Search

นักวิชาการ-ชาวบ้าน-นักพัฒนาเห็นพ้องให้รัฐหยุดโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ ชี้บทเรียนความผิดพลาด “โขงชีมูล” เสนอให้แม่น้ำมีสถานะเป็นบุคคลฟ้องร้องได้เมื่อเกิดความเสียหายได้

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ที่สมาคมคนทาม บริเวณเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการจัดงาน “ 3 ทศวรรษ โขง ชี มูล บทเรียนการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐที่ล้มเหลว”โดยมีชาวบ้านจากจังหวัดต่างๆในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบและผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 200 คนร่วมงานโดยภายในงานได้มีเวทีเสวนาถอดบทเรียน

นายศิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน กล่าวเริ่มงานว่าหลังจากโครงการโขงชีมูลเกิดขึ้นปี 2532 และมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชีและมูลทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบและลุกขึ้นมาทวงสิทธิ การจัดงานครั้งนี้เพื่อวิพากษ์การจัดการน้ำโขงชีมูลและอยากเห็นว่าการจัดการน้ำที่ผ่านมาเป็นบทเรียนของความล้มเหลว และเราอยากเห็นประชาชนได้มาพูดคุยกันเพื่อกำหนดทิศทางขบวนเครือข่ายว่าจะไปทางใด

ทั้งนี้ผู้ร่วมจัดวงเสวนาประกอบด้วย นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย) นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นายนิรันดร คำนุ หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสารคาม ผศ.กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย นายประดิษฐ์ โกศล ตัวแทนสมัชชาคนจนราษีไศล  นายนิมิต หาระพันธ์ ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายลุ่มน้ำชี

นายประดิษฐ์ กล่าวว่า ตอนนี้น้ำท่วมราษีไศล รัฐบาลบอกว่า การสร้างเขื่อนเพื่อไม่ให้น้ำท่วม แต่ตอนนี้เกิดน้ำท่วม ตอนสร้างเขื่อนเราได้ค่าชดเชยรายละกว่า 3 หมื่นบาท รวมแล้วรัฐต้องจ่ายค่าชดเชยกว่า 2 พันล้านบาท ทำให้เกิดคำถามว่างบประมาณที่ใช้คุ้มค่าหรือไม่ การบริหารจัดการน้ำมีปัญหา การสูบน้ำเข้านาต้องเสียค่าใช้จ่าย เห็นชัดเจนว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลว ทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน เช่นเดียวกับการบริหารจัดการน้ำโขงชีมูลล้มเหลวมาก

นายนิมิต ตัวแทนลุ่มน้ำชี กล่าวว่ารู้สึกอัดอัดใจและเจ็บปวดกันมานานกับการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล และชาวบ้านไม่รู้แก้ปัญหาอย่างไรและหวังพึ่งพาใครได้ โดยก่อนมีโครงการโขงชีมูลชาวบ้านมีความสุขอยู่กับธรรมชาติ ต่อมาเขาบอกว่ามีการสร้างฝายยาง เราก็คิดว่าสบายแล้ว แต่สุดท้ายกลายเป็นความเดือดร้อนเพราะปกติน้ำมาก็หลากไปและมีปูมีปลา แต่ฝายยางที่กลายเป็นเขื่อนคอนกรีต 3 เขื่อน ทำให้เดือดร้อนเพราะน้ำท่วม ไม่สามารถยกประตูระบายน้ำได้ โดยกว่า 10 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านต้องลำบากกว่านโยบายของรัฐ อนาคตไม่รู้ว่าลูกหลานจะอยู่กันอย่างไร เราเรียกร้องให้มีการแก้ไขผ่านมาหลายรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข เราเรียกร้องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งก็ดูเอาจริงทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาบ้าง

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กล่าวว่า โครงการโขงชีมูลเป็นมหากาพย์ เรื่องนี้เป็นหลักคิดเดิมๆที่มองคนเป็นศูนย์กลางทำให้เกิดความผิดพลาด เราควรมองเป็นธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง เพราะเมื่อเอาคนเป็นจุดศูนย์กลางทำให้เกิดความผิดพลาดและสุดท้ายก็ย้อนกลับมาที่คน ในส่วนของแม่น้ำโขงที่ยิ่งใหญ่ได้เพราะแม่น้ำสาขาทำให้เกิดความมั่งคั่ง ภาคอีสานมีความอุดมสมบูรณ์ทำให้เกิดศิลปวัฒนธรรมขนาดใหญ่ แต่แม่น้ำโขงถูกทำลายจากน้ำมือของมนุษย์ตั้งแต่เขื่อนมันวานซึ่งเป็นเขื่อนตัวแรก ต่อมามีเขื่อนตัวที่ 2 ที่เริ่มเห็นการขึ้นลงของน้ำผิดปกติ หลังจากนั้นเกิดเขื่อนตัวต่อ ๆมา จนกระทั่งมีเขื่อนไซยะบุรีที่สร้างเมื่อปี 2562 ในประเทศลาว ทำให้เห็นภาพแม่น้ำโขงใสและขาดตะกอนได้สร้างความเสียหายกับร่องน้ำเพราะไปดึงตะกอนจากตลิ่ง

“ตรรกะและวิธิคิดของการสร้างเขื่อนก็ผิด เพราะฤดูแล้งก็ปล่อยน้ำ ใครไม่ได้อยู่กับแม่น้ำคิดว่าดี แต่นี่คือความวิปริต ฤดูแล้งควรมีเกาะแก่งเกิดขึ้นซึ่งเป็นระบบนิเวศย่อย เช่นเดียวกับฤดูน้ำหลาก น้ำยกระดับให้ปลาเข้าไปวางไข่ในลุ่มน้ำสาขา แต่เมื่อมีเขื่อนน้ำกลับถูกกัก ปริมาณน้ำต้นทุนหายไป เกิดปรากฏการณ์ปลาลดลง”นายนิวัฒน์ กล่าว

นายนิวัฒน์กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญในตอนนี้คือการสร้างสำนึกร่วมของคนลุ่มน้ำโขงโดยการสร้างสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงแห่งประเทศไทยเพื่อก่อนเกิดของคนทุกลุ่มน้ำในแม่น้ำโขง

นายสันติภาพ กล่าวว่า การที่รัฐเปลี่ยนโครงการจากโขงชีมูลเป็นโขงเลยชีมูลโดยการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงผ่านเส้นทางน้ำมาลงชีและมูล นอกจากนี้ยังมีเส้นใหม่คือโครงการศรีสองรักที่เอาน้ำโขงเข้าแม่น้ำเลย เจาะอุโมงค์ผันน้ำ 17 อุโมงค์ แต่ละอุโมงค์ใหญ่ขนาดรถสิบล้อสวนทางกันโดยใช้งบประมาณ 1 ล้านล้านบาท ใน 15 ปี ซึ่งขณะนี้คนอีสานยังไม่รู้ว่ามีจุดไหนที่ลำน้ำหรือท่อผ่าน โครงการจึงเต็มไปด้วยคำถาม ปัญหาที่น่าสนใจที่สุดคือการผันน้ำในช่วงฤดูฝน ทั้ง ๆ ที่ในฤดูฝนมีน้ำเยอะอยู่แล้ว การบริหารจัดการน้ำในวันนี้รวมศูนย์มากขึ้น ยิ่งมีการรวมศูนย์เท่าไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยิ่งเล็กลง ตนเชื่อว่าน้ำที่มานี้จะเป็นทุกขลาภเพราะเยอะเกินไปและมีราคา

นายนิรันดร กล่าวว่า โครงการโขงชีมูลเกิดขึ้นภายใต้ความเชื่อว่าภาคอีสานแห้งแล้ง แต่ช่วงนั้นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังไม่มี จึงคิดโครงการจากส่วนกลางและเริ่มสร้างในพื้นที่ต่างๆ เช่น สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำมูล และแม่น้ำชี ทำให้ชีพจรน้ำเปลี่ยนไป ป่าบุ่งป่าทามซึ่งเป็นมดลูกของปลาถูกทำลาย ทำให้กลายเป็นปัญหาในมิติวิถีวัฒนธรรม และภายหลังการเกิดปัญหาประชาชนเดือดร้อน แต่กลับไม่มีหน่วยงานมาช่วยเหลือ ทำให้ชาวบ้านต้องรวมตัวกันเคลื่อนไหวซึ่งไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน เมื่อรัฐสร้างโครงการขนาดใหญ่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน และชาวบ้านต้องไปเรียกร้องเองและถูกสังคมมองว่าชาวบ้านอยากได้เงิน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครอยากไปนอนข้างทำเนียบ แต่วิถีชีวิตของชาวบ้านได้รับผลกระทบ เขาควรมีสิทธิชุมชนที่ควรได้รับการเยียวยา

“30 ปีที่ชาวบ้านออกมาเรียกร้องก็ยังไม่มีวี่แววที่จะได้รับการแก้ไขปัญหา จริง ๆ แล้วด้วยเหตุและผลหากต้องการแก้ไขปัญหานี้ อาจต้องให้หน่วยงานอื่นเข้ามาช่วย และต่อไปหากมีการสร้างโครงการก็ควรให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม”นายนิรันดร กล่าว

ผศ.กนกวรรณ กล่าวว่า 30 ปีโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่โขงชีมูลเป็นความไม่ยั่งยืน จากการไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เห็นได้ว่าความเป็นธรรมมาช้ามากเมื่อเปรียบเทียบกับการสร้างเขื่อนที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืน จึงต้องถามว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าโครงการขนาดใหญ่เป็นมุมมองของรัฐบาลที่ว่าจะแก้ปัญหาได้ ถามว่าเขื่อนขนาดใหญ่แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้หรือไม่ คำตอบคือส่วนใหญ่สร้างผลลบมากกว่าผลบวกโดยมีหลักฐานจากผลการประเมินผลกระทบ แต่กว่ากรมชลประทานจะยอมรับก็สายมาก และความยุติธรรมก็มาช้ามาก

ผศ.กนกวรรณ กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ข้ามรุ่นจากปู่ย่าตายายมาถึงลูกหลาน ทำให้หนี้สินพอกพูนมากขึ้นรายได้ของชาวบ้านหายไปจากการพัฒนา เพราะไม่สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้ ดังนั้นการชดเชยเยียวยาจึงต้องทำไปถึงลูกหลานด้วย นอกจากนี้การมีเขื่อนขนาดใหญ่ทำให้เกิดการตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับแม่น้ำ ปูปลาและธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญของชีวิตเพราะเป็นแก่นชีวิตของคนลุ่มน้ำ แต่เขื่อนทำให้ความสัมพันธ์ถูกตัดลง

“การพัฒนาแบบนี้เป็นความรุนแรงที่ซึมลึกต่อวิถีชีวิต แต่รัฐบาลไม่ได้แบกรับ แต่ชาวบ้านต้องแบกรับจากความสูญเสียและต้องแบกรับไปสู่ลูกหลาน ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน น่าเสียดายว่าผ่านไป 30 ปีแล้ว มันช้าเกินไป แต่ก็ยังเห็นถึงความหวังคือความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมที่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการสู้จากที่ไปอยู่ข้างทำเนียบคือการใช้ความรู้โดยรวมตัวกันทำวิจัยเป็นอาวุธในการต่อสู้ ถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เชื่อว่าการต่อสู้แบบนี้อีกไม่ถึง 40 ปีชาวบ้านต้องชนะแน่นอน”ผศ.กนกวรรณ กล่าว

ผศ.กนกวรรณ กล่าวว่า ต้องมีการถอดบทเรียนในการจัดการน้ำคือพูดถึงปัญหาเก่าเพื่อไม่ให้สร้างปัญหาใหม่ ขณะที่ต้องจัดการให้เกิดความเป็นธรรม และต้องการมีการจัดการสภาประชาชนให้เป็นรูปธรรม โดยโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ไม่ใช่คำตอบแต่ถ้าเป็นโครงการที่จิ๋วแต่แจ๋วก็จะดีกว่า ขณะที่ประเทศนิวซีแลนด์ทำให้แม่น้ำมีสถานพเป็นบุคคลสามารถฟ้องรัฐบาลหรือผู้ที่สร้างความเสียหายได้ เราผลักดันเช่นนั้นได้หรือไม่เพื่อทำอย่างไรให้แม่น้ำมีความสุข

นายหาญณรงค์ กล่าวว่า โครงการโขงชีมูลลอกแบบมาจากโครงการลุ่มน้ำเมอเลย-ดาร์ลิงค์ ของออสเตรเลีย ทั้งนี้เชื่อว่าโครงการโขงเลยชีมูลต้องการทำเงินให้กับพรรคการเมืองบางพรรค ทำให้ ส.ส.จำนวนมากเห็นด้วยแทบทุกพรรค แม้แต่บางพรรคที่เคยตรวจสอบก็ยังไม่พูดเลยเมื่อเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาในคณะกรรมาธิการ ตนฟันธงว่าหน่วยงานที่ทำไม่เข้าใจสังคม โครงการโขงชีมูลที่เขาไม่แก้ไขปัญหาชาวบ้านเพราะเขาไม่ได้สนใจชาวบ้านจริงๆอนาคตควรระบุให้ชัดว่าโครงการนี้ใครได้ประโยชน์ ดังนั้นก่อนทำโครงการควรคุยกันให้จบก่อน

ทั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็นโดยหลายคนเห็นว่ารัฐควรหยุดสร้างโครงการขนาดใหญ่ได้แล้ว เพราะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน รัฐเอางบประมาณและกำลังพลเป็นตัวตั้งแต่ไม่ได้คิดถึงประชาชนเป็นตัวตั้ง รัฐบาลคิดแต่เรื่องอำนาจของตัวเองจนถึงวันนี้ 30 ปีจึงต้องขับเคลื่อนให้อำนาจมาเป็นของประชาชน

———–

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →