วันที่ 25 มิถุนายน 2566 เซพอ ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงให้สัมภาษณ์ว่า เธออพยพมาที่ไทยช่วง เดือนพฤษภาคม ปี 2565 ช่วงหลังรัฐประหาร ย้ายมากัน 6 คน คือสามี และลูก 4 คน สาเหตุที่อพยพมาอยู่ศูนย์ผู้ลี้ภัยที่ประเทศไทยหลังจากที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร เนื่องจากสงคราม พื้นที่ทำกินได้รับผลกระทบ ชีวิตตอนนั้นพอรู้ข่าวจะมีการสู้รบเกิดขึ้น ต้องอพยพหนีเข้าป่าทุกวัน ตอนดึก ส่วนช่วงเย็นๆ พอกลับเข้ามาบ้าน ก็มีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในพื้นที่ วินาทีนั้นพ่อแม่ ๆ ประชาชนคนอื่นๆ หอบเด็ก ๆ แล้ววิ่งหนีตายกัน บ้านหลายหลังถูกไฟไหม้หมด บางวันต้องหลบในถ้ำ เป็นที่ที่มืดมาก ช่วงดึกลูก ๆ บอกว่ารู้สึกหนาวสั่น พึ่งรู้ตัวอีกทีว่าลูกนอนบนน้ำ มันมืดมากจนมองไม่เห็น เครื่องบินถล่มทั้งคืน 3 วัน 3 ไม่ได้กินข้าว เด็ก ๆ ร้องไห้ ตลอด ผู้ใหญ่ต้องกินน้ำแทน ผู้ใหญ่ต้องแอบออกไปเอาอาหารสำเร็จรูปมาให้เด็กกิน ตอนนั้นพยายามหลบทุกวินาที คิดว่าตัวเองจะตายที่นั่นแล้ว วินาทีนั้นไม่ได้มีความคิดที่จะมาที่นี่ประเทศไทยเลย บ้านบางหลังถูกกองทัพพม่าทิ้งระเบิด ถูกเผาจนตายกลายเป็นถ่าน เลยตัดสินใจว่าไม่สามารถอยู่พม่าอีกต่อไป
“จึงเลือกที่จะอพยพออกมา ต้องเดินขบวนเป็นแถวออกมา ถ้าเครื่องบินผ่านพวกเราต้องหยุดเป็นช่วง ๆ ต้องเดินมา 2-3 เดือน จนกว่าจะมาถึงชายแดนไทย-พม่า การตัดสินใจมาอยู่ค่ายผู้ลี้ภัยสงคราม บางวันไม่ได้กินข้าว เพราะการดูแลช่วยเหลืออาจจะไม่ทั่วถึง บางวันก็นั่งคิดว่าทำไมชีวิตต้องลำบากขนาดนี้ ในปัจจุบันอยากมีอาชีพอย่างน้อยให้เรามีเงินประทังชีวิตได้ เพราะมาตัวเปล่าไม่มีอะไรเลย บางวันท้อแท้จนรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย ถ้าเหตุการณ์การสู้รบสงบลง อยากกลับถิ่นฐานบ้านเกิด แต่ปัจจุบัน ที่ดินทำกินนั้นถูกทำลายไปหมด และในขณะนี้ ต้องคิดเพื่อลูก ต้องอยู่กับลูก ๆ เพราะปัจจุบันลูก ๆไปโรงเรียนที่ศูนย์ผู้ลี้ภัย อำเภอแม่สอดจังหวัดตาก หวังให้พวกเขามีอนาคตที่ดี” พอเซกล่าว
ดร.ชยันต์ วรรณะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมพูดคุยในงาน In-Between ชีวิตติดกับ ซึ่งจัดขึ้นที่ไทยพีบีเอส เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก 2566 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา โดย ดร.ชยันต์กล่าวว่าจากประสบการณ์ในการทำงานวิจัยในค่ายผู้ลี้ภัย เมื่อค.ศ.2015 ทาง UNHCR เตรียมการสำรวจผู้ลี้ภัยในค่ายว่าจะเลือกเส้นทางใดในการแก้ไขปัญหาชีวิตของพวกเขาเอง คือ 1.จะเดินทางไปยังประเทศที่ 3 หรือไม่ 2.เดินทางกลับประเทศต้นทาง 3.อาศัยอยู่ในชุมชนที่เข้ามาบูรณาการในประเทศไทย
ดร.ชยันต์กล่าวว่า ทางอาสาสมัคร (อสม.) เห็นว่าการเตรียมการดังกล่าวยังไม่มีส่วนร่วมของผู้ลี้ภัยเท่าที่ควร จึงให้ UNHCR เข้าไปทำวิจัย และสิ่งที่ได้รับทราบคือ 1.ทางเลือกที่ผู้ลี้ภัยจะไปยังประเทศที่ 3 แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะโควตาในการเดินทางไปประเทศที่ 3 มีจำกัด 2.ส่วนที่กลับไปประเทศต้นทางของตนเองนั้นก็มีปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง เช่น นโยบายของทางรัฐบาลพม่าในช่วงนั้นก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีแผนการในการเตรียมรับคนของเขาอย่างไร ส่วนใหญ่ผู้ลี้ภัยเองก็มีความรู้ ทั้งนี้ได้มีการส่งคนกลับไปดูพื้นที่ที่พวกเขาอพยพมานั้นมีสภาพเป็นอย่างไร พบว่าปัญหาที่จะกลับไปคือปัญหาเรื่องของที่ทำกิน เพราะการที่พวกเขามาจากหมู่บ้านของเขา เมื่อ 30 – 40 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนอื่น ๆ เอาที่ดินไปทำกินบ้าง หรือสิทธิทางกฎหมายที่จะครอบครองที่ดินไม่ได้รับการยอมรับ เพราะไม่มีกฎหมายที่ดินอย่างชัดเจน
ดร.ชยันต์กล่าวว่า 3.พื้นที่หลายแห่งยังมีการสู้รบกันอยู่ และบางพื้นที่ก็ยังมีกับระเบิดฝังอยู่ เพราะฉะนั้นความไม่มั่นคงในการกลับไปจึงทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากไม่ได้เลือกทางที่จะเดินทางกลับประเทศต้นทางด้วยความสมัครใจ แต่หลังจากนั้นก็มีประชากรหลายพันคนที่ได้เดินทางอพยพเดินทางกลับบ้านไปด้วยความสมัครใจ โดยไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ไกลจากชายแดนไทยนัก และมีผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่ง หาวิธีการที่จะกลับไปในพื้นที่ของตนเอง ผู้ลี้ภัยทยอยกลับไปบ้าง แต่เป็นจำนวนไม่มากนัก บางคนกลับไปแล้วก็กลับมา ในบางพื้นที่ในบางค่ายก็มีความพยายามที่จะปรับตัวที่จะเข้ามาอยู่ในสังคมไทย
ดร.ชยันต์กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าในบรรดากลุ่มผู้ลี้ภัยก็ไม่ได้นั่งรอความช่วยเหลือจากยูเอ็นอยู่เสมอไป มีนักเรียนเป็นจำนวนมากที่ได้รับการศึกษาในค่าย ซึ่งในบางค่ายก็มีการเปิดโรงเรียนระดับมัธยม นักเรียนที่ได้รับการศึกษาในค่ายก็มีความรู้ดีพอสมควร สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างดีและพูดภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ บางคนพูดภาษาพม่าได้ หรือพูดภาษาไทยได้ ในขณะที่ประเทศต้นทางเองก็ยังไม่มีแนวทางชัดเจน
“ในขณะนี้มีผู้ลี้ภัยโดยอ้างอิงตัวเลขจากยูเอ็นกว่า 90,000 คน ในจำนวนนี้มีคนที่มีศักยภาพ ถ้าเรามองเขาเป็นเพียงผู้ลี้ภัยก็มีนัยยะที่จะปล่อยให้เขาอยู่ในค่าย ออกเดินทางจากนอกค่ายไม่ได้ เฝ้ารอความช่วยเหลือจาก UNHCR เราควรเปลี่ยนทัศนะและยอมรับคนเหล่านี้ ว่าพวกเขาเป็นคนที่มีศักยภาพ ใช้มุมมองทางด้านการพัฒนา โดยมองคนเหล่านี้คือสถานะเป็นทรัพยากรมนุษย์หรือเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าเรามองแบบนี้ จะทำให้คนเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน
ดร.ชยันต์ กล่าวว่าเป็นเรื่องที่เราต้องตั้งคำถามกันจริงจังคือคนเหล่านี้ที่อยู่ในค่ายทั้ง 9 อาศัยอยู่ที่นี่เกือบ 30 กว่าปีแล้ว อาจจะมีหลาย Generation ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐบาลพม่ายังไม่มีกลไกจะทำให้ความขัดแย้งลดน้อยลง ผู้หนีภัยที่อยู่ในค่ายเหล่านี้เท่ากับเราจับพวกเขามาไว้ในสถานที่ที่แม้ไม่เหมือนคุก แต่การอยู่ในค่ายนานๆ สภาวะจิตใจของเขาก็มีความรู้สึกถูกกดดัน มีคนที่พยายามจะฆ่าตัวตาย แม้กระทั่งยาเสพติด ปัญหาการลดลงของความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชนให้กับผู้ลี้ภัย
“ถึงเวลาที่พวกเราทุกคนควรทบทวน ความคิดของเราเกี่ยวกับคนเหล่านี้ และไม่ควรมองว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย ควรมองว่าเขาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพที่จะทำได้ ทางฝ่ายองค์กรพัฒนาเอกชนก็ควรจะนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ให้กับทางพรรคการเมืองต่างๆ ตอนนี้มันถึงเวลาที่เราจะต้องมาทบทวนนโยบาย”ดร.ชยันต์ กล่าว
ขณะที่ พญ.ซินเทีย หม่อง แพทย์หญิงชาวกะเหรี่ยงผู้ก่อตั้งแม่ตาวคลินิก อ.แม่สอด จ.ตาก และผู้ได้รับรางวัลแม็กไซไซ กล่าวว่าตนเองหนีมาฝั่งไทยเมื่อเกิดเหตุรัฐประหารในพม่า เมื่อปี 1988 และทำงานด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนในไทยและพม่าต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ในขณะที่เข้ามาเมืองไทยที่ชายแดนเวลานั้น พรมแดนไทยพม่าเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียรุนแรงที่สุดในโลก คนไข้ส่วนใหญ่เป็นโรคมาลาเรีย มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
พญ.ซินเทียกล่าวว่า การยึดอำนาจในพม่าและความรุนแรงบังคับให้คนหนุ่มสาวต้องละทิ้งบ้าน ประชาชนชาวพม่าต้องหนีภัยความตาย ในขณะนั้นเรามีบุคลากรทางการแพทย์ที่จะดูแลผู้ลี้ภัยและประชาชนตามแนวชายแดนเพียงไม่กี่คน เราจึงเริ่มดำเนินการอบรมบุคลากรสาธารณสุขเพื่อเพิ่มความสามารถการดูแลให้แก่ประชาชน ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม 1 ผู้พลัดถิ่นภายใน (Internally Displaced Persons-IDPs) ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามแต่ยังคงอยู่ในพม่า 2 ผู้ลี้ภัยที่อาศัยในค่ายพักพิงชั่วคราวตลอดพรมแดนไทย และ 3 แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร
“ทั้ง 3 กลุ่มนี้เราดูแล สถานการณ์ในพม่าบังคับให้เกิดกลุ่มเหล่านี้ขึ้นเรื่อยๆ เราได้พยายามอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อส่งไปดูแลประชาชน กว่า 2,000 คน เราอบรม 30 ปีที่ผ่านมา เราทำงานเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือไปยังชุมชนภายในพม่าด้วย ตลอดจนกรณีการเข้าถึงระบบสาธารณสุขข้ามพรมแดนที่เชื่อมกับโรงพยาบาลและสถานพยาบาลในไทย เจ้าหน้าที่ของเราคือแนวหน้าที่ดูแลป้องกันโรคติดต่อข้ามพรมแดน และแจ้งให้แก่สาธารณสุขไทยเพื่อป้องกัน เราเรียนรู้จากไทยว่าการทำงานที่สำคัญคือการสร้างความร่วมมือ การทำงานกับสถานพยาบาลในไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อสุขภาพของประชาชนที่ชายแดน” พญ.ซินเทีย หม่อง กล่าว