เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งประมาณ 50 คน ได้รวมตัวกันที่บริเวณศาลาเอสเอ็มแอล บ้านเชียงเพ็ง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร เพื่อเดินรณรงค์ “ไล่มลพิษ” จากโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ก่อให้เกิดเสียงดัง จากหมู่บ้านถึงปากทางเข้าหมู่บ้าน พร้อมอ่านคำประกาศยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล
นายสิริศักดิ์ สะดวก ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง กล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งยืนหยัดในการคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลมาตลอดเป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาเพราะว่า เป็นการกำหนดนโยบายที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มแรก โดยพื้นที่ตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่เหมาะสม เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่มีการปลูกอ้อย และชุมชนมีวิถีทำการเกษตรที่หลากหลายและสอดคล้องกับพื้นที่ นอกจากนี้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 และ 2 เป็นการจัดเสมือนพิธีกรรม ชาวบ้านที่เห็นต่างถูกกีดกัน และก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรชุมชนโดยเฉพาะลำน้ำเซบายที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันกว่า 200 กิโลเมตร
น.ส.นวพร เนินทราย อายุ 33 ปี กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง ได้อ่านแถลงการณ์ว่า เรายืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งได้แสดงออกถึงการปกป้องฐานทรัพยากร ปกป้องวิถีชีวิต ปกป้องสิทธิชุมชน และรณรงค์เพื่อสร้างสำนึกกับสาธารณะถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะเราอยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร
“ ถึงแม้ว่าปัจจุบันโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีมวลได้ดำเนินการมาปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว ชุมชนรับรู้ได้ถึงมลภาวะที่เกิดจากเสียงดังรบกวนวิถีชีวิตปกติสุขของชาวบ้าน อ้อยหล่น และรถขนอ้อยที่ประสบอุบัติเหตุ ตลอดจนฝุ่น PM 2.5 ที่ไม่มีระบุไว้ในอีไอเอ หรือฝุ่นขนาดเล็กที่เรามองไม่เห็นที่มากับกระแสลม เมื่อกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวข้างต้น รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่ฟัง แต่ยังเอื้ออำนวยให้ทุนทั้งกฎหมาย สถานที่ เพื่อให้ทุนดำเนินการสำเร็จ โดยไม่เห็นสิ่งแวดล้อมของชุมชนและวิถีชีวิตชาวบ้านเป็นที่ตั้ง ผลคือการดำเนินกิจการของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ก่อให้เกิดมลพิษหลายด้านที่ชุมชุมรับรู้”น.ส.นวพร กล่าว
น.ส.นวพรกล่าวว่า ดังนั้นทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็ง จึงมีคำประกาศดังนี้ 1.เราจะยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อวิพากษ์นโยบายของนักการเมืองและหน่วยงานราชการที่ไม่ยืนเคียงข้างประชาชน ทั้ง ๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่จะได้รับผลกระทบ 2.เราจะเสนอให้รัฐจะต้องศึกษาประเมินยุทธศาสตร์ระดับสิ่งแวดล้อมหรือ SEA แบบมีส่วนร่วม เพื่อประเมินศักยภาพของพื้นว่าเหมาะสมที่จะพัฒนาไปในทิศทางใดที่สอดคล้องกับชุมชนจริง ๆ
3.เราจะไม่เลือกนักการเมืองทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นที่สนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรม ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 4.เรายังคงเดินหน้าปกป้องฐานทรัพยากร ปกป้องวิถีชีวิต เพื่อลูกหลานในอนาคต