
องค์กร SHAN STATE FRONTLINE INVESTMENT MONITOR (SSFIM) ได้ออกรายงานเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 เปิดเผยว่า บริษัท Natural Current Energy Hydropower Company (NCEH) ของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ได้เร่งก่อสร้างเขื่อนน้ำตู้ ขนาด 210 เมกะวัตต์ ซึ่งห่างจากเมืองสี่ป้อไปประมาณ 20 กิโลเมตร ขณะที่เขื่อนแห่งนี้ถูกชุมชนในพื้นที่ต่อต้านมาโดยตลอด เนื่องจากไม่มีความโปร่งใส และกระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่
องค์กร SSFIM ระบุว่า นับตั้งแต่ที่บริษัทของว้าได้ลงนามตกลงอย่างเป็นทางการกับกรมพลังงานไฟฟ้าและการวางแผน รัฐบาลทหารพม่า (SAC) ที่กรุงเนปิดอร์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 ซึ่งได้เร่งดำเนินการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ เช่น มีรถบรรทุกจำนวนมากขนวัสดุจากเมืองล่าเสี้ยว อีกทั้งมีคนงานจีนมากกว่า 100 คนซึ่งพูดภาษาพม่าหรือภาษาอื่นๆไม่ได้เข้ามายังในพื้นที่ ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนี้น่าจะได้รับการสนับสนุนจากประเทศจีนด้วย
ทั้งนี้บริษัท NCEH ได้เริ่มงานก่อสร้างพื้นฐานของเขื่อนในปี 2560 หลายปีก่อนจะมีการให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการต่อโครงการจากรัฐบาลพม่า และก่อนที่จะมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยจากการเปิดเผยของกลุ่มปฏิบัติการแม่น้ำรัฐฉานใน (Action for Shan State Rivers) รายงาน เมื่อปี 2563 ที่ระบุว่า บริษัท NCEH ได้เริ่มถางทำลายพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างผิดกฎหมาย สร้างถนนเข้าไปในพื้นที่เขื่อน และก่อสร้างห้องแถวทำด้วยคอนกรีตเป็นที่พักของคนงาน
ระหว่างปี 2561 และ 2562 นางคำเอ สส.ของเมืองน้ำตู้ จากพรรคสันนิบาตรัฐฉานแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (SNLD) ได้เคยตั้งกระทู้ถามในรัฐสภาที่กรุงเนปิดอว์ รวมไปถึงเรียกร้องให้ยุติโครงการเขื่อนน้ำตู้ แต่รัฐบาลพม่าไม่มีการดำเนินงานอย่างจริงจัง
บริษัท NCEH ของว้า ระบุในเว็บไซต์ว่า ทำงานด้านการออกแบบและลงทุนและดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แต่กลับไม่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับโครงการอื่นๆ นอกจากเขื่อนน้ำตู้ บริษัทของว้ายังได้สัมปทานในการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า ความยาว 47 ไมล์ขนาด 230 กิโลโวลต์จากเขื่อนน้ำตู้ไปเขื่อนเยหว่าตอนบน (Upper Yeywa dam) ในเมืองจ๊อกเมอีกด้วย แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลใด ๆ ต่อสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงไม่มีการเปิดเผยว่า ทางบริษัทของว้านั้น จะหาทุนสนับสนุนโครงการที่มีมูลค่ามหาศาลเหล่านี้ได้อย่างไร เฉพาะโครงการเขื่อนน้ำตู้ต้องใช้เงินมากถึง 436 ล้านเหรียญ
เขื่อนน้ำตู้ (Namtu dam) ขนาด 210 เมกะวัตต์ เป็นเขื่อนที่สามที่จะสร้างในแม่น้ำตู้จาก 5 เขื่อน นอกจากความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับเขื่อนนี้แล้ว ทางชุมชนในพื้นที่ยังแสดงความกังวลในด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมหลายด้าน ในรายงานด้านผลกระทบ EIA ของบริษัท MyAsia Consulting เคยระบุไว้ว่า พื้นที่เกษตรจำนวน 875 ไร่และหมู่บ้านบางส่วนจะจมอยู่ใต้น้ำ
ผลกระทบด้านท้ายน้ำยังรวมถึงการที่ตะกอนจะไม่ไหลไปสะสมที่ริมฝั่งด้านท้ายน้ำ การลดลงของกระแสน้ำซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบอุทกวิทยาด้านท้ายน้ำ ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ และความปลอดภัยของเขื่อน โดยเฉพาะหากเกิดกรณีที่เขื่อนแตก ซึ่งชุมชนเมืองสี่ป้ออยู่ห่างไปเพียง 20 กิโลเมตร โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งของเมืองก็เสี่ยงจะถูกน้ำท่วม หากมีฝนตกหนักจนน้ำเอ่อล้นออกมาจากแม่น้ำ หรือการปล่อยมวลน้ำจำนวนมากในครั้งเดียวกัน ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนโดยรอบ
นอกจากนี้ SSFIM ยังตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดถึงได้มีการอนุญาตให้สร้างเขื่อนนี้ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง เพราะในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนนั้น มีการเคลื่อนไหวของหลายกลุ่มกลุ่มติดอาวุธ ทั้งกลุ่มที่ยังต่อต้านกองทัพพม่าและกลุ่มที่ทำสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่า และกลุ่มที่จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้คือกองทัพว้า และกองทัพพม่าที่ยึดอำนาจมาอย่างผิดกฎหมาย
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา 13 กลุ่มภาคประชาสังคมของรัฐฉานได้ออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธต่างๆในพื้นที่ รวมไปถึงพรรคการเมืองหันกลับมายืนข้างประชาชนโดยการยุติสร้างเขื่อนบนแม่นำตู้ ความพยายามที่จะก่อสร้างเขื่อนต่อไปและการขาดความโปร่งใส จะส่งผลกระทบในด้านการสร้างประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐที่รัฐต่างๆ กำลังพยายามสร้างขึ้น
ขณะที่สำนักข่าว Me Kong News ระบุว่า ทางกองทัพว้า เตรียมเปิดศึกทุกพื้นที่ต่อกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA ของเจ้ายอดศึก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดแต่อย่างใดจากกองทัพทั้งสองฝ่าย โดยกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ลงนามหยุดยิงกับกองทัพพม่า ได้ร่วมประชุมกันที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 17 – 18 พ.ค. 66 นี้ ในช่วงหนึ่ง มีการออกมาเปิดเผยว่า แผนขั้นตอนดำเนินงานด้านสันติภาพนั้นไม่เป็นไปตามแผนและต้องสะดุด เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในพม่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ลงนามทั้งหมดจะพยายามใช้การเมืองแก้ปัญหาการเมือง