
ทันทีที่ทหารราว 200 คนเดินแถวเข้าสู่สนามพร้อมกับเสียงเพลงปลุกเร้าดังกระหึ่ม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ยืนคุยกันระหว่างรอชมพิธีสวนสนามต่างพากันเงียบกริบ และตั้งใจดูทหารหาญของพวกเขาด้วยสายตาชื่นชม เป็นช่วงเวลาที่มีรอยยิ้มและความเบิกบานเกิดขึ้นมากมาย
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2557 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกระเหรี่ยงหรือเคเอ็นแอลเอ (Karen National Liberation Army) ได้จัดงานพิธีสวนสนามซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานรำลึกครบครอบ 65 ปีวันประกาศอิสรภาพกระเหรี่ยง ( Karen Liberation Day) และวันชาติขึ้น ที่บริเวณฐานบัญชาการกองพลที่ 5 บ้านเดปุนุ เมืองมือตรอ รัฐกระเหรี่ยง โดยมีผู้นำคนสำคัญและผู้อาวุโสของสหภาพแห่งชาติกระเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู(Karen National Union) และเคเอ็นแอลเอเข้าร่วมอย่างคับคั่ง อาทิ นางซิปโปร่า เส่ง รองประธานเคเอ็นยู พล.อ.บอจ่อ แฮ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้แทนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยมีชาวปกาเกอะญอจากฝั่งไทยและเมืองต่างๆในฝั่งพม่า รวมทั้งจากประเทศแดนไกล เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เดินทางมาร่วมงานนับหมื่นคน ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักตลอด 3 วันของการจัดงาน
การเดินทางจากฝั่งไทยเข้าไปยังบ้านเดปุนุเป็นไปค่อนข้างลำบาก โดยต้องนั่งเรือล่องทวนแม่น้ำสาละวินจากท่าเรือบ้านแม่สามแลบ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปราว 4 ชั่วโมง หลับจากลงเรือที่บ้านแม่นึถ่า หากเดินเท้าเหมือนชาวบ้านส่วนใหญ่ ต้องใช้เวลาอีกครึ่งค่อนวัน แต่โชคดีที่กองพลที่ 5 ได้ส่งรถมารับเรา โดยเป็นรถไถคูโบต้าดัดแปลงให้มีที่นั่งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งต้องวิ่งลัดเลาะยอดเขาและข้ามน้ำข้ามลำห้วยซึ่งใช้เวลาอีกราว 4 ชั่วโมง
ดินแดนแห่งเดปุนุเป็นที่ราบที่มีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งมีภูเขาล้อมรอบ และมีแม่น้ำยุนซาลินไหลผ่ากลาง โดยบริเวณต้นน้ำมีน้ำตกอันงดงามและศักดิ์สิทธิ์ของชาวปกาเกอะญอ ซึ่งบุคคลภายนอกยากที่จะเข้าถึง
พิธีสวนสนามเพื่อรำลึกถึงวีรชนของชาวกระเหรี่ยงเริ่มต้นเมื่อเวลา 07.30 น.โดยเจ้าภาพได้กล่าวรายงาน และอ่านสาส์นแสดงความยินดีของกลุ่มองค์กรต่างๆ รวมทั้งการปราศรัยของบุคคลสำคัญที่มาร่วมงาน

“ประชาชนอย่าได้ตายใจว่าเราจะมีสันติภาพเหมือนที่รัฐบาลพม่ากำลังบอก เพราะการเจรจาก็ยังไม่ไปถึงไหน เราต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันต่อไป เพื่อเป้าหมายสูงสุดและอุดมการณ์ของเรา ที่ต้องการให้ประชาชนกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีเสรีภาพ ตลอด 65 ปี พวกเราผ่านความยากลำบากมามาก เราต้องอดทนแม้จะใช้เวลานาน”นางซิปโปร่า เส่ง รองประธานเคเอ็นยู กล่าว
แต่ที่โดดเด่นที่สุดของการจัดงานในครั้งนี้คือพล.อ.บอจ่อ แฮ ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการกองพลที่ 5 และเป็นประธานในพิธีสวนสนามในครั้งนี้
พล.อ.บอจ่อ แฮ วัย 53 ปี เป็นนายทหารที่ชาวปกาเกอะญอชื่นชอบและได้รับการยอมรับสูงขึ้นเรื่อยๆอยู่ในขณะนี้ เขาเคยได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่เขาหลีกทางให้กับพล.อ.ซอ จอห์นนี่ ผู้อาวุโสของกองทัพก่อน โดยหลายฝ่ายเชื่อว่าอีกภายใน 1-2 ปีหลังจากการเกษียณอายุของพล.อ.ซอ จอห์นนี่ เขาจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในกองทัพเคเอ็นแอลเอ
ท่ามกลางสถานการณ์อันผันผวนในกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ ภายหลังจากที่รัฐบาลพม่าเปิดประเทศและยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพ ทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดภายในกลุ่มนักต่อสู้ชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเคเอ็นยูเองก็ประสบปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยเมื่อกว่า 1 ปีก่อน ได้มีการปลดพล.อ.มูตู เซ พอ ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เนื่องจากละเมิดข้อบังคับในการเปิดสำนักงานประสานงานของเคเอ็นยู ที่เมืองผาอัน โดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาในการประชุมสมัชชาใหญ่ พล.อ.มูตู เซ พอ ได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งประธานเคเอ็นยู ขณะที่นางซิปโปร่า เส่ง ถูกย้ายจากเลขาธิการ ไปดำรงตำแหน่งรองประธานเคเอ็นยู ขณะที่พล.อ.บอจ่อ แฮ เลื่อนจากผู้บัญชาการกองพล 5 เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยมีพล.อ.ซอ จอห์นนี่ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ช่วงท้ายของพิธีสวนสนามรำลึกถึงวีรชนกระเหรี่ยง กลุ่มเยาวชนสตรีได้แต่งชุดเชวาสีขาวเดินแถวเข้ามามอบดอกไม้ให้กับกองกำลังทหาร ซึ่งเป็นภาพอันแสนอบอุ่น ขณะที่ประชาชนจำนวนมาก พากันขอถ่ายภาพร่วมกับทหารหาญ
ภายเสร็จสิ้นพิธีสวนสนาม และการส่งแขกวีไอพี พล.อ.บอจ่อ แฮ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชน ได้สัมภาษณ์ที่บ้านพักส่วนตัวถึง
สถานการณ์การสู้รบระหว่างเคเอ็นแอลเอกับทหารพม่าว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับสัญญาณการหยุดยิงจึงต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอเพื่อป้องกันตัวโดยมีสายข่าวแจ้งว่าทหารพม่ากำลังเตรียมพร้อมที่จะบุก หากเข้ามาก็ต้องต่อสู้กัน

“รัฐบาลพม่าไม่เคยให้รายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับสัญญาหยุดยิง มีแต่บอกกับสังคมภายนอกเกี่ยวกับเจรจาสันติภาพ แต่กลับไม่ส่งกองกำลังทหารที่อยู่ในรัฐกระเหรี่ยงกลับ แถมยังส่งกำลังเข้ามาตั้งฐานเพิ่มอีก 10 จุด อย่างนี้เราจะไว้ใจได้อย่างไร อย่างเมื่อวันก่อน มีรถขนเสบียงพม่าถูกระเบิด เพราะเราเคยบอกเขาไปแล้วว่าเข้ามาได้แค่ไหน แต่เขาไม่เชื่อ แถมยังแอบไปใช้เส้นทางอื่นด้วยจึงโดนกับระเบิด แต่สังคมภายนอกอาจมองว่าเราไปทำร้ายเขา ทั้งๆที่ความจริงแล้วเขามาบุกรุกเรา” พล.อ.บอจ่อ แฮ สะท้อนภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
ปัจจุบันแม้เสียงปืนและเสียงระเบิดในเขตกองกำลังชาติพันธุ์หลายแห่ง หรือแม้แต่ในส่วนพื้นที่รัฐกระเหรี่ยงที่อยู่ในความดูแลของกองพลอื่น จะลดลง แต่ในความเบาบาง กลับยิ่งทำให้เขาหนักใจ
“ผมรู้สึกเป็นห่วง รู้ว่าอนาคตมันอันตรายมาก หากปล่อยให้ทหารพม่าเข้ามาอยู่ในพื้นที่เต็มไปหมด ขณะที่การเจรจาหยุดยิงก็ยังไม่มีความคืบหน้าหรือมีการลงนามอะไร หากเขาต้องการสันติภาพจริงก็ต้องเอาทหารออกไปจากพื้นที่ของเรา เพราะเราดูแลกันเองได้ พม่าพยายามส่งทหารมาประจำตามแม่น้ำสาละวินในรัฐกระเหรี่ยงโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันประเทศจากไทย แต่เราไม่เคยมีปัญหากับไทยเลย เราไม่เคยยิงกับทหารไทยเลย ทหารพม่านั่นแหละควรออกไป”
ตามโครงสร้างเคเอ็นแอลเอแบ่งอำนาจการดูแลทางทหารออกเป็น 7 กองพลใน 7 เขต แต่ปัจจุบันยังเหลือมุ่งมั่นในอุดมการณ์และสู้รบกับทหารพม่าอย่างจริงจังไม่กี่กองพล ส่วนที่เหลือถูกกัดกร่อนเพราะผลประโยชน์บ้าง เกิดความอ่อนล้าเนื่องจากการต่อสู้อันยาวนานบ้าง ยอมโอนอ่อนตามคำขอเจรจาของรัฐบาลพม่าบ้าง แต่ 1 ในกองกำลังที่เป็นเสาหลักขณะนี้คือกองพล 5
“จริงๆแล้ว ตั้งแต่กองพล 1-7 เราต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการให้ประชาชนอยู่อย่างสันติสุขและมีเสรีภาพอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะปกครองในรูปแบบใด จะเป็นสหพันธรัฐ หรืออะไรก็ตาม แต่เราต้องมีเสรีภาพในตัวเอง เราต้องการให้ทั่วโลกรู้ว่ากระเหรี่ยงเป็นรัฐๆหนึ่งที่มีความเป็นอิสระ” พล.อ.บอจ่อ แฮ อธิบายถึงอุดมการณ์การต่อสู้
ความยอมรับและความนิยมของชาวปกาเกอะญอที่มีต่อพล.อ.บอจ่อ แฮ ไม่ใช่เกิดจากความเข้มแข็งด้านการทหารอย่างเดียว แต่ความไม่โอนเอียงเข้าหาผลประโยชน์ ทำให้เขามีภาพพจน์ที่ดี ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำกองกำลังจำนวนไม่น้อย ที่ฉกฉวยสถานการณ์ที่พม่าเปิดประเทศแสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง ทั้งๆที่ในพื้นที่กองพล 5 อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้และแร่ธาตุ แถมในเขตนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ทุนใหญ่จากประเทศไทยคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)มีโครงการเข้าไปสร้างเขื่อนอัตจีกั้นลำน้ำสาละวิน แต่นายพลผู้นี้กลับประกาศปิดพื้นที่สำหรับนายทุน
“เราไม่ยอมให้มีการสร้างเขื่อนที่นี่ เพราะจะส่งผลกระทบกับชาวบ้านมากมาย แถมบริเวณนั้น ยังเป็นเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าด้วย หากสร้างเขื่อน ทั้งสัตว์ ทั้งป่าไม้ หมดแน่ ทางกฟผ.เคยขอเข้ามาสำรวจพื้นที่ แต่เราแจ้งกลับไปว่า จะคุยกันก่อนก็ได้ แต่ขอให้คุยกันระหว่างรัฐบาลไทยและกระเหรี่ยงเท่านั้น ไม่ต้องเอาพม่ามาเพราะเขาไม่เกี่ยว ตรงนี้เป็นบ้านเกิดของเรา”
สิ่งที่เพิ่มแรงใจให้พล.อ.บอจ่อ แฮ เป็นอย่างมากในตอนนี้ก็คือ มีเยาวชนและคนหนุ่มสาว เข้ามาสมัครเป็นทหารในกองพล 5 เพิ่มขึ้นมาก
“ผมเชื่อว่าทหารรุ่นใหม่เขาต้องการความถูกต้อง เราเองก็ต้องทำเป็นตัวอย่าง ส่วนคนที่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวก็ต้องจำกัดบทบาทของเขา”
เมื่อถามว่าถูกทั้งกำลังทหาร ถูกทั้งทุนโอบล้อม ไม่กลัวและรู้สึกโดดเดี่ยวบ้างหรือไร
“ผมไม่กลัว ถ้าเราตายในพื้นที่ของเรา ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี พี่น้องที่อื่นอาจไม่รู้ แต่พี่น้องที่นี่รู้” เขาตอบโดยไม่ต้องครุ่นคิดซึ่งเป็นคำประกาศที่ชาวกระเหรี่ยงจำนวนไม่น้อยต่างเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว
ขณะที่ประเทศต่างๆในสังคมโลกกำลังจับจ้องพม่าด้วยสายตาเป็นมัน พร้อมๆกับเลือกที่จะเชื่อว่าสันติภาพกำลังบังเกิดในแผ่นดินนี้ แต่ในอีกมุมหนึ่งในพื้นที่ระหว่างรอยต่อแผ่นดินไทยและรัฐคะเรนนี กองกำลังของกองพล 5 แห่งเคเอ็นแอลเอ ยังคงต่อสู้กับทหารพม่าอย่างหนักหน่วง
พิธีสวนสนามที่แสดงความเข้มแข็งของกองพล 5 และเสียงปืนที่ไม่เคยหยุดดังในพื้นที่ เป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า “สันติภาพ”ในพม่า ย่อมมิใช่ได้มาด้วยลมปากหรือเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้นนี้
เรื่องและภาพ ภาสกร จำลองราช