Search

ค่ายผู้ลี้ภัย “กุงจ่อ” กับอนาคตของเด็กๆ

บทความจาก
https://www.frontiermyanmar.net/en/shan-refugee-children-see-brighter-future-in-thailand

แปลและเรียบเรียงโดย หมอกเต่หว่า

———-

ทุกเช้าตรู่ของวันธรรมดา เด็กๆประมาณ 70 คนมารวมตัวกันที่ค่ายผู้ลี้ภัยกุงจ่อ ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนพม่าในหมู่บ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ทางภาคเหนือของประเทศไทย จากนั้นรถโรงเรียน 2 คัน และรถบรรทุกขนาดเล็กก็มาถึงในเวลา 7:30 น. เพื่อส่งเด็กๆนักเรียนไปยังโรงเรียนบ้านหลักแต่งและโรงเรียนบ้านเปียงหลวง

1 ในนักเรียนคือดาวเรืองวัย 17 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ค่ายกุงจ่อ พร้อมกับเด็กหญิง 12 คน และเด็กชาย 7 คน เธอก็เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ดาวเรืองไม่ใช่เด็กกำพร้า พ่อแม่ของเธอเป็นชาวนาอยู่เมืองสาด รัฐฉาน ประเทศพม่า แต่พวกเขาส่งเธอมาที่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้เมื่อ 7 ปีก่อน เพื่อมาอาศัยอยู่กับยายของเธอ

ยายของดาวเรืองเข้ามาก่อนหน้าเธอ 13 ปี จากเหตุสู้รบความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA แทนที่จะส่งดาวเรืองไปบ้านเด็กกำพร้า ยายของเธอกลับพยายามดิ้นรนเพื่อดูแลเธอ ดาวเรืองนั้นไม่เหมือนกับยายของเธอ ที่ยังไม่มีเอกสารประจำตัวใดๆถึงแม้อยู่ในประเทศไทยมา 20 ปีแล้วก็ตาม ความฝันของดาวเรืองเป็นจริงขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากที่รอคอยมา 7 ปี เด็กนักเรียนชั้นม. 1 รายนี้ ได้รับบัตรประจำตัว “ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน” หรือรู้จักกันในชื่อบัตรชาวเขา บัตรสีขาว 10 ปีนี้ออกให้กับคนไร้สัญชาติโดยเฉพาะ และมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น เสรีภาพในการเดินทางภายในในประเทศไทยมากขึ้น และการเข้าถึงบริการสาธารณะสุขที่มากขึ้น รวมไปถึงจะนำไปสู่การเป็นพลเมืองโดยสมบูรณ์ในที่สุด

“หนูรู้สึกมีความสุขมากที่ได้รับบัตรนี้ เพราะหนูสามารถไปไหนก็ได้ที่หนูอยากไป หนูสามารถเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และหลังจากนั้นมันจะทำให้หนูหางานได้ง่ายขึ้น” ดาวเรือยบอกกับ Frontierในระหว่างที่เยือนค่ายผู้ลี้ภัยกุงจ่อเมื่อวันที่25 พฤศจิกายนที่ผ่านมาดาวเรืองยังบอกอีกว่าการได้รับบัตรนี้จะทำให้เธอเข้าใกล้ความฝันอีกก้าวหนึ่งนั้นคือการเป็นหมอเพื่อช่วยเหลือคนยากจนเหมือนเช่นเธอ

ขณะที่องค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับค่ายผู้ลี้ภัยไทใหญ่ได้ยืนยันกับ Frontierว่า จำนวนบัตร10ปีที่ออกให้แก่เด็กชาติพันธุ์ไทใหญ่ที่ไร้สัญชาติ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนไทยตามแนวชายแดนไทยพม่าในปีนี้สูงกว่าปีที่ผ่านมาอย่างมาก

สิ่งนี้จะทำให้อนาคตของเด็กๆดีขึ้นจายแลงโฆษกจากองค์กรคณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (ชายแดนไทย) กล่าวกับ Frontierเมื่อวันที่5 ธันวาคม

เจ้าหน้าที่ไทยให้ความสำคัญกับเด็กในระบบการศึกษาไทยเป็นหลัก นโยบายของไทยในปีนี้ดูเหมือนจะเปลี่ยนไปและทางการไทยได้มอบบัตรประจำตัวแก่เด็กทุกคนในโรงเรียนไทยจายวิจิตรประธานคณะกรรมการบริหารในค่ายผู้ลี้ภัยกุงจ่อ กล่าว

องค์กรคณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน(ชายแดนไทย) ทำงานร่วมกับค่ายผู้ลี้ภัยอีก 6 แห่ง ซึ่งรองรับผู้คนมากกว่า 6,200 คน ได้แก่ กองมู่งเมือง ดอยไตแลง ดอยดำ กุงจ่อ ดอยสามสิบ และดอยก่อวัน ต่างจากพื้นที่อื่นๆของพม่าที่ถูกทำลายล้างด้วยสงครามนับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แต่กลับกัน ทางตะวันออกของรัฐฉานกลับมีการสู้รบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การสู้รบกันล่าสุด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นทางตอนเหนือของรัฐฉานระหว่างกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆ โดยมีผู้ลี้ภัยใหม่ประมาณ 100 คนเท่านั้นที่เข้าร่วมค่ายต่างๆเหล่านี้ ตั้งแต่การรัฐประหารโดยกองทัพพม่า

กุงจ่อ ซึ่งมีความหมายว่า เนินเขาแห่งความสุข ในภาษาไทใหญ่ เป็นค่ายผู้ลี้ภัยแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยในจำนวนค่ายผู้ลี้ภัยไทใหญ่ทั้ง 6 แห่ง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 เมื่อเกิดสงครามระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA แม้ว่าทางการไทยตั้งใจจะส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังพม่า เมื่อการสู้รบสงบลง แต่ทางการพม่าปฏิเสธที่จะรับพวกเขาเพราะพวกเขาไม่พูดภาษาพม่า ตามคำบอกเล่าของอดีตหัวหน้าค่ายจายทุน

ในช่วงแรกๆ ทางค่ายผู้ลี้ภัยกุงจ่อได้รองรับผู้ลี้ภัย 636 คน จาก 80 หลังคาเรือน ซึ่งต่อมาค่อยๆลดลงเหลือประมาณ 300 คนใน 74 ครัวเรือน การลดลงนี้เป็นผลมาจากผู้ลี้ภัยบางส่วนได้แต่งงานกับคนไทยหรือย้ายไปอยู่กับญาติที่มีสัญชาติไทย

“เมื่อลูกชายและลูกสาวของผู้ลี้ภัยออกไปทำงานนอกค่าย พวกเขาจะแต่งงานและมีลูก บางครั้งก็ส่งลูกกลับมาหาพ่อแม่ที่นี่เพื่อไปเรียนต่อ” จาย วิจิตรกล่าว

ในปี พ.ศ. 2548 ค่ายผู้ลี้ภัยได้เปิดคลินิกทางการแพทย์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กร Burma Relief Center (ศูนย์บรรเทาทุกข์พม่า) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่

“เราจ่ายยากับคนไข้ฟรี และเราจัดการส่งหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอดและผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดไปยังคลินิกในเปียงหลวงและโรงพยาบาลประจำอำเภอเวียงแหง รัฐบาลไทยไม่อนุญาตให้เราทำการผ่าตัดหรือฉีดยาที่คลินิกแห่งนี้” นางฉ่วย ซิน เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์คนเดียวของคลินิกในค่ายกล่าว

เธอมีคุณสมบัติตามหลักสูตรการฝึกอบรมทางการแพทย์ที่จัดโดยองค์กรเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (SWAN) เธอบอกว่ารักษาผู้ป่วยที่เป็นหวัด มีไข้ ไอ ปวดเข่า ปวดหลัง และปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากการดื่มสุรา

“ชาวบ้านบางคนมีอาการวิงเวียนศีรษะเพราะพวกเขาฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในสวนทุกวัน” เธอกล่าว

เมื่อตอนที่ก่อตั้งคลินิกครั้งแรก มีเด็กในค่ายเกิดใหม่ประมาณ 7 คนต่อปี ขณะนี้ตัวเลขลดลงเหลือประมาณ 3 คน เนื่องจากพ่อแม่พยายามทำให้แน่ใจว่าลูกของพวกเขาจะเกิดในโรงพยาบาลของรัฐ

“ถ้าพวกเขาคลอดลูกที่โรงพยาบาลของรัฐ พวกเขาจะต้องได้สูติบัตรแน่นอน ถ้าเป็นเช่นนั้น เด็กๆ ก็จะมีโอกาสได้บัตร 10 ปี” จายทุนกล่าว

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNCHR) ประมาณการว่าทั่วโลกมีประชากรไร้สัญชาติประมาณ 10 ล้านคน โดยประเทศไทยมีประชากรไร้สัญชาติมากที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพม่า ในปี 2563 กระทรวงมหาดไทยระบุว่า มีคนไร้สัญชาติกว่า 539,000 คนอาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมถึงเด็กเกือบ 300,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย

UNHCR ยังระบุด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2562 คนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ลงทะเบียนแล้วประมาณ 23,000 คนได้รับสัญชาติไทย ซึ่งเป็นก้าวสำคัญ แต่มีเพียงประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไร้สัญชาติที่ได้รับการยอมรับทั้งหมด ในปี 2561 กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยระบุว่า พวกเขามีเป้าหมายที่จะให้สัญชาติแก่เด็กนักเรียนไร้สัญชาติกว่า 90,000 คน เพื่อให้เด็กๆเข้าถึงการศึกษาและสวัสดิการทางสังคมอื่นๆ แต่ จาย วิจิตรว่า เขาเพิ่งเห็นว่าแผนดำเนินงานนี้เริ่มได้ไม่นาน

“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พวกเขาปฏิเสธที่จะมอบมันให้กับเด็กๆ” เขากล่าว อย่างไรก็ตาม ปีนี้เจ้าหน้าที่ไทยแจ้งว่านักเรียนไร้สัญชาติกว่า 200 คนในอำเภอเวียงแหงจะได้รับบัตร 10 ปี รวมทั้งจากค่ายผู้ลี้ภัยกุงจ่อประมาณ 15 คน

“ในปีนี้เจ้าหน้าที่ของไทยกล่าวว่าเด็กคืออนาคต มันสำคัญมาก หากพวกเขามอบให้ในวันนี้ พรุ่งนี้สถานการณ์ของเด็กๆจะดีขึ้นอยู่แล้ว ตอนนี้เด็กในค่ายเกือบทั้งหมดมีบัตร 10 ปี” เขากล่าว

จากผู้ลี้ภัย 300 คนในค่ายผู้ลี้ภัยกุงจ่อ ราว 80 คนมีอายุไม่ถึง 18 ปี โดยประมาณ 60 คน เรียนอยู่ในชั้นประถม และอีก 20 คน เรียนอยู่ในชั้นมัธยม

“ผมอยากมีสัญชาติไทย เราทุกคนต้องการมัน เพราะว่าจะช่วยให้เราหางานได้ง่ายและทำธุรกิจ” ก้องภพวัย 18 ปี จากโรงเรียนบ้านเปียงหลวงกล่าว เขาก็เป็นอีกคนหนึ่ง เช่นเดียวกับดาวเรืองที่ได้รับบัตรประจำตัวเมื่อ 3 เดือนก่อน หลังจากที่เขารอคอยมานานถึง 5 ปี

เด็กชาย 4 คนและเด็กหญิง 1 คนในกุงจ่อยังได้รับบัตรประจำตัวประชาชนไทยเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯในปี 2558 ซึ่งจายทุนกล่าวว่า เด็กๆ ซึ่งขณะนั้นอายุประมาณ 10 ขวบ ได้รับเ ลือกจากเจ้าหน้าที่เขตและครู

“เด็กส่วนใหญ่ได้รับบัตรประจำตัวจากโรงเรียนได้ง่ายกว่า นักเรียนที่เข้าโรงเรียนได้จะได้รับบัตร 10 ปี ซึ่งจัดการโดยครูจากโรงเรียน แต่เด็กและผู้ลี้ภัยบางคนที่มีบัตรประจำตัว 10 ปี เนื่องจากครอบครัวของพวกเขามีสายสัมพันธ์กับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นพวกเขาจึงอยู่ในรายชื่อครอบครัวญาติชาวไทย” เขาอธิบาย

ขณะที่จายแลงเชื่อว่าเด็กไร้สัญชาติจำนวนมากในแม่ฮ่องสอน ติดชายแดนรัฐกะยา และฝางก็จะได้รับบัตรประจำตัวในปีนี้เช่นกัน

“บอกจำนวนที่แน่นอนได้ยาก เพราะชาวไทใหญ่ส่วนใหญ่ไม่ได้มาที่ค่ายผู้ลี้ภัยเหมือนเรา แต่อาศัยอยู่ปะปนกับคนไทยในหมู่บ้านที่ญาติอาศัยอยู่ โดยเฉพาะที่ฝาง มีหมู่บ้านชาวไทใหญ่ทั้งฝั่งพม่าและฝั่งไทย” เขากล่าว

แม้ว่าค่ายผู้ลี้ภัยกุงจ่อจะจัดตั้งอยู่มานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้ลงทะเบียนกับ UNHCR ผู้ลี้ภัยในค่ายดังกล่าวเปิดเผยว่า มีตัวแทนของ UNHCR ได้เดินทางมาเยี่ยมค่ายแห่งนี้เพียงครั้งเดียวในปี 2546 ขณะที่จายแลง อธิบายว่าพวกเขาไม่ต้องการให้ UNHCR ยอมรับเพราะกลัวว่าจะถูกแยกออกจากกันกับค่ายผู้ลี้ภัยอีก 5 ค่ายซึ่งอยู่ในพม่า ซึ่งนั่นจะทำให้การเดินทางระหว่างค่ายยากยิ่งขึ้น

ไม่เหมือนกับชาวกะเหรี่ยงและชาวคะเรนนี ผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ขอลี้ภัยในประเทศไทย และไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494

จายแลงกล่าวว่า องค์กรระหว่างประเทศได้ให้การสนับสนุนค่ายผู้ลี้ภัยไทใหญ่ด้วยการบริจาคอาหารทุกเดือนมาระยะหนึ่ง แต่ความช่วยเหลือกลับขาดหายไปในปี 2560 เนื่องจากการประเมินผิดพลาดว่าพม่ากำลังไปสู่สันติภาพและประชาธิปไตย

“เนื่องจากความช่วยเหลือด้านอาหารยุติลง ผู้ลี้ภัยจึงต้องดิ้นรนมากขึ้นเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่” เขากล่าว

ในขณะที่สถานการณ์กำลังดีขึ้นสำหรับคนหนุ่มสาวในค่าย แต่ก็ไร้วี่แววว่าสิ่งนี้จะขยายไปยังผู้ลี้ภัยที่มีอายุมากกว่า 

นางจิ่ง นู่ ผู้ลี้ภัยที่ไม่มีเอกสารวัย 57 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในค่ายเป็นเวลา 21 ปี กล่าวว่า เธออยากได้สัญชาติไทย แต่เธอไม่มีความหวังที่จะได้มัน

“มันยากเกินไปที่จะหาเงินที่นี่ ฉันลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ฉันย้ายมาที่นี่ครั้งแรก ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิม ความหวังเดียวที่เรามีคือการรอผู้บริจาคหรือความช่วยเหลือจากภายนอก” เธอกล่าว

ขณะที่จาย วิจิตร กล่าวอีกว่า ผู้ลี้ภัยในค่ายที่ไม่มีบัตรประจำตัว บางครั้งต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อเข้าโรงพยาบาลหรือคลินิกทางการแพทย์ พวกเขาไม่สามารถรับบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งผู้ที่มีบัตร 10 ปีสามารถยื่นขอได้ ทั้งนี้ ผู้ใหญ่คนอื่นๆในค่ายผู้ลี้ภัยกุงจ่อมักจะหางานทำตามฤดูกาลในพื้นที่เกษตรกรรมรอบๆค่าย อย่างการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร เช่น กระเทียมและพริก แต่งานในไร่นี้กินเวลาเพียง 100 วันต่อปีเท่านั้น ขณะที่บางคนทำงานในไซต์ก่อสร้างในหมู่บ้านรอบๆ

“ผู้ลี้ภัยสามารถหารายได้ให้ครอบครัว ได้อย่างน้อย 250 บาท (ประมาณ 7.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อวันในช่วงวันนี้ แต่พวกเขาก็ไม่มีงานทำเกือบทุกวัน” จายทุนกล่าว

ขณะที่โอกาสงานอื่น ๆ ก็หายไป เนื่องจากโรคระบาด COVID-19 จายทุนเผยว่า ผู้ลี้ภัยหญิงเคยมีรายได้ประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อเดือนในการตัดเย็บเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมของชาวไทใหญ่สำหรับพิธีต่างๆ แต่ก็ต้องหยุดไว้ตั้งแต่ปี 2563

จายหน่าหลิ่ง ผู้ลี้ภัยวัย 59 ปีในค่ายกุงจ่อ บอกว่า เขาทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดเพื่อสนับสนุนการศึกษาของลูกวัยอายุ 16 ปี เนื่องจากเขาไม่มีความหวังสำหรับอนาคตของตัวเอง

“ผมส่งลูกสาวไปโรงเรียนเพราะผมอยากให้อนาคตของเธอสดใสยิ่งขึ้น ถ้าเธอเป็นคนมีการศึกษา เธอจะสามารถเลี้ยงดูทั้งครอบครัวได้ เนื่องจากความช่วยเหลือด้านอาหารยุติลง ผู้ลี้ภัยจึงต้องดิ้นรนมากขึ้นเพื่อดำรงชีวิตให้ได้” เขากล่าว

———-

On Key

Related Posts

ผวาเหมืองทองเกลื่อนน้ำกก กองกำลังว้าจับมือจีนขุดแร่ทำลำน้ำขุ่น ชาวท่าตอนผวาเดินขบวนเรียกร้องรัฐบาลไทยปกป้อง หวั่นสารพิษปนเปื้อนลงสายน้ำแหล่งประปาของคนเชียงราย

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 น.ส.หอม ผู้ประสานงานมูลRead More →

เพลงชาติกะเหรี่ยงดังกระหึ่มแม่น้ำสาละวินหลังปลอดทหารพม่าในรอบกว่า 20 ปี ชาวบ้าน 2 ฝั่งแดนร่วมจัดงานวันหยุดเขื่อนคึกคักหลังพื้นที่ปลอดทหารพม่า “ครูตี๋”ใช้บทเรียนแม่น้ำโขงถูกทำลายปางตายแนะชุมชนสู้

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 ที่บริเวณหาดทรายริมแม่นRead More →