
สำนักข่าว Irrawaddy รายงานเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ว่า สมาชิกของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU ได้มีมติเลือกประธาน KNU คนใหม่ คือนายพาโด เคว ทู วิน ซึ่งก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธาน KNU โดยเขาจะดำรงตำแหน่งต่อจากนายพลมูตู เซพอ นอกจากนี้ยังมีสมาชิกและตำแหน่งสำคัญของ KNU อีก 45 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งในการประชุมใหญ่ของ KNU ในครั้งนี้
นายพาโด เคว ทู วิน นั้นเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ย่างกุ้ง โดยเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานกองพลที่ 4 ของ KNU ระหว่างปี 2533 ถึง 2555 เขาได้รับเลือกเป็นเลขาธิการทั่วไปของ KNU ในการประชุมใหญ่ของ KNUครั้งที่ 15 ซึ่งการประชุมใหญ่ของ KNU นั้น จะจัดการประชุมทุกๆ 4 ปี เพื่อเลือกผู้นำคนใหม่

ในสมัยที่อยู่ในตำแหน่งเลขาธิการของ KNU นายพาโด เคว ทู วิน เคยเข้าร่วมการลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศระหว่างยุครัฐบาลนายพลเต็งเส่งกับ KNU ในเดือนตุลาคม ปี 2558 ต่อมาในปี 2560 เขาได้รับเลือกเป็นรองประธาน KNU ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 16 อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า กองพลที่ 2 และกองพลที่ 5 ของ KNU ไม่ได้ร่วมลงคะแนนเลือกประธานคนใหม่และไม่ได้เสนอชื่อผู้สมัครในตำแหน่งดังกล่าวด้วย
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ของ KNU กองพลที่ 5 เสนอว่าการประชุมใหญ่ควรจัดขึ้นหลังจากการสอบสวนข้อกล่าวหาว่าผู้นำ KNU บางคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการเมืองใหม่ KK Park ที่เมียวดีซึ่งมีจีนหนุนหลังใกล้กับชายแดนไทย-พม่าและกลายเป็นข่าวฉาวโฉ่ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการค้ามนุษย์และการหลอกลวงทางออนไลน์ตั้งแต่รัฐประหารปี 2564

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารกลาง KNU ยังคงดำเนินการประชุมต่อไป แม้ว่าจะมีการเสนอให้ตรวจสอบผู้นำทั้ง 5 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับโครงการ KK Park ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองชาวกะเหรี่ยงบางคนกล่าวหาว่าประธาน KNU คนใหม่นั้น อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในรายชื่อของผู้นำที่ถูกตรวจสอบก็ตาม
ผู้สังเกตการณ์การเมืองกะเหรี่ยงยังแสดงความเป็นห่วงว่า ผู้นำของ KNUที่อนุมัติโครงการ KK Park นั้นอาจได้รับเลือกให้เป็นผู้นำคนใหม่อีกครั้ง หากเป็นเช่นนั้น พวกเขาจะไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับผู้นำ KNU ที่พัวพันโครงการ KK Park ของทุนจีน และอาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากมากมายต่อความสัมพันธ์ระหว่าง KNU กองพลที่ 5 และคณะกรรมการบริหารของ KNU โดยหากทางกองพลที่ 5 ไม่ไว้วางใจในความเป็นผู้นำของส่วนกลางอีกต่อไป อาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆตามมาได้อีกด้วย

ขณะที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์กรกะเหรี่ยง 68 องค์กรจากทั่วโลกส่งจดหมายเปิดผนึกถึง KNU เรียกร้องให้คณะกรรมการบริหารส่วนกลางทั้งหมดลาออก เนื่องจากไม่สามารถลงโทษผู้นำ KNU บางคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ KK Parkได้
ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารของ KNU ประกอบด้วย 14 กระทรวง รวมทั้งฝ่ายป้องกันประเทศ กิจการภายใน กระทรวงยุติธรรมและป่าไม้ นอกจากนี้ยังมีองค์กรติดอาวุธ 3 กลุ่มเช่น กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง และกองกำลังตำรวจแห่งชาติกะเหรี่ยง