เมื่อวันที่ 26 มกราคม นายบุญชอบ สุทธมนัสวงศ์ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะ จ.แม่ฮ่องสอน ที่มีไม้สักจำนวนมาก ใน อ.ขุนยวม และ อ.แม่ลาน้อย เป็นที่ตั้งของป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เงา-แม่สำเพ็ง มีป่าสักอายุหลายร้อยปี จำนวนนับพันต้น ถูกกลุ่มนายทุนและชาวบ้านบุกรุกโดยวิธีเข้าไปกาน เพื่อให้ต้นสักเหล่านั้นยืนต้นตาย จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ระยะหนึ่งแล้วจึงตัด ชาวบ้านและนายทุนเชื่อว่าการเข้าไปกานเพื่อให้ต้นสักยืนต้นตายก่อนเข้าไปตัด จะทำให้ไม้มีคุณภาพดีกว่าการเข้าไปตัดเลย และการเข้าไปตัดโดยเลื่อยยนต์จะมีเสียงดังเป็นที่ผิดสังเกต ที่ผ่านมากรมป่าไม้ได้ดำเนินคดีกับกลุ่มชาวบ้านและนายทุน เข้าไปกานไม้สักให้ยืนต้นตายในป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 2 แห่งแล้วหลายสิบคดี มีไม้ที่ถูกกานตายบริเวณปากห้วยแม่ลาก๊ะ-น้ำยวม-ผาเสื่อ จำนวน 65 ต้น และบริเวณปากห้วยบ้านแม่ข่อ-น้ำยวม จำนวน 70 ต้น และบริเวณอื่นๆ อีกจำนวนมาก
“ไม้ที่ถูกกานเป็นไม้มีอายุมากกว่า 100 ปีทั้งสิ้น ขณะนี้กรมป่าไม้ได้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ มาตรา 11 พ.ศ.2484 ฐานทำไม้ หรือเจาะหรือสับ หรือเผา หรือทำอันตรายด้วยประการใดๆ แก่ไม้หวงห้ามประการใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต และความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม.14 ฐานทำไม้หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต” นายบุญชอบกล่าว
นายบุญชอบกล่าวว่า ไม้สักอายุหลายร้อยปีในป่าสงวนทั้ง 2 แห่ง ถือเป็นไม้สักที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นผืนสุดท้าย บริเวณที่ไม้สักถูกกานยืนต้นตาย ไม่มีเส้นทางคมนาคม หรือรถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้โดยการเดินเท่านั้น ไม้ที่ถูกกานและถูกตัดทิ้ง เมื่อตัดแล้วจะถูกลำเลียงโดยใช้เส้นทาง ทางน้ำ ป่าลำน้ำยวม และลำห้วยสาขา เนื่องจากตรวจพบเปลือกไม้สักจำนวนมากกระจัดกระจาย บริเวณลำห้วยสาขาไหลลงสู่ลำน้ำยวม ในช่วงน้ำหลาก ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยป้องกันและรักษาป่า ผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าตรวจลาดตระเวนพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการลักลอบ เข้าไปกานไม้สัก กรมป่าไม้จะนำคณะลงพื้นที่ในวันที่ 27-28 มกราคม เพื่อไปต่อท่อน้ำเลี้ยงแก่ต้นสักที่ถูกกานแต่ยังไม่ตาย เพื่อต่อและช่วยชีวิตไม้สักให้มีชีวิตต่อไป ถือว่าเป็นแห่งแรกของโลก เพื่อรักษาป่าสักผืนสุดท้ายของประเทศไทยเอาไว้
ด้านนายราเชนทร์ ภูมมะภูติ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 จ.แม่ฮ่องสอน กรมป่าไม้ กล่าวว่า ป่าสงวนแห่งชาติแม่ยวมฝั่งซ้าย อ.ขุนยวม บริเวณที่เกิดเหตุ เป็นแหล่งไม้สักที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยนั้น มีพื้นที่ประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 10,000 ไร่ จากการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พบว่า มีพื้นที่ 5 จุด ถูกกลุ่มนายทุน และชาวบ้านเข้าไปลักลอบกานต้นสัก เพื่อให้ยืนต้นตาย พบต้นสักอายุเฉลี่ย 100 ปี เส้นรอบวงประมาณ 200-300 เมตร หรือราว 3-4 คนโอบ ความสูงไม่ต่ำกว่า 30 เมตร ถูกกานไปถึง 157 ต้น
“ลักษณะการ กาน คือใช้ของมีคม คาดว่าจะเป็นขวานบากรอบลำต้น สูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร บากลึกเข้าไปถึงบริเวณท่อน้ำเลี้ยงด้านในประมาณ 4 นิ้ว เพื่อไม่ให้น้ำหรือสารอาหาร ที่รากดูดจากดินขึ้นไปหล่อเลี้ยงลำต้นได้ เมื่อระยะเวลาผ่านไป ต้นสักจะค่อยๆ ยืนต้นตายไปเอง เราพบว่ามีการลักลอบกานไม้ทั้งหมดเมื่อราว 6-7 เดือนที่ผ่านมา แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้เป็นฤดูฝน ต่อเนื่องฤดูหนาว บรรยากาศในป่าพอจะมีความชุ่มชื้นจากน้ำฝน และไอน้ำอยู่มาก ต้นสักที่ถูกกานจึงยังไม่ตาย แต่หากพ้นจากช่วงนี้ไปจนเข้าสู่ฤดูแล้งไปแล้ว คิดว่าไม้ที่ถูกกานทั้งหมดไม่น่าจะรอด” นายราเชนทร์กล่าว
ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า หลังจากสำรวจพบเรื่องนี้ ทางสำนักวิจัย กรมป่าไม้ ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์พืช ลงพื้นที่ไปสำรวจต้นสักที่ถูกกานทั้งหมด พบว่าหลายต้นน่าจะสามารถช่วยชีวิตไว้ได้ โดยการเอากิ่งไม้สักที่ยังมีท่อน้ำเลี้ยงสมบูรณ์อยู่ มาแปะบริเวณที่ถูกกาน แล้วตอกตะปูติดเอาไว้ เพื่อให้น้ำเลี้ยงที่รากดูดขึ้นมา สามารถส่งต่อน้ำและสารอาหารขึ้นไปหล่อเลี้ยงลำต้นได้ เหมือนเป็นการทำบายพาสให้ต้นไม้นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ต้นที่จะทำแบบนี้ได้ จะต้องถูกกานไม่นานนัก และยังมีใบสีเขียวอยู่ เวลานี้ได้ทดลองทำไปแล้ว 3 ต้น อายุประมาณ 150 ปี ขนาด 3 คนโอบ มีแนวโน้มในทางที่ดีว่าจะรอดชีวิต โดยในวันที่ 27-28 มกราคม ทางคณะนักวิจัย รวมทั้งอธิบดีกรมป่าไม้ จะเดินทางเข้าพื้นที่ เพื่อเข้าไปทำบายพาส ช่วยชีวิตต้นสักเพิ่มเติม
“การช่วยชีวิตต้นสักโดยการทำบายพาสแบบนี้ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในอนาคต เราตั้งใจไว้ว่า จะให้ทางสำนักวิจัยเข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ ให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ลาดตระเวนป่า เมื่อลาดตระเวนแล้วเจอไม้สักหรือไม้ถูกกานให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นสามารถช่วยชีวิตต้นสักได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผู้เชี่ยวชาญจากสำนักวิจัย เพราะการเข้าไปในพื้นที่นั้นลำบากมาก หากต้องรอผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าจะไม่ทันการ” นายราเชนทร์กล่าว
————
ข่าวจากนสพ.มติชนรายวัน วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557