ชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ตั้งถิ่นฐานบริเวณหมู่เกาะอาดังราวี-หลีเปีะ ได้มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2455 ซึ่งมีเอกสารระบุว่า พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ตำแหน่ง ข้าหลวงประจำจังหวัดสตูลในขณะนั้นได้รวบรวม “ชาวน้ำ” จากหลายแห่งมาอยู่ที่เกาะอาดัง เกาะมูโลน และเกาะโกย ประวัติศาสตร์บอกเล่าจากชุมชนระบุว่าชาวเลอูรักลาโว้ยอยู่อาศัยและทำมาหากินบริเวณนี้มานาน โดยมีเหตุการณ์สำคัญ ดังนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ให้อพยพคนจากเกาะลันตามาอยู่ที่เกาะอาดัง เกาะมูโลน และเกาะโกย และชาวเลจากเกาะสิเหร่มาอยู่ที่เกาะหลีเปีะ อาดังและราวี โดยมีโต๊ะคีรี เป็นหัวหน้า ในช่วงการปักปันเขตแดนระหว่างสยามและอังกฤษ ในประมาณปี พ.ศ. 2450 การส่งเสริมให้มีการตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างเป็นทางการหรือถาวรนี้ เป็นกุศโลบายเพื่อจะกำหนดเขต ดินแดนประเทศสยาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 หมู่เกาะบริเวณนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดสตูล
ในปี พ.ศ. 2482 มีการประกาศหวงห้ามพื้นที่หมู่เกาะตะรุเตาเพื่อเป็นที่ตั้งทัณฑสถานที่เกาะตะรุเตา ซึ่งรวมเอาเกาะอาดัง ราวี และหลีเป๊ะเข้าไว้ในหมู่เกาะตะรุเตาด้วย และในช่วงปี พ.ศ. 2484 – 2488 เกิดความขาดแคลนอาหารจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นที่บริเวณนี้ จึงมีกลุ่มโจรสลัดที่ปลันสะดมจนกระทั้งปี พ.ศ. 2489 มีการปราบปรามโจรสลัด พื้นที่บริเวณนี้จึงสงบลง เกาะต่าง ๆ ที่มีชาวอูรักลาโว้ยอาศัยอยู่จึงเริ่มมีผู้คนจากภายนอกเข้ามาทำมาหากิน มีการระบุว่าเถ้าแก่จากภายนอกเข้ามาอยู่อาศัยในช่วงประมาณ พ.ศ. 2490
ในปี พ.ศ. 2501 มีการตั้งโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง และในปี พ.ศ. 2510 มีการตั้งสถานีอนามัย เหตุการณ์สำคัญหลังจากนั้น คือ ในช่วงปี พ.ศ. 2514 – 2526 มีนายบรรจง อังโชติพันธุ์ ซึ่งเข้ามาแต่งงานกับลูกสาวของโต๊ะคีรี และต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นกำนันอย่างเป็นทางการและยังเป็นเถ้าแก่ในชุมชน ทำให้เกิดการเก็บหาทรัพยากรเพิ่มขึ้นเพื่อการพาณิชย์ จากนั้นในปี พ.ศ. 2517 มีการประกาศยกเลิกเขตหวงห้ามหมู่เกาะตะรุเตาและประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และในปี พ.ศ. 2518 กรมป่าไม้ได้ทำการโยกย้ายชาวเลที่พักอาศัยอยู่บริเวณหมู่บ้านชั่วคราวและแหล่งบามัค ตามเกาะต่าง ๆ รวมทั้ง ที่เกาะอาดังและราวี มาอยู่รวมกันที่เกาะหลีเป๊ะ ในช่วงปี 2517 มีประชากรชาวอูรักลาโว้ยจำนวนประมาณ 387 คน
เมื่อการเดินทางไป – มาเกาะหลีเป๊ะสะดวกขึ้น ก็เริ่มมีเรือโดยสารประจำในปี พ.ศ. 2523 ก็ทำให้มีคนภายนอกและนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาที่เกาะมากขึ้นเช่นกัน ในปีพ.ศ. 2527 ผู้ใหญ่บ้านเกาะหลีเปีะได้เริ่มทำบังกะโลสำหรับรับนักท่องเที่ยว จำนวน 7 หลัง และต่อจากนั้น การท่องเที่ยวก็เริ่มขยายตัว การเดินทางในเกาะซึ่งเดิมอาศัยการเดินเท้า ก็เริ่มสะดวกรวดเร็วขึ้นจากการ นำจักรยานยนต์มาใช้ในปี พ.ศ. 2541 การท่องเที่ยวและอิทธิพลต่าง ๆ จากภายนอกทำให้ภูมิทัศน์วัฒนธรรม (cultural landscape) ของชาวเลค่อย ๆ หายไป จากที่คยมีกระท่อมและบ้านเรือนอยู่ริมชายหาด ตามวิถีชาวเล กลับต้องถ่อยร่นเข้าไปอยู่ด้านในและเปิดทางให้โรงแรมรีสอร์ทใช้พื้นที่ชายหาดและริมทะเล
สำหรับนักท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบัน
คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ปัญหาของชาวเกาะหลีเป๊ะ เนื่องจากมีการแจ้งครอบครองที่ดินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 เพียง 41 ราย (เป็นของราชการ1 ราย) ทั้งนี้ เนื่องจากชาวเลมีลูกเขยเป็นกำนันซึ่งมิใช่ชาวเล จึงได้มีการแจ้งครอบครองที่ดินดังกล่าวแต่ในขณะนั้นมีครอบครัวชาวเลที่อยู่บนเกาะหลีเปีะมากกว่า 41 ราย จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า มีชาวเลอีกจำนวนมากไม่ได้แจ้งการครอบครอง บางส่วนจะอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีการแจ้ง ส.ค.1 บางส่วนก็อยู่นอกพื้นที่ที่แจ้งส.ค.1 ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยน ส.ค.1 เป็น นส.3 มีการขยายพื้นที่ออกไปและอาจจะไปครอบคลุมที่ดินที่มีชาวเลครอบครัวอื่น ๆ ที่อาศัยนอก ส.ค.1 และอาจมีชาวเลบางส่วนที่อาศัยอยู่นอกทั้ง ส.ค.1 และ น.ส.3 โดยที่ตนเองมิได้แจ้ง ส.ค.1 นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่แจ้ง ส.ค.1จำนวน 35 ฉบับ ได้ระบุการทำประโยชน์มาประมาณ 10 ปีเศษ ก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 ซึ่งเป็นการเข้าทำประโยชน์หลังปี พ.ศ. 2482 (ปีที่มีการประกาศเขตหวงห้ามฯ) ทั้งๆ ที่ชาวเลได้เข้ามาอาศัยบนเกาะหลีเปีะกว่าร้อยปีในการระบุช่วงเวลาการทำประโยชน์ดังกล่าวเชื่อว่าชาวเลไม่ทราบว่าจะมีผลกระทบต่อสิทธิของตนเอง
ในปี พ.ศ. 2518 กรมป่าไม้ได้อพยพชาวเลจากเกาะอาดัง ราวี และชาวเลที่พักชั่วคราวมาอยู่ที่เกาะหลีเปีะ ซึ่งอาจจะอยู่ใน ส.ค.1 และ น.ส.3 หรืออยู่นอก ส.ค.1 และ น.ส.3
การประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2517 ไม่ได้มีการสำรวจทำแนวเขตการถือครองที่ดินของชาวเล ไม่มีการทำแนวอุทยานกับเขตที่ดินชาวเลครอบครองโดยชอบ(ครอบครองมาก่อน พ.ศ. 2479) และใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี พ.ศ. 2504 ซึ่งเป็นอุทยานทางบกมาใช้กับอุทยานทางทะเล ซึ่งมีบริบทและวิถีของชุมชนดั้งเดิม (ชาวเล) ที่แตกต่างไปจากวิถีชีวิตของคนพื้นราบบนบก เช่น ในเขตอุทยานห้ามล่าสัตว์ ฉะนั้น อุทยานทางทะเลจึงห้ามจับสัตว์ทะเล ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อวิถีชีวิตและประเพณีการทำมาหากินของชาวเลที่อยู่มาเป็นร้อย ๆ ปี ทั้งที่มีกฎหมายในเรื่องนี้ เช่น กฎหมายชายฝั่งของกรมเจ้าท่า กฎหมายประมง พระราชบัญญัติน่านน้ำไทย ฯลฯ ใช้บังคับอยู่แล้ว การจำกัดอุปกรณ์กำหนดจุด กำหนดระยะเวลาและกำหนดปริมาณจับสัตว์น้ำ เป็นการกระทบวิถีชีวิตของชาวเลทั้ง ๆที่มีกฎหมายอื่นใช้บังคับอยู่แล้ว
พื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเล ได้แก่ ที่ฝังศพ พื้นที่นอนหาดพื้นที่ศาลเคารพ (บาไล) ได้รับผลกระทบจากการออกเอกสารสิทธิเข้ามาทับหรือเบียดโดยเฉพาะที่ฝังศพที่มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแล้ว จะมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว ๆ ท่ามกลางโฉนดที่ดินซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่า การออกโฉนดที่ดินนั้นทับเข้ามาในบริเวณที่ฝังศพ นอกจากนี้ หลายแห่งที่ออกโฉนดทับทางเดินสาธารณะเข้าสู่ที่ฝังศพ มีการสร้างรั้วปิดกั้น ทำให้ชาวเลเข้าไปในที่ฝังศพไม่ได้ ชายหาดหลายแห่งที่ชาวเลใช้เป็นพื้นที่ทำพิธีนอนหาดก็ถูกบุกรุกจนไม่สามารถเข้าไปใช้ทำพิธีได้ดังเดิม
คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขปัญหาที่ดินของชาวเลไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และที่ทางจิตวิญญาณ จำเป็นต้องใช้ข้อเท็จจริงทั้งทางลึกและทางกว้างประกอบกับข้อกฎหมาย โดยคำนึงถึงการใช้กฎหมายเพื่อรักษาความเป็นธรรมตามสภาพความเป็นจริงตามพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ไม่ใช้กฎหมายเพื่อรักษากฎหมาย โดยตรวจสอบสืบค้นข้อเท็จจริงทั้งหมด ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อเท็จจริงจะเป็นตัวกำหนดว่า ที่ดินหรือพื้นที่บริเวณนั้นเป็นสิทธิโดยชอบของใครตามกฎหมาย
เนื่องจากปัญหาที่ดินบนเกาะหลีเปีะมีความซับซ้อน ได้แก่ ปัญหาระหว่างชาวเลด้วยกัน ปัญหาระหว่างเจ้าของรีสอร์ทกับชาวเล และ ปัญหาระหว่างชาวเลกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ประกอบกับปัญหาทางด้านเอกสาร ส.ค.1 ที่มีข้อความกระทบถึงสิทธิของผู้แจ้ง ส.ค.1 และมีการแจ้งหลักฐานทับที่อยู่อาศัยของชาวเลด้วยกัน นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการบุกรุกขยายที่ดินมากกว่าหลักฐานที่เคยครอบครองและทำประโยชน์ไว้ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิชาวเลและรัฐ ทั้งยังมีการอพยพชาวเลที่เกาะอื่นมาไว้ที่เกาะหลีเปีะ โดยกรมป่าไม้เมื่อปี พ.ศ. 2518 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายสมควรที่จะใช้ภาพถ่ายทางอากาศที่เก่าที่สุด คือ ภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ. 2493 เป็นเครื่องมือในการพิสูจน์การครอบครองการใช้ประโยชน์ ประกอบกับหลักฐานอื่น เช่น ผลอาสิน (ต้นมะพร้าว) หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น ชื่ออ่าว ชื่อเกาะ เป็นต้น
ที่ดินของรัฐที่ได้คืนมาจากการตรวจสอบเห็นควรนำมาจัดเป็นที่พักอาศัยตามวิถีชีวิตของชาวเล สร้างสถานที่ราชการเพื่อดูแลประชาชนในด้านสาธารณูปโภคสาธารณสุข และอำนวยความปลอดภัยทั้งชีวิตและร่งกาย นอกจากนี้ ควรจัดผังเมืองให้เกิดความสะดวกกับประชาชนและนักท่องเที่ยว
————–
หมายเหตุ-คณะกรรมการแก้ปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี ที่มี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธานอำนวยการฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล)เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2559 แต่รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการใดๆต่อและยุบคณะกรรมการชุดนี้ ก่อนย้ายไปสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้สถานการณ์ความเดือดร้อนของอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะถูกบ่มเพาะและสะสมกลายเป็นการเผชิญหน้ากับเอกชนผู้ประกอบการบางรายในปัจจุบัน