Search

เกาะหลีเป๊ะ สวรรค์หรือนรก

โดย ภาสกร จำลองราช

เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เป็นเกาะเล็กๆ บริเวณชายแดนในทะเลอันดามัน ติดกับน่านน้ำมาเลเซียกำลังถูกตั้งคำถามว่าคือ “สวรรค์ หรือ นรก” กันแน่

ราว 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเกาะหลีเป๊ะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก ด้วยหาดทรายที่ขาวละเอียด น้ำทะเลใสสีเขียวคราม และโลกใต้ท้องทะเลที่มีปะการังและปลาหลากหลายให้ชม ที่นี่จึงเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวที่แห่กันมาโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้บริเวณชายหาดบนเกาะเล็กๆ ที่มีเนื้อที่เพียง 4 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ ถูกแย่งชิงจับจองเป็นเจ้าของ ที่ดินมีราคาพุ่งสูงกระฉูด

แม้กระทั่งที่สุสานสำหรับฝังร่างชาวเล อูรักลาโว้ย ริมชายหาดก็ยังถูกนำมาแปลงโฉมให้เป็นรีสอร์ทเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

สวรรค์ของนักท่องเที่ยวแต่กลับกลายเป็นนรกของชุมชนดั้งเดิม เนื่องจากที่ดินของชาวอูรักลาโว้ยต่างถูกแย่งชิงด้วยเล่ห์กลสารพัดโดยอาศัยความไม่รู้ภาษาและหนังสือของชาวเล เพื่อนำที่ดินไปขายให้กับนักธุรกิจที่เข้ามาแสวงหากำไรจากการท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะ

ปัจจุบันชาวเลกลุ่มนี้แทบไม่เหลือที่ดินให้อยู่อาศัย เพราะสิทธิอันชอบธรรมของคนดั้งเดิมไม่สามารถคัดง้างกับสิทธิมาใหม่ตามกฎหมายปัจจุบัน ทำให้ตอนนี้ชาวเลต้องถูกเบียดขับให้ไปอยู่กลางเกาะ ส่วนบริเวณชายหาดต่างถูกรีสอร์ทและโรงแรมจับจองเป็นเจ้าของ

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เส้นทางดั้งเดิมที่ชาวบ้านใช้กันมานับร้อยปีและเป็นเส้นทางลงทะเลแห่งสุดท้าย เป็นเส้นทางของเด็กนักเรียนที่ใช้เดินมาโรงเรียน และเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้มาหาหมอที่โรงพยายาลส่งเสริมสุขภาพกำลังจะถูกปิด เนื่องจากเอกชนที่อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้พยายามทำรั้วกั้นเส้นทางดังกล่าว

การเผชิญหน้าระหว่างชาวเลและเอกชนที่อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินรุนแรงขึ้นทุกวัน ล่าสุดเด็กนักเรียนหลายสิบคนได้ร่วมกันนั่งปิดเส้นทางขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ที่เอกชนต้องการนำมาสร้างเป็นประตูรั้วกั้นทางเข้าโรงเรียน มีการยื้อแย่งแท่งเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง หวุดหวิดที่จะเกิดความรุนแรง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำเกาะหลีเป๊ะได้แต่ยืนมอง

นับตั้งแต่เกิดการเผชิญหน้ากัน ชาวเลได้พยายามร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหา แต่ผลตอบรับคือความไม่กระตือรือร้นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งสำนักนายกรัฐมนตรี

จริงๆ แล้วการแก้ปัญหาให้ชาวอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไรมากนัก เพราะอย่างน้อยมี 2 หน่วยงาน คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ศึกษาและตรวจสอบกรณีเรื่องที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะไว้หมดแล้ว ซึ่งผลออกมาในทิศทางเดียวกันคือ การออกเอกสารสิทธิ์จำนวนนับร้อยไร่บนเกาะแห่งนี้เป็นไปโดยมิชอบ และเสนอให้รัฐบาลเพิกถอน

ชาวอูรักลาโว้ยกลุ่มแรกเข้ามาบุกเบิกเกาะหลีเป๊ะเมื่อปี 2440 ผู้นำชื่อนายคีรี หาญทะเล หรือ “โต๊ะคีรี” ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่สยามกำลังปักปันเขตแดนกับมาเลเซียซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ ซึ่งโต๊ะคีรีและชาวเลในยุคนั้นได้ยืนยันว่าอยู่ในแผ่นดินสยาม ทำให้เกาะหลีเป๊ะอยู่ในอาณาเขตของประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

เกาะหลีเป๊ะ กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะตุรุเตา ในอดีตเป็นสถานที่กักขังนักโทษการเมือง และเมื่อ พ.ศ.2482 ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดให้หมู่เกาะตะรุเตาเป็นพื้นที่หวงห้าม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2497 ได้มีประมวลกฏหมายที่ดินบังคับใช้ ชาวบ้านบางส่วนที่ครอบครองที่ดินไว้ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)จำนวน 41 ราย ต่อมา พ.ศ.2517ได้มีการจัดตั้งหมู่เกาะตะรุเตาให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พร้อมกับการโยกย้ายชาวเลในบริเวณใกล้เคียงมาอยู่รวมกันที่เกาะหลีเป๊ะ

ต่อมาได้มีคนภายนอกที่แต่งงานกับลูกสาวโต๊ะคีรีได้อาสานำเอกสาร ส.ค.1 ไปออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ให้ แต่เมื่อทวงถามเขาก็ผัดผ่อนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสุดท้ายเขาถูกยิงเสียชีวิตและชาวเลจึงทราบว่าที่ดินของตนกลายเป็นของนายทุนไปเป็นจำนวนมาก

ที่สำคัญการ ออกเอกสาร น.ส.3 ครั้งนี้ได้ออกเกินกว่าพื้นที่จริงที่เคยระบุไว้ใน ส.ค.1 ทำให้เกิดการเบียดขับทับซ้อนพื้นที่ที่ชาวเลอยู่อาศัย

ยิ่งการท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะเป็นที่นิยมจของนักท่องเที่ยวมากเท่าไหร่ การเบียดขับชาวเลก็ยิ่งมาก

ที่สำคัญคือรัฐบาลไทยมุ่งเน้นแต่เม็ดเงินที่เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ จนกระทั่งยอมหลับตาข้างหนึ่งเพื่อไม่ให้มองเห็นวิถีชีวิตของชาวเลที่ถูกย่ำยี

ยามฤดูฝนชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะต้องเผชิญกับน้ำท่วมขังทั้งๆ ที่เป็นเพียงเกาะเล็กๆเนื่องจากคูคลองตามธรรมชาติถูกบุกรุกและถมเป็นรีสอร์ท

ยามนี้แม้กระทั่งเส้นทางลงทะเลแห่งสุดท้ายก็กำลังถูกปิดลง ดังนั้นเราจึงเห็นภาพชาวอูรักลาโว้ยตั้งแต่เด็กนักเรียนไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่บนเกาะหลีร่วมกันออกมาปกป้องเส้นทางสุดท้ายของพวกเขา

หากพวกเขาต้องสูญเสียเส้นทางนี้ไปอีก นั่นหมายถึงวิถีชีวิตที่เชื่อมร้อยอยู่กับทะเลต้องสูญสิ้นไปด้วย

                           ————–

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →