Search

ชำแหละเอกสารสิทธิที่ดิน เกาะหลีเป๊ะ

ภาสกร จำลองราช
padsakorn@gmail.com

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีกุศโลบายให้อพยพชาวเล จากเกาะลันตา จ.กระบี่ และเกาะสิเหร่ จ.ภูเก็ต มาอยู่เกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง เมื่อราว พ.ศ.2440  เพราะเป็นช่วงปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษ โดยมีผู้นำชาวอูรักลาโว้ยชื่อว่า “โต๊ะฆีรี” ซึ่งเป็นต้นตระกูลหาญทะเล (นามสกุลพระราชทาน)

การยืนยันตัวตนว่าอยู่ในเขตแดนสยามของโต๊ะฆีรีและชาวเลในครั้งนั้น ทำให้เกาะหลีเป๊ะเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินสยามมาจนถึงวันนี้

พ.ศ.2482 รัฐบาลได้ประกาศหวงห้ามพื้นที่หมู่เกาะตะรุเตาเพื่อเป็นที่ตั้งของทัณฑสถาน รวมไปถึงเกาะอาดังและหลีเป๊ะด้วย โดยปี 2501 ได้มีการตั้งโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง(ปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ)ขึ้น ต่อมาได้มีการอพยพชาวเลจากเกาะต่างๆ ไปรวมอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะ

อย่างไรก็ตามหลังจากมีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ได้มีการแจ้งครอบครองที่ดิน(ส.ค.1)ใน พ.ศ. 2498 ไว้เพียง 41 ราย ทั้งๆที่มีชาวเลอาศัยอยู่บนเกาะในเวลานั้นหลายร้อยคน

ในช่วงปี 2514 ชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะเริ่มมีการค้าขายกับบุคคลภายนอก และมี “คนนอก” เข้ามาแต่งงานกับลูกสาวของโต๊ะฆีรี

พ.ศ.2517 ทางการได้ประกาศยกเลิกเขตหวงห้าม และได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติตะรุเตา โดยไม่ได้มีการสำรวจหรือทำแนวเขตที่ชาวเลอาศัยอยู่

ในอดีตชาวอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ อาศัยอยู่กันอย่างกระจายตัวตามริมทะเล และไม่ได้จับจองเป็นเจ้าของที่ดินตามวิถีของพวกเขา เพราะในบางฤดูมักล่องเรือไปหากินตามเกาะต่างๆ และกลับมาอยู่ที่ชุมชนเมื่อถึงฤดูที่มีพายุ พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเอกสารสิทธิที่ดินเพราะไม่มีเคยรู้ว่ามีความสำคัญต่ออนาคต

ตั้งแต่ปี 2510 ได้รวบรวมเอกสาร ส.ค.1 ของชาวเลทั้ง 41 แปลงโดย “คนนอก”ที่เข้ามาซึ่งอ้างว่าจะนำไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ชาวเลซึ่งไม่รู้หนังสือและพูดภาษาไทยแทบไม่ได้ต่างไว้ใจและมอบเอกสารให้เขาจนกระทั่งออกเป็น น.ส.3 จำนวน 19 แปลง แต่แทนที่น่าจะได้เป็นชื่อของชาวเลเจ้าของที่ดินในเวลาต่อมา แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น

จากคำบอกเล่าของชาวเลที่ให้การไว้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่ 1 ระบุชัดว่า ได้มีการข่มขู่กดดันและใช้วิธีการต่างๆนอกกฎหมาย ทำให้ น.ส.3 ตกเป็นชื่อของคนบางกลุ่ม

ขณะที่พื้นที่อีกจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในการครอบครองของชาวอูรักลาโว้ยเพราะเป็นผู้บุกเบิกแผ้วถาง แต่ไม่ได้แจ้ง สค.1ก็ถูกผู้มีอิทธิพลข่มขู่เพื่อบังคับให้ขายในราคาถูกซึ่งเขาสามารถนำไปออก น.ส.3 ได้ ทำให้ที่ดินตกอยู่ในมือผู้มีอิทธิพลและพรรคพวกเกือบทั้งสิ้น

ในยุคหนึ่งใครที่จะซื้อขายที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะต้องผ่านผู้มีอิทธิพลกลุ่มนี้ ซึ่งเขาสามารถประสานกับระบบราชการได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน

ในสำนวนของ กสม.ได้ระบุวิถีการที่ผู้ทรงอิทธิพลรายนี้ ใช้หลอก ข่มขู่และคุกคามชาวเลที่มีชื่อในที่ดินแต่ละแปลงไว้หมด และขณะนี้หลายคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์นั้นยังมีชีวิตอยู่ ที่น่าสนใจมีอยู่ 1 กรณีที่ลูกหลานชาวเลแอบบันทึกเสียงการข่มขู่จากผู้มีอิทธิพลกลุ่มนี้ไว้ได้

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวเลทั้งเกาะหลีเป๊ะมีมติเอกฉันทน์ในระหว่างการทำประชาคมหมู่บ้านเมื่อค่ำวันที่ 8 มกราคม 2566 ที่ยืนยันให้รัฐบาลตรวจสอบเอกสารสิทธิใหม่ทั้งเกาะ ซึ่งคนที่ได้มาอย่างถูกต้องนั้นย่อมไม่มีปัญหา แต่ผืนดินใดได้ น.ส.3 ไม่ถูกต้อง ก็น่าจะคืนพื้นที่นั้น

นอกจาก น.ส.3 ซึ่ง กสม.ระบุว่าไม่ถูกต้องจำนวนมากแล้ว ยังปัญหาเรื่องการขยายพื้นที่ครอบครองที่บวมออกไปจาก น.ส.3 อีกจำนวนมาก

ยกตัวอย่าง สค.1 แปลงที่ 11(ดูภาพประกอบซึ่งสันนิษฐานเอาจากการลงพื้นที่) ที่มีปัญหากรณีปิดกั้นเส้นทางไปโรงเรียนของเด็กๆ และทางเดินลงทะเลของชุมชน จนชุมชนออกมาประท้วงกลายเป็นกระแสข่าวติดต่อกันหลายวัน

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2498 ได้มีการแจ้งครอบครองที่ดิน(ส.ค.1 )แปลงที่ 11 เนื้อที่ 50 ไร่ ต่อมาเมื่อออกเป็น น.ส.3 ในวันที่ 15 สิงหาคม 2517 ขยายเพิ่มเป็น 81-3-40 ไร่

ในที่ประชุมหลายครั้งเมื่อสอบถามตัวแทนกรมที่ดิน ได้รับคำอธิบายว่า ตอนชี้แนวเขต ส.ค.1 ในยุคนั้นเป็นการประมาณด้วยสายตาและไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน ทำให้เมื่อออกเป็น น.ส.3 อาจขยายออกไปตามที่ผู้ครอบครองชี้ชัด

แต่ที่น่าประหลาดใจคือในที่ดิน น.ส.3 จำนวน 81 ไร่ดังกล่าว กลับมีที่ดินของโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ จำนวน 6 ไร่ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุอยู่ในนั้นด้วย ทั้งๆที่โรงเรียนตั้งขึ้นมาก่อนคือเมื่อปี 2501 ทำให้เกิดความสงสัยว่าในกระบวนการจัดทำ น.ส.3 ตัวแทนกรมที่ดินได้ลงพื้นที่ไปสำรวจหรือไม่ ซึ่งยังไม่ได้ชี้แจงในประเด็นนี้ให้ชัดเจน

ที่กลายเป็นปัญหายิ่งขึ้นคือเมื่อผู้อ้างเอกสารสิทธิ 81 ไร่ ได้ขยายพื้นที่ครอบครองออกไปเป็น 150 ไร่(ตามคำให้การในชั้นศาล) ทำให้เกิดการฟ้องขับไล่ชาวเลที่อาศัยอยู่ในที่ดินดั้งเดิมรอบพื้นที่ 81 ไร่ รวมถึงการถมทับลำรางสาธารณะประโยชน์และถนนดั้งเดิมของชาวบ้าน

เรื่องนี้มีความชัดเจนขึ้น เมื่อทายาทที่ดินแปลงที่ 11 ได้ฟ้องขับไล่ชาวอูรักลาโว้ย 5 ราย โดยบริเวณที่ชาวบ้านตกเป็นจำเลยอยู่คือนอกพื้นที่ น.ส.3 ที่ระบุไว้ 81 แต่อยู่ในขอบเขต 150 ไร่ที่ถูกอ้างการครอบครอง(ดูภาพประกอบ)

หลังการต่อสู้ยาวนานทั้ง 3 สาล ในที่สุดเมื่อปี 2562 ศาลฎีกาได้พิพากษาว่าโจทย์ไม่มีสิทธิขับไล่ชาวเลกลุ่มนี้เพราะชาวเลอยู่มาก่อน

ทุกวันนี้การอ้างสิทธิครอบครองที่บวมเบ่งบานบนเกาะหลีเป๊ะได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนชาวเลเป็นอย่างมาก ขณะที่ภาครัฐไม่เคยให้ความสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะกลุ่มผู้มีอิทธิพลได้สร้างบารมีไปถึงนักการเมืองระดับชาติและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทำให้เสียงเล็กเสียงน้อยของชาวอูรักลาโว้ยจมหายไปในทะเลมาโดยตลอด

ปัจจุบันที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะมีราคาสูงลิ่วและมีการซื้อขายกันไปแล้วหลายทอด โดยชาวเลกว่า 1,000 คน ส่วนใหญ่ถูกผลักดันให้ขึ้นไปอยู่บนเกาะห่างจากชายหาด เพื่อใช้พื้นที่ติดทะเลประกอบธุรกิจนักท่องเที่ยวโดยต่างคนต่างฉกฉวยโอกาสเพื่อเม็ดเงินซึ่งมีการกั้นรั้วกกั้นติดๆกันเพื่อล้อมที่พักของตัวเองสร้างความเป็นส่วนตัวให้นักท่องเที่ยว ทำให้ตอนนี้ตลอดแนวชายหาดจนแทบไม่มีทางลงทะเล

เมื่อกว่า 30 ปีก่อนสมัยที่คุณบรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยพยายามผลักดันให้มีการยกเลิกเอกสารสิทธิที่ไม่ถูกต้องจำนวน 17 แปลง และวางผังเมืองเพื่ออนุรักษ์เกาะหลีเป๊ะให้พ้นมือนักธุรกิจภายนอกที่จะแห่ขึ้นไปทำมาหากิน โดยเขาเตรียมนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แต่ไม่รู้เพราะเหตุใดเรื่องกลับเงียบหายไป ทำให้ในวันนี้เกาะหลีเป๊ะจึงตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่เหมือนที่คาดการณ์ไว้

ขณะนี้มีคณะกรรมการของรัฐบาล 2 ชุดที่กำลังแก้ปัญหาเรื่องเกาะหลีเป๊ะ คือคณะกรรมการอํานวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ สำนักนายกรัฐมนตรีที่มีคุณพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับยชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ ซึ่งมีพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก”เป็นประธาน

เชื่อว่าหากคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด เอาจริงเอาจัง จะสามารถสร้างความเป็นธรรมให้กับชุมชนชาวเลผู้บุกเบิกเกาะหลีเป๊ะและทำให้เกาะแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันระหว่างธุรกิจการท่องเที่ยวกับชุมชนท้องถิ่นได้

————-

หมายเหตุ-ภาพประกอบเป็นการจัดทำขึ้นเองของผู้เขียนเพื่อต้องการให้เห็นบริบทของที่ดินแปลงที่ 11 เท่านั้น จากแรกที่เป็น ส.ค.1 จำนวน 50 ไร่ ต่อมาเมื่อเป็น น.ส.3 เพิ่มเป็น 81 ไร่ และต่อมาได้อ้างการครอบครองเพิ่มขึ้นเป็น 150 ไร่ ซึ่งในบริเวณนี้มีการผนวกเอาพื้นที่ของโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะจำนวน 2 ไร่ไว้ด้วย แต่ขนาดของพื้นที่จริงอาจไม่ตรงกับอัตราส่วนที่แท้จริง

On Key

Related Posts

จี้รัฐทำแผนรับมือน้ำท่วมเชียงรายหลังพบเหมืองทองต้นน้ำกก นักวิชาการหวั่นซ้ำรอยปีที่แล้ว แนะรัฐเจรจากับพม่า-กองกำลังชาติพันธุ์-เร่งตรวจสารปนเปื้อนและเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 นายสืบสกุล กิจนุกร อาจาRead More →

หวั่นภาพพจน์การท่องเที่ยวเมืองภูเก็ตติดลบ หลังพบใช้แรงงานข้ามชาติอื้อแต่คุณภาพชีวิตย่ำแย่-เด็กนักเรียนกว่า 300 คนเสี่ยงหลุดจากระบบหลังสถานศึกษาถูกปิด

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ด้านนายฐิติกันต์ ฐิติพฤRead More →