
“โขง ชี มูล” เป็นโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยเมื่อราว 30 ปีก่อน ที่พยายามนำเสนอภาพฝันของการขจัดปัญหาความแห้งแล้งในภาคอีสานแบบถาวร โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งในพื้นที่สำคัญอย่างลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูล แต่เวลาที่ล่วงเลยมาถึงปัจจุบันโครงการนี้กลับเต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และถูกนำไปเป็นตัวอย่างของโครงการพัฒนาที่ล้มเหลวเพื่ออธิบายถึงจุดจบในทำนองเดียวกันของโครงการจัดการน้ำที่เกิดขึ้นในยุคหลัง คำถามสำคัญ คือ ทำไมสิ่งเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ?
การเคลื่อนไหวของโครงการ โขง ชี มูล เกิดขึ้นในราวปี 2530 โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้ทำการศึกษาเบื้องต้น (Desk Study) โครงการ ตามด้วยการเสนอโครงการเข้าบรรจุในแผนงานของโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามแนวพระราชดำริในปี 2531 แต่โครงการได้รับการสนับสนุนเพียงงบสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลเท่านั้น ทำให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ต้องออกแรงผลักดันโครงการให้คณะรัฐมนตรีที่กำลังประชุมสัญจรอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นพิจารณาอีกครั้งในปี 2532 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินโครงการได้ภายใต้วงเงิน 18,000 ล้านบาท
จากนั้นกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานจึงเริ่มทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการจนกระทั่งแล้วเสร็จในปี 2535 โดยผลการศึกษาพยายามนำเสนอให้เห็นถึงศักยภาพเชิงเทคนิคของโครงการ และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้สูงถึง 4.9 ล้านไร่ ครอบคุลมพื้นที่ 15 จังหวัดในภาคอีสาน มีแนวทางการบริหารจัดการน้ำสองแนวทางหลัก คือ การผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามายังลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูล และการบริหารจัดการน้ำภายในพื้นที่ลุ่มน้ำเป้าหมายภายในประเทศ ส่วนการดำเนินโครงการถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ รวมเวลาทั้งสิ้น 42 ปี
ระยะพัฒนาที่ 1 เริ่มดำเนินการในปี 2535-2544 แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 2.3 ล้านไร่ ระยะพัฒนาที่ 2 กำหนดเวลาดำเนินงาน 16 ปี เริ่มในปี 2544 แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.6 ล้านไร่ ระยะพัฒนาที่ 3 มีแผนพัฒนาในปี 2560 รวมเวลาดำเนินการ 17 ปี มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 0.9 ล้านไร่ ต่อมากรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้เสนอผลการศึกษาโครงการพร้อมขอทบทวนแผนดำเนินโครงการใหม่ต่อคณะรัฐมนตรี โดยขอปรับลดแผนดำเนินงานที่ออกแบบไว้ในช่วงก่อนหน้าให้เหลือเพียงแผนพัฒนาระยะที่ 1 รวม 32 โครงการย่อย มีเป้าหมายส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก 2.3 ล้านไร่ ในวงเงินงบประมาณ 39,500 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติในปี 2537 เห็นชอบในหลักการตามแผนในระยะที่ 1 แต่ให้ดำเนินการได้เฉพาะในขั้นตอนที่ 2 ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบชลประทานและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเป้าหมายภายในประเทศก่อน ประกอบด้วย การก่อสร้างฝายและระบบชลประทานในลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูล และลำน้ำสาขา รวม 13 โครงการย่อย ครอบคลุมพื้นที่จังหวัด อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และหนองคาย อันได้แก่ 1.โครงการฝายกุมภวาปี 2.โครงการฝายชนบท 3.โครงการฝายมหาสารคาม(คุยเชือก) 4.โครงการฝายวังยาง 5.โครงการฝายยโสธร-พนมไพร (คูฟ้า) 6.โครงการฝายธาตุน้อย 7.โครงการฝายชุมพวง 8.โครงการฝายบ้านเขว้า 9.โครงการฝายตะลุง 10.โครงการฝายราษีไศล 11.โครงการฝายฝายหัวนา 12.โครงการฝายลำโดมใหญ่ 13.โครงการฝายลำเซบก และโครงการพัฒนาระบบชลประทานรอบอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงอีก 1 โครงการ รวมเป็น 14 โครงการย่อย มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 525,592 ไร่ รวมวงเงินงบประมาณ 10,346 ล้านบาท
ส่วนการพัฒนาโครงการในขั้นตอนที่ 1 และขั้นตอนที่ 3 ตามแผนในระยะที่ 1 ที่เกี่ยวข้องกับการวางระบบผันน้ำในแม่น้ำโขงเข้ามาเพิ่มเติมในพื้นที่ลุ่มน้ำเป้าหมาย คณะรัฐมนตรีมีมติให้ชะลอไว้ก่อนและมอบหมายให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกลับไปศึกษาความเหมาะสมใหม่อีกครั้ง
จากวันนั้นจวบจนวันนี้โครงการ โขง ชี มูล เดินทางผ่านกาลเวลายาวมานานกว่า 3 ทศวรรษ ภาพฝันกับความจริงกลับคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้างไว้ ทุกพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการประชาชนได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจกันอย่างถ้วนหน้า ทั้งการถูกอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นพำนักเดิม การสูญเสียที่ดินทำกิน น้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตร การสูญเสียอาชีพประมงพื้นบ้าน การพังทลายของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะการหายไปของพันธุ์ปลา พันธุ์พืชท้องถิ่น ดินเค็มแพร่กระจาย และความเสียหายของสมบัติชุมชน สิ่งเหล่านี้ล้วนสั่นคลอนวิถีชีวิต ระบบสิทธิ และความมั่นคงในการดำรงชีพของชาวบ้านอย่างไพศาล ในหลายพื้นที่ เช่น อุดรธานี ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ
ชาวบ้านรุ่นแล้วรุ่นเล่ายังคงตกอยู่ในวังวนของการต่อสู้เรียกร้องเงินค่าชดเชยความเสียหายและการฟื้นฟูระบบนิเวศจากรัฐอย่างหนักหน่วง ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดการตั้งคำถามจากผู้คนหลายฝักฝ่ายต่อความคุ้มค่าของโครงการในหลายมิติ ความหละหลวมของกฎหมายและการบังคับใช้ที่เป็นธรรม โดยเฉพาะการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ที่ขาดความสมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนอำนาจการมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจโครงการของชาวบ้านในพื้นที่
ปัจจุบันรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เพียงมิได้เหลียวหลังกลับมาทบทวนความบกพร่องของแนวความคิดและความล้มเหลวในการดำเนินโครงการ โขง ชี มูล เท่านั้น แต่กลับเดินหน้าจัดวางระบบอำนาจในการบริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเร่งรัดผลักดันโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มสร้างความเสียหายซ้ำรอยโครงการ โขง ชี มูล เช่น โครงการ โขง เลย ชี มูล โครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าพื้นที่อีสานโดยแรงโน้มถ่วงเพื่อเติมน้ำในลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล และอ้างเหตุผลการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งในภาคอีสานและเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 33 ล้านไร่
โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักษ์ เป็นการสร้างประตูระบายน้ำควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำเลยให้สัมพันธ์กับการผันน้ำของโครงการ โขง เลย ชี มูล โครงการเขื่อนปากชมที่จะสร้างเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำโขงสายประธานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและดันระดับน้ำโขงให้สอดรับกับการผันน้ำเข้าสู่ปากน้ำเลยในพื้นที่โครงการ โขง เลย ชี มูล รวมถึงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ที่มีแนวคิดสร้างเขื่อนเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาเพิ่มศักยภาพน้ำต้นทุนในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างและลุ่มน้ำชี หากพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนแล้วโครงการเกือบทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนอยู่ในแผนพัฒนาของโครงการ โขง ชี มูล ที่ถูกนำออกมาปัดฝุ่นกันใหม่อย่างเห็นได้ชัด
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทรัพยากรน้ำในภาคอีสานกำลังถูกคุกคามควบคุมโดยรัฐที่มีมุมมองในการบริหารจัดการทรัพยากรที่ขาดความเข้าใจบริบทของชุมชนอีสาน ประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการเดิมยังไม่ได้รับการสะสางปัญหาเก่า ประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการใหม่กำลังรอคอยการเผชิญหน้ากับผลกระทบที่กำลังคืบคลานเข้ามาอยู่ทุกขณะ
ทั้งนี้ระหว่างวันที่ วันที่ 12 – 13 กันยายน 2565 เครือข่ายลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้จัดงาน “3 ทศวรรษโขง ชี มูล บทเรียนการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐที่ล้มเหลว” ขึ้นที่ สมาคมคนทาม บริเวณเขื่อนราษีไศล อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ นักพัฒนา นักวิชาการ และสื่อมวลชนที่เกาะติดชิดใกล้สถานการณ์ปัญหา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียน ถกเถียง และวิพากษ์กระบวนการนโยบายและการขับเคลื่อนโครงการในแง่มุมต่างๆ แสวงหาลู่ทางสำหรับแก้ไขและป้องกันปัญหาในระดับพื้นที่ และผลักดันข้อเสนอให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อการเปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารจัดการน้ำในระดับนโยบาย