มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำนักทะเบียนอำเภอแม่จัน ได้ดำเนินการการตรวจดีเอ็นเอ ในโครงการยุติธรรมสร้างสุข กรณีศึกษาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นชาวเขาดั้งเดิมตามนโยบายของรัฐ ณ หมู่บ้านเฮโก หมู่ที่ 19 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
ทั้งนี้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ส่งผลการตรวจดีเอ็นเอยืนยันความเป็นผู้ร่วมสายโลหิตไปยังสำนักทะเบียนอำเภอแม่จัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 แต่เนื่องด้วยเป็นกรณีที่ทางเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนอำเภอแม่จัน มีข้อกังวลว่าคู่ตรวจดีเอ็นเอ ได้สัญชาติเป็นการเฉพาะตนหรือไม่ จะใช้ผลตรวจดีเอ็นโอ เพื่อสิทธิในการลงรายการสัญชาติไทยสำหรับน้องร่วมบิดามารดาได้หรือไม่
ทั้งนี้ พชภ.พบว่า มีกลุ่มผู้เฒ่า 5 กรณี ซึ่งข้อมูลสำรวจทะเบียนประวัติ ขัดต่อข้อเท็จจริงทั้งสองหน่วยงาน คือการสำรวจโดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาตามโครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขาปี พ.ศ.2528 – 2530 ของกรมประชาสงเคราะห์ และได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง จากสำนักทะเบียนอำเภอเมื่อ พ.ศ.2534 ทั้งสองรายการระบุว่าเกิดในประเทศพม่า ซึ่งข้อเท็จจริงของผู้เฒ่าทั้ง 5 กรณี คือเกิดในประเทศไทย ดังนั้นจึงมีการทำประชาคมเพื่อแสวงหาข้อมูล ยืนยันความเป็นชาวเขาดั้งเดิม การเกิดในประเทศไทย และไม่เคยอพยพออกนอกประเทศ ของผู้เฒ่าที่ประสบปัญหา รวม 8 ราย เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกันและเข้าถึงสิทธิที่ผู้เฒ่าพึงได้รับตามหลักสิทธิมนุษยชน
พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ที่ปรึกษา DSI กล่าวว่า ระเบียบ กฎเกณฑ์ หนังสือเวียนตามหลักกฎหมายมีอยู่แล้ว แต่แนวทางในการนำมาปฏิบัติอาจจะมีข้อติดขัด และรับทราบถึงความกังวลใจของเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนอำเภอแม่จัน จึงวางแผนบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสวงข้อมูลที่มีน้ำหนัก ในการแก้ไขปัญหาจึงเป็นที่มาของการจัดเวทีในครั้งนี้
นายสุริยศักดิ์ เหมือนอ่วม ผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กล่าวว่าการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เป็นต้นแบบที่จะนำไปใช้
สำหรับกรณีที่มีความซับซ้อน การบันทึกข้อมูลในอดีตที่มีความผิดพลาด ขัดหรือแย้งต่อความเป็นจริง ควรมีการแก้ไขได้
ขณะที่ “ครูแดง” นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้ง พชภ. และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ตนมาทำงานอยู่ในพื้นลุ่มน้ำแม่จัน ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2517 และได้ทำงานกับชาวลีซูมาโดยตลอด ซึ่งชาวลีซู เป็น 1 ใน 6 เผ่าชาวเขาดั้งเดิม ตามนโยบายของรัฐ หมู่บ้านเฮโกเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ปีพ.ศ.2520 ตนจึงมีความมั่นใจว่าผู้เฒ่าชาวลีซู 8 คนนี้เป็นชาวเขาดั้งเดิม โดยกรณีศึกษาที่พชภ.ทำสำเร็จแล้ว คือผู้นำหมู่บ้านคนแรกของหมู่บ้านเฮโก ที่มีเอกสารจากศูนย์ชาวเขาบันทึกว่าเกิดประเทศไทย แต่ของกรมการปกครองบันทึกว่าเกิดประเทศพม่า พชภ.ได้ทำหนังสือหารือไปยังอธิบดีกรมการปกครอง ซึ่งอธิบดีฯได้มีหนังสือตอบและทำหนังเวียนถึงสำนักทะเบียนต่างๆ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 ให้ใช้หลักฐานที่บันทึกถูกต้องได้ จึงเป็นแนวทางปฏิบัติของสำนักทะเบียนทุกแห่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการทำประชาคมหมู่บ้านปรากฎว่ามีผู้เข้าร่วมในการทำประชาคม ได้แก่ ชาวบ้านเฮโก ภาคประชาสังคม ราชการและนักวิชาการ รวมทั้งสิ้นมากกว่า 100 คน สรุปผลการประชาคมได้ว่า 1. รับรองว่าผู้เฒ่าทั้ง 8 ราย เป็นชาวเขาดั้งเดิม เกิดในประเทศไทย ที่หมู่บ้านหัวแม่คำ อำเภอแม่ฟ้าหลวง ต่อมาอพยพ อยู่ที่บ้านเฮโก เมื่อ พ.ศ. 2520 แล้วตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ที่นี่ โดยไม่เคยอพยพไปอยู่ที่อื่นและรับรองการประกอบอาชีพสุจริต คือ ทำการเกษตรปลูกข้าวไร่ข้าวโพดเลี้ยงตัวเองได้
2. หน่วยงานที่มาร่วมเป็นพยานรับรองการทำประชาคม เป็นการบูรณาการความร่วมมือ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือ
อนึ่ง มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา เป็นผู้ริเริ่มในการจัดทำกรณีศึกษาทั้ง 8 รายนี้โดยรวบรวมข้อมูล ประวัติ พยานเอกสาร พยานบุคคล และเสนอต่อสำนักทะเบียนอำเภอแม่จัน ให้ดำเนินการแก้ไขข้อมูลสถานที่เกิดของผู้เฒ่าให้ตรงกับความจริง รวมทั้งเชิญ DSI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนินการและเป็นพยาน ในการทำประชาคมครั้งนี้ ซึ่งการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปคือสำนักทะเบียนอำเภอแม่จัน จะแก้ไขรายการสถานที่เกิดในทะเบียนประวัติ ทำหนังสือรับรองการเกิด ดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามระเบียบการลงรายการสัญชาติไทยพ.ศ. 2543
ทั้งนี้การบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม ภาคประชาสังคมและชุมชนในครั้งนี้ เป็นต้นแบบที่ดีที่จะให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลที่ถูกบันทึกรายการในทะเบียนบ้านผิดไปจากข้อเท็จจริง โดยใช้วิธีประชาคมหมู่บ้าน พยานเอกสารและ พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ ควรเป็นมาตรฐานที่จะดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ ได้ต่อไป