
พรรคการเมืองไทใหญ่จะไม่จดทะเบียนลงเลือกตั้ง ชี้กำหนดการเลือกตั้งไม่ชัดเจน เดินทางยากลำบากพบสมาชิกพรรค เนื่องจากเหตุการณ์ไม่ปกติในประเทศ
สำนักข่าวไทใหญ่ SHAN รายงานเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 ว่า พรรคหัวเสือซึ่งเป็นพรรคการเมืองไทใหญ่ หรือพรรคสันนิบาตรัฐฉานแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (The Shan Nationalities League for Democracy – SNLD) จะไม่จดทะเบียนพรรคการเมืองและลงแข่งขันเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่กองทัพพม่ามีแผนที่จะจัดขึ้น ขณะที่กองทัพพม่าประกาศให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องจดทะเบียนภายใน 60 วัน ไม่เช่นนั้นจะถูกยุบพรรค ทั้งนี้พรรคหัวเสือเป็นพรรคการเมืองชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด และเคยชนะการเลือกตั้ง ได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนเป็นอันดับ 3 ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2563
รายงานข่าวแจ้งว่า พรรคหัวเสือได้มีประชุมพรรคเมื่อวันที่ 16 – 17 มีนาคม 2566 โดยมีมติร่วมกันที่จะไม่จดทะเบียนพรรคการเมือง ทั้งนี้ จายเล็ก เลขาธิการของพรรคหัวเสือ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Irrawaddy ว่า เหตุผลที่ไม่ลงเลือกตั้งและจดทะเบียน เนื่องจากระยะเวลา 60 วันที่ทางกองทัพพม่าประกาศให้พรรคการเมืองจดทะเบียนนั้นกระชั้นชิดมากเกินไป และทางพรรคไม่สามารถพบปะกับสมาชิกของพรรคที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ เพื่อฟังความคิดเห็นทั้งหมดได้ ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกพรรคที่อยู่ในรัฐกะยาและรัฐคะฉิ่น เนื่องจากสถานการณ์ความมั่นคง
จายเล็ก กล่าวว่า การที่กองทัพพม่าประกาศให้พรรคการเมืองจดทะเบียนพรรคการเมืองอีกครั้ง แต่ยังไม่ได้ประกาศวันเลือกตั้ง ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมมากนัก ดังนั้นพรรคจึงตัดสินใจที่จะไม่ลงแข่งขันเลือกตั้งที่ทหารจัดขึ้น ขณะที่เมื่อสื่อพม่าถามว่า หากไม่จดทะเบียนลงเลือกตั้งแล้ว พรรคก็จะถูกยุบ สมาชิกของพรรคอาจกำลังเสี่ยงที่จะถูกจับกุม ยึดทรัพย์สิน แล้วสมาชิกของพรรคหัวเสือจะอยู่อย่างไรในสถานการณ์เช่นนั้น ซึ่งจายเล็กกล่าวว่า พรรคหัวเสือนั้น เป็นสมาชิกของคณะกรรมการเพื่อเอกภาพแห่งรัฐฉาน (Committee for Shan State Unity) และมีนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของทุกคนที่อาศัยอยู่ในพม่า
“ยังมีอีกหลายอย่างที่ทางพรรคสามารถทำได้ เช่น ในกระบวนการสันติภาพ งานสวัสดิการสังคมหรืองานวิจัย เป็นต้น โดยจะช่วยเหลือสังคมและประชาชนต่อไป เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ดังนั้น ทางสมาชิกพรรคเองเตรียมตัวพร้อมหากเกิดสถานการณ์อะไรขึ้น ทางกองทัพพม่ายังไม่ได้ทำอะไรกับพรรคการเมืองต่างๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พรรคการเมืองเหล่านั้นไม่ได้รายงานบัญชีตามที่กองทัพพม่าร้องขอ” จายเล็ก กล่าว
เมื่อถามถึงความคิดเห็นว่า พรรคชาติพันธุ์บางพรรคได้ลงทะเบียนใหม่ เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นรากฐานของประชาธิปไตย และการเลือกตั้งจะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองในปัจจุบันได้ จายเล็กกล่าวว่า เป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่าการเลือกตั้งคือทางออกของวิกฤตการเมืองในปัจจุบัน แต่คำถามคือการเลือกตั้งจะจัดขึ้นเมื่อใด อย่างไร และกฎหมายเลือกตั้งระบุว่าอย่างไร ยังไม่มีอะไรพร้อมทั้งนั้น
“ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าการเลือกตั้งไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้กับประเทศได้ ก็คงไม่ใช่คำตอบ แทนที่จะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พรรคใดพรรคหนึ่งรีบจัดการเลือกตั้ง มันจะมีความหมายมากกว่านั้น หากเราทุกฝ่าย ร่วมกันทำงานเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับและเป็นประโยชน์ต่อชาวพม่า และประชาคมระหว่างประเทศ รวมไปถึงเป็นไปตามบรรทัดฐานของระบอบประชาธิปไตย และจะนำมาซึ่งความเป็นประชาธิปไตยอย่างแน่นอนให้กับประเทศ” จายเล็กกล่าว
ทั้งนี้ ผู้นำพรรคหัวเสือหลายคนเคยถูกกองทัพพม่ากักขังอยู่ในคุกหลายปี อย่างไรก็ตาม พรรคหัวเสือได้ 42 ที่นั่งในสภาในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2563 ซึ่งเป็นจำนวนที่นั่งสูงสุดเป็นอันดับสามในระดับประเทศ นอกจากนี้ยังชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับสองรองจากพรรคเอ็นแอลดี ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2533