
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 นางวาคือชี ผู้อำนวยการเครือข่ายสันติภาพกะเหรี่ยง (Karen Peace Support Network-KPSN) ให้สำภาษณ์สำนักข่าวชายขอบถึงสถานการณ์การสู้รบในรัฐกะเหรี่ยงบริเวณชายแดนไทยพม่า พื้นที่ตรงกันข้าม อ.แม่ระมาด และ อ.แม่สอด จ.ตาก ว่าจากการปะทะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เขตเศรษฐกิจพิเศษชเวก๊กโก่ ทำให้ประชาชนต่างตื่นตกใจเนื่องจากเสียงปืนและระเบิด ทำให้ผู้หนีภัยจำนวนมากหนีกระจายอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 11 แห่ง บางแห่งก็เป็นพื้นที่คอกวัว โดยเครือข่ายสันติภาพพบว่ายังมีประชาชนอีกจำนวนมากพยายามข้ามมายังฝั่งไทยเพื่อเอาชีวิตรอด แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการให้ข้ามมาอีก มีรายหนึ่งเป็นแม่และลูกเล็ก ก็ไม่ได้ข้าม อาจเป็นเพราะเสียงปืนและลูกระเบิดจางลงบ้างแล้ว ซึ่งในวันนี้อากาศร้อนมาก มีความจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือเรื่องอาหาร น้ำดื่ม แต่ความปลอดภัยสำคัญที่สุด

“หากมีการโจมตีอีก คาดว่าคงมีผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้น เราขอให้อนุญาตประชาชนข้ามมาเพื่อเอาชีวิตรอด ขอขอบคุณทางการไทยที่ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อประชาชนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ความเป็นความตาย สำหรับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ระยะยาวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสนับสนุนจากองค์กรสากล เพราะลำพังชาวบ้านไทยในท้องถิ่นคงช่วยไม่ได้ตลอด” ผู้อำนวยการเครือข่ายสันติภาพกะเหรี่ยงกล่าว
เมื่อถามถึงที่มาของการปะทะครั้งรุนแรงในรัฐกะเหรี่ยงในครั้งนี้ นางวาคือชี กล่าวว่าพื้นที่ริมแม่น้ำเมย ที่ชเวก๊กโก่ ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าให้สัมปทานทุนจีนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ตอนนี้เป็นสถานที่ที่รับทราบกันดีในระดับนานาชาติดีว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะอาชญากรรมข้ามชาติ ต้มตุ๋นออนไลน์ แรงงานทาส และยาเสพติด เป็นเหมือนพื้นที่ที่ไร้ซึ่งกฎหมาย แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นบนแผ่นดินรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งชาวกะเหรี่ยงไม่ต้องการเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมารัฐบาลพม่าเอาใจและสนับสนุนธุรกิจสีเทาและแหล่งอาชญากรรมนี้มาตลอด ทั้งๆ ที่เป็นแผ่นดินของประชานกะเหรี่ยง
ทางด้านเพจของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน โพสเนื้อหาว่า 6 เมษายน จำนวนผู้ลี้ภัยริมแม่น้ำเมยตลอดแนว อ.แม่ระมาดและแม่สอด จ.ตาก ทวีขึ้นเป็นกว่า 8,000 คนภายในเวลากว่า 20 ชั่วโมง ขณะที่เสียงการสู้รบบนพื้นที่เมียวดีตอนเหนือดังสนั่นแต่เช้า จำนวนผู้ลี้ภัยมหาศาลที่ไหลบ่าเข้ามาในเพียงวันเดียว คือการยืนยันว่า รัฐบาลไทยไม่สมควรและไม่สามารถปล่อยให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมและจัดการกันไปตามยถากรรม โดยไม่เปิดรับความช่วยเหลือจากภาคเอกชนที่พร้อมและมีประสบการณ์มากกว่า
ด้านเพจเพื่อนไร้พรมแดน- Friends Without Borders Foundation รายงานว่า
จำนวนผู้ลี้ภัยริมแม่น้ำเมยตลอดแนว อ.แม่ระมาดและแม่สอด จ.ตาก ทวีขึ้นเป็นกว่า 8,000 คนภายในเวลากว่า 20 ชั่วโมง ขณะที่เสียงการสู้รบบนพื้นที่เมียวดีตอนเหนือดังสนั่นแต่เช้า จำนวนผู้ลี้ภัยมหาศาลที่ไหลบ่าเข้ามาในเพียงวันเดียว คือการยืนยันว่า รัฐบาลไทยไม่สมควรและไม่สามารถปล่อยให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมและจัดการกันไปตามยถากรรม โดยไม่เปิดรับความช่วยเหลือจากภาคเอกชนที่พร้อมและมีประสบการณ์มากกว่า
เพจเพื่อนไร้พรมแดน ระบุว่า นโยบายการจัดการผู้ลี้ภัยทั้งในสถานการณ์อพยพหนีภัยสงครามหรือหลบหนีการไล่ล่าจับกุม และนโยบายการต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านที่ผู้ปกครองมีพฤติกรรมเข้าข่ายอาชญากรสงคราม จำเป็นจะต้องฟันธงโดยมองภาพระยะยาวถึงอนาคตลูกหลาน ไม่ใช่เพียงผลประโยชน์ปัจจุบัน และมิใช่การปล่อยปละละเลย ให้ท้องถิ่นปฏิบัติกันไปตามยถากรรม
เพจเพื่อนไร้พรมแดนระบุว่า ล่าสุดสำนักข่าว Myanmar Pressphoto Agency (5/04/66) รายงานว่า ทหาร PDF (People’s Defence Front) จำนวน 3 คนที่เข้ามารับการรักษาตัวใน อ. แม่สอด และถูกจับกุมในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายไปเมื่อวันเสาร์ที่ 1 เมษายน 2566 ได้ถูกส่งกลับเข้าสู่มือทางการพม่าแล้ว
การเจรจาขอให้ยับยั้งการส่งกลับบุคคลทั้งสามในวันจันทร์ที่ 3 เมษายน ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่าให้กลับมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น แต่แล้วในวันที่ 4 เมษายน ทั้งหมดกลับถูกส่งตัวไปให้กับกองทหาร BGF ภายใต้อาณัติกองทัพพม่า ระหว่างพยายามหลบหนีและต่อสู้ รายหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต อีก 2 รายบาดเจ็บ ซึ่งคาดว่าหากไม่เสียชีวิตไปแล้ว ก็ต้องกำลังถูกคุมขังและเสี่ยงต่อการถูกซ้อมทรมาน
เพจเพื่อนไร้พรมแดนระบุว่า รัฐไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯมาตั้งแต่ปี 2550 มาตรา 13 ของพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ก็ระบุชัดว่า “ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย”
“น่าเสียดายที่พ.ร.บ.ดังกล่าวควรจะมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่ 22 ก.พ. 2566 แล้ว หากไม่ถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเลื่อนเวลาโดยอ้างเหตุผลเรื่องงบประมาณและความพร้อมของเจ้าหน้าที่”เพจเพื่อนไร้พรมแดนระบุ
เพจเพื่อนไร้พรมแดนระบุว่า PDF คือกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกไล่ล่าปราบปรามจนหันมาจับอาวุธขึ้นสู้ แน่นอนว่า การให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยอันเป็นหลักสากลนั้นต้องยึดถือหลักมนุษยธรรมเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ สถานะการเป็นผู้ถืออาวุธจึงทำให้บุคคลทั้งสามไม่อาจได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้ลี้ภัย
________________
ขอบคุณภาพจากเพจเพื่อนไร้พรมแดน