
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ที่บริเวณหน้ากระทรวงพลังงาน ถนนวิภาวดีรังสิต กทม.ตัวแทนองค์กรภาคประชาชน 133 องค์กร อาทิ สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายสิ่งแวดล้อม เครือข่ายไฟฟ้า ประปา และยาเพื่อชาติและประชาชน สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย(สรส.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(สร.กฟผ.)ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาค่าไฟแพง โดยมีนายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นผู้รับหนังสือ
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงศา เลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า กิจการพลังงานไฟฟ้า เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนประเภทหนึ่ง และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญว่า รัฐต้องจัดหรือดําเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิต ของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ขณะนี้กลับปรากฏว่า ประชาชน ภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ รวมถึงภาคเกษตรกรรมต่างได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาค่าไฟฟ้าแพงอย่างถ้วนทั่วทุกภาคส่วน โดยต้องรับภาระค่าไฟฟ้าในอัตรา 4 – 6 บาทต่อหน่วยทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้ว่าจะมีสาเหตุจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้น แต่เป็นเพียงปัจจัยปลายเหตุเท่านั้น
นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า สาเหตุของค่าไฟแพงขณะนี้ เกิดจากการวางแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลผิดพลาดมาอย่างต่อเนื่อง คำนึงถึงความมั่นคงจนเกินความจำเป็น และเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจพลังงานไฟฟ้าของภาคเอกชนบางกลุ่มเกินสมควร ไม่มีความยืดหยุ่นต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่าง ๆ ของประเทศ ทำให้เกิดปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าหรือมีโรงไฟฟ้าในระบบล้นเกินความต้องการ ปล่อยให้มีโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งขนาดเล็กและใหญ่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ซ้ำยังมีแผนการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นอีก จนภาคผลิตไฟฟ้าเอกชนมีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงเกือบร้อยละ 70 ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ
“รัฐบาลยังปล่อยให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึงร้อยละ 50 ขณะที่กำลังการผลิตสำรองไฟฟ้าที่สามารถรองรับความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศควรกำหนดอยู่ที่ร้อยละ 15 เท่านั้น นับเป็นปัญหาสำคัญที่นำมาสู่ภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนในขณะนี้”นายอิฐบูรณ์ กล่าว
เลขาธิการสภาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่านอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPPs) จำนวนมากไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการใช้ไฟฟ้า แต่ยังได้รับเงินค่าไฟฟ้าผ่านค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า(ค่า AP) ซึ่งเกิดจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้เงื่อนไข “ไม่ซื้อ ไม่ใช้ไฟฟ้า ประชาชนก็ต้องจ่าย”ที่เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจเอกชนเกินสมควรและไม่สอดคล้องกับพัฒนาการพลังงานไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบัน โดยจากข้อมูลกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า IPPs พบว่า ในปีที่ผ่านมา มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 7 ใน 12 แห่งไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือเดินเครื่องไม่เต็มศักยภาพ แต่ยังได้รับเงินค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าแบบไม่ซื้อก็ต้องจ่าย คาดว่าเป็นเงินมากถึง 49,000 ล้านบาทต่อปี



นายอิฐบูรณ์กล่าวว่า ยังมีการผ่องถ่ายกำลังการผลิตไฟฟ้าไปให้โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPPs) ซึ่งกว่าร้อยละ 66 ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง จึงทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แพงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ โดยค่าไฟฟ้าของโรงฟ้าขนาดเล็กมีอัตราสูงถึง 4-5 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ผู้ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยซึ่งมีราคาต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบราคาก๊าซจากแหล่งอื่น ๆ แต่ต้องใช้ราคา POOL ก๊าซ หรือราคาผสมจากทุกแหล่ง ทั้งก๊าซที่ออกจากโรงแยกก๊าซ และก๊าซนำเข้าจากประเทศพม่า รวมถึงก๊าซธรรมชาติ LNG ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยที่ราคาก๊าซขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซ้ำยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าสถานีบริการและค่าผ่านท่อที่ขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง
เลขาธิการสภาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคกล่าวว่า รัฐยังไม่ตระหนักถึงปัญหาปริมาณไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินอย่างจริงจัง แทนที่รัฐจะหยุดหรือลดการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมทั้งในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อไม่ให้เกิดเป็นภาระต่อประชาชน แต่กลับเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เข้ามาอีกจำนวนหลายโรง เช่น เขื่อนน้ำงึม 3 ที่มีอัตราค่าขายไฟ 2.89 บาทต่อหน่วย เขื่อนปากแบง ที่มีอัตราขายไฟฟ้า 2.79 บาทต่อหน่วย และเขื่อนหลวงพระบาง ที่มีอัตราขายไฟฟ้า 2.64 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าฐานขายส่งของ กฟผ. ที่ 2.57 บาทต่อหน่วย จึงย่อมบ่งชี้ได้ว่า ค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายให้กับเขื่อนไฟฟ้าใน สปป.ลาวเหล่านี้ จะเป็นภาระค่าไฟฟ้ากับประเทศได้ในอนาคต อีกทั้งการก่อสร้างโครงการเขื่อนเหล่านี้และเขื่อนอื่น ๆ ที่จะมีตามมาในลำน้ำโขงอีกหลายเขื่อน ยังสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมการอยู่อาศัยของผู้คนในท้องถิ่นทั้งไทยและลาวตามมาอีกด้วย ซึ่งมีความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าเป็นตัวเลขได้
“รัฐบาลยังไม่สนับสนุนให้ประชาชนพึ่งตนเองด้วยพลังงานสะอาดโดยการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่อยู่อาศัยอย่างเต็มที่ ด้วยการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) ทำให้ต้นทุนกับจุดคืนทุนของการติดตั้งยังไม่สร้างแรงจูงใจที่เพียงพอ”นายอิฐบูรณ์ กล่าว
นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า จึงมีข้อเสนอต่อกระทรวงพลังงานเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ดังนี้ 1.ขอให้ตรึงค่า Ft กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วน 2.ขอให้หยุดการอนุมัติโรงไฟฟ้าเอกชนใหม่ทั้งในประเทศและการนำเข้าจาก สปป.ลาว ซึ่งขณะนี้ไฟฟ้าล้นระบบ ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐน้อยกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟแพง 3.ให้รัฐบริหารจัดการต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติ โดยกำกับดูแลให้ ปตท. ดำเนินการจัดหาก๊าซธรรมชาติและจำหน่ายให้รัฐวิสาหกิจด้วยกันเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนโดยรวม
4.ทบทวนการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เอื้อเอกชน ในลักษณะมีค่าความพร้อมจ่าย ภายใต้เงื่อนไข “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” 5.เร่งสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ด้วยการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน (โซลาร์รูฟทอป) และใช้ระบบการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) ในการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากการใช้งานกลับเข้าสู่ระบบ ทั้งนี้ในการแก้ปัญหาระยะยาวให้กระทรวงพลังงานปรับนโยบายด้านกิจการไฟฟ้าให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 หมวดที่ 5 “หน้าที่ของรัฐ” ตามมาตรา 56