
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 นายเสนาะ สุขจำเริญ อดีตผู้ใหญ่บ้านบ่อไร่ ต.หนองศาลา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ถนนลงทะเลหาดบ่อไร่ซึ่งกว้าง 12 เมตร ยาว 1 กิโลเมตร ซึ่งใช้กันมานานตั้งแต่ยังเป็นทางเกวียนและตอนหลังได้เป็นถนนลูกรัง ปรากฏว่าได้มีบริษัทเอกชนปิดป้ายเขียนว่าขอสงวนลิขสิทธิ์ทำให้ชาวบ้านที่เคยใช้เส้นทางหาปลาหรือมาเที่ยวชายหาดเข้าไม่ได้ เมื่อตนพบป้ายดังกล่าวจึงสอบถามคนงานของบริษัทที่มาปลูกต้นไม้ว่าใครมาปิดเส้นทาง ทำให้ทราบว่าบริษัทเอกชนที่ต้องการปิดเส้นทางนี้ได้เข้ามาซื้อที่ดินบริเวณนี้กว่า 3 หมื่นไร่ และทราบว่าบริษัทแห่งนี้มีที่ดินทั่วประเทศไทยกว่า 7 แสนไร่
“เขาต้องการปิดถนนลงทะเล ทั้งๆที่พวกเราใช้กันมาตั้งแต่ผมยังไม่เกิด ผมถามไปที่ อบต.หนองศาลา เทศบาลตำบลบางเก่า และนายอำเภอชะอำในฐานะเจ้าของพื้นที่ว่าใครมาปิด เขาบอกว่าไม่ทราบ ผมเลยฟ้องศาลปกครอง ฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน เจ้าหน้าที่ที่ดินเพชรบุรี เพื่อให้เปิดทาง พอฟ้องแล้วมีหลายคนฟ้องสอด ทั้งอบต.หนองศาลา เทศบาลตำบลบางเก่า นายอำเภอชะอำ เพื่อช่วยฝ่ายโน้น รวม 9 คน ขณะที่ผมมีคนเดียว ตอนนี้เรื่องอยู่ที่ศาลปกครอง ยังไม่ได้ตัดสิน หลายคนถามว่าผมจะสู้เขาได้อย่างไรเพราะบริษัทนี้ใหญ่มาก ผมก็สู้ไป” นายเสนาะกล่าว

อดีตผู้ใหญ่บ้านบ่อไร่กล่าวว่า หากตนแพ้คดี หมู่บ้านบ่อไร่ก็ไม่มีเส้นทางลงทะเลเพราะทั้งตำบลมีเส้นทางลงทะเลอยู่ทางเดียว แต่มีบางคนพยายามบอกว่ามีเส้นทางอยู่หลายทางและไม่จำเป็นต้องใช้ทางนี้ ตนเลยขอความกรุณาจากศาลเพื่อให้เผชิญสืบและให้คนคนนั้นมายืนยันว่าทางลงทะเลมีอยู่ตรงไหน หากมีทางลงทะเลอื่นบริเวณนี้จริง ตนพร้อมถอนฟ้องทันที แต่ศาลได้แจ้งเป็นหนังสือมาที่ตนว่าไม่มาเผชิญสืบเพราะมีหลักฐานอื่นพร้อมพิจารณาได้
นายเสนาะกล่าวว่า บริเวณชายทะเลบ้านบ่อไร่เป็นชายหาดที่สวยงาม ซึ่งตนเคยสร้างเก้าอี้และสิ่งต่างๆไว้บริการนักท่องเที่ยว แต่ตอนนี้กลับถูกทุบเสียหาย และถนนกำลังถูกปิดซึ่งเป็นถนนที่ชาวบ้านได้ทำเอาไว้
ขณะเดียวกันกรณีดังกล่าวนายเสนาะได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) โดย กสม.ได้จัดทำรายงานงานผลการตรวจสอบซึ่งในตอนท้ายได้ระบุความเห็นของ กสม.สรุปว่า เมื่อทางพิพาทเคยเป็นคดีระหว่างคู่กรณีอื่นซึ่งมีคำพิพากษาว่า ศาลได้เปรียบเทียบพยานหลักฐานแล้วฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ผู้ร้องได้ยื่นฟ้องคดีปกครองต่อศาลปกครองจังหวัดเพชรบุรีเพื่อขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับทางพิพาท 6 แปลง ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ร้อง กสม. ทำให้กสม.จำเป็นต้องยุติเรื่อง
“อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอาการของกรมที่ดิน พบว่าในปี 2519 ยังไม่ปรากฏร่องรอยทางพิพาทที่ชัดเจน แต่ในภาพถ่ายทางอากาศปี 2537 และ 2558 ปรากฏร่องรอยให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นถนนหรือทางลักษณะเป็นสีขาวต่อเนื่องกันไปอย่างไม่ขาดหรือไม่ถูกตัดตอนจากกัน เชื่อมจากถนนสาธารณะไปจดชายทะเล จึงน่าเชื่อได้ว่าชาวบ้านบ่อไร่มีการใช้ทางพิพาทเป็นทางสัญจรมาตั้งแต่ช่วงปี 2530 ตามที่ผู้ร้องขอกล่าวอ้าง”ในรายงานของ กสม.ระบุ