับที่ดินไม่ถึง 6.25 ไร่ และปลูกยางพารา แต่พึ่งจะได้กรีดปีนี้ ต้องใช้เวลานานมาก แต่ว่าไม่มีต้นยางมาก เพราะเนื้อที่น้อย อยากปลูกพืชชนิดอื่นบ้างแต่ที่ดินไม่เพียงพอ การอพยพโยกย้ายชาวบ้านจากบ้านเดิมมายังแปลงอพยพ ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านโดยตรง เพราะว่าชาวบ้านเคยอยู่ในชนบทที่มีพื้นที่กว้างขวางและตอนนี้ชาวบ้านยังไม่สามารถปรับตัวได้

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านชุมชนของลาวกล่าวว่า การโยกย้ายชาวบ้านจากที่เดิมไปสู่ที่ใหม่ และต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดเพียง 40×40เมตร ในที่ดินเพียง 1 ไร่ ทำให้ชาวบ้านปรับตัวยาก ระยะแรกอาจจะดูว่ามีการชดเชยที่ดี แต่ในระยะยาวชาวบ้านอยู่ลำบาก อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านหลายคนก็ระบุว่า หลังจากย้ายมาแปลงอพยพใหม่ก็มีน้ำสะดวก ถนนหนทางสะดวกสบายทำให้การสัญจรสะดวกกว่าอยู่บ้านเดิมและมีไฟฟ้าใช้
สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีระบุว่า ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของบริษัทช.การช่าง ที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการเขื่อนไซยะบุรี เพื่อถามความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวไม่สามารถให้ความเห็นได้ โดยให้สำนักข่าวส่งคำถามไป แต่กลับไม่ได้รับการติดต่อกลับมา
ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของแขวงไซยะบุรีท่านหนึ่ง เคยกล่าวว่า “โครงการเขื่อนไซยะบุรี จะพยายามฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ถูกโยกย้ายให้ดีที่สุด โดยใช้ต้นแบบการฟื้นฟูชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ในโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 โครงการเขื่อนไซยะบุรี ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 4,000 ครัวเรือน หรือประมาณ 16,000 คน โดยได้มีการอพยพชาวบ้านกว่า 450 ครัวเรือน ปัจจุบันเขื่อนได้ทำการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2562