ความคืบหน้ากรณีที่เด็กนักเรียนอายุ 5-16 ปี จำนวน 126 คนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์จากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6(ราษฏร์อุปถัมภ์) อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ถูกส่งตัวกลับพื้นที่ต้นทางที่จังหวัดเชียงราย เพื่อส่งตัวให้ผู้ปกครองและผลักดันออกนอกประเทศ ภายหลังจากที่มีการดำเนินคดีกับนางกัลยา ทาสม ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ในข้อหานำพาและย้ายไปปฏิบัติงานที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอ่างทอง โดยล่าสุดเด็กๆทั้ง 126 คนถูกนำตัวไปยังสถานสงเคราะห์ 5 แห่งในจังหวัดเชียงราย เพื่อรอผู้ปกครองมารับและบางส่วนถูกส่งตัวกลับประเทศพม่า อย่างไรก็ตามการดำเนินการครั้งนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเนื่องจากเด็กๆกลุ่มนี้ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันและการผลักดันอาจทำให้เด็กกลับไปสู่อันตราย
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 นางกัลยา ทาสม ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ปฏิบัติงานที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอ่างทอง ให้สัมภาษณ์ว่า ตนรับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งขณะนั้นมีนักเรียนอยู่ 12 คน เมื่อหารือกับผู้เที่ยวเกี่ยวข้องแล้วมีทางออกคือการไปรับเด็กจากที่อื่น ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำมานานแล้ว 20-30 ปี จึงได้ติดต่อศิษย์เก่าบนดอยแม่สลอง โดยชุดแรก 35 คน ซึ่งได้ทำเรื่องตามระบบ โดยบันทึกข้อมูลเด็กไม่มีเอกสารทะเบียนราษฎร์โดยไม่มีปัญหาใดๆจนได้เอกสารตัว G
ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 กล่าวว่า ในปีนี้ได้มีการประสานงานเพื่อรับเด็กมาเรียนอีกครั้ง ซึ่งก็ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังมูลนิธิวัดสระแก้วเช่นเดิมเพื่อให้ดูแล จนรับเด็กมาได้ 72 คน ซึ่งเดิมทีต้องการเด็กเพียง 40 คน แต่มีผู้ปกครองที่ทราบข่าวต้องการให้เด็กๆได้มาเรียนที่นี่จำนวนมากเพราะมีการบอกต่อๆกัน รวมทั้งเด็กๆก็ต้องการมาเรียน เมื่อเด็กๆมาถึงก็ทำกระบวนการเช่นเดิม แต่ครั้งนี้มีการตั้งคำถามจากสำนักงานเขตพื้นที่ฯเพราะเห็นว่ามีเด็กจำนวนมากขึ้นเยอะ และมีการลงมาตรวจสอบเพราะมีการร้องเรียนจากบุคลากรบางคนในโรงเรียน ในที่สุดทางเขตการศึกษาบอกว่าถ้าไม่มีเอกสารก็ขอให้ส่งเด็กกลับ ซึ่งตนเองก็เตรียมที่จะส่งกลับแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจึงมีการไปแจ้งความและกลายเป็นเรื่องที่บานปลายไปเรื่อยๆ
“เด็กๆส่วนใหญ่มีทั้งที่อยู่ฝั่งไทยและเดินทางข้ามมาจากฝั่งพม่า บางคนก็มีพ่อแม่เป็นคนไทย ที่น่าเสียใจคือพอเกิดเรื่องทำให้เด็กๆทั้งหมดต้องออกจากเรียนกลางคัน ทั้งเด็กเก่า เด็กใหม่ มันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง พวกเขาควรได้เรียน เราเองก็ตอบคำถามผู้ปกครองไม่ได้ ดิฉันรู้สึกผิดมากที่เห็นเด็กๆไม่ได้เรียนต่อ ตอนนี้โรงเรียนก็ต้องปิด ทั้งๆที่กระบวนการทุกอย่างเป็นไปโดยถูกต้อง ผู้ปกครองของเด็กๆต่างก็ได้ทำหนังสือรับรองอนุญาตให้มาเรียน”นางกัลยา กล่าว
ในวันเดียวกันที่โรงแรม The Heritage อ.เมือง จ.เชียงราย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.)ได้จัดเสวนา “ร่วมมือแสวงหาแนวทางการรับมือการจัดการสถานะบุคคลต่อสถานการณ์ผู้ลี้ภัยการอพยพของประชาชนจากเมียนมา” โดยผู้เข้าร่วมเป็นผู้รู้เรื่องงานสถานะบุคคลซึ่งมีทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ผู้แทนยูนิเซฟ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ส.ส. และตัวแทนฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กรมการปกครอง
ทั้งนี้ นอกจากการหารือเรื่องงานสถานการณ์การอพยพของประชาชนจากฝั่งพม่าและพูดถึงทางออกของปัญหาแล้ว หลายคนในที่ประชุมยังได้วิพากษ์วิจารณ์ กรณีที่หลายหน่วยงานของไทยขนย้ายเด็กๆ 126 คนจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จ.อ่างทองมาอยู่ในสถานสงเคราะห์ จนทำให้เด็กๆไม่ได้เรียนหนังสือต่อ ซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายคุ้มครองเด็ก
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าควรมีการเตือนสติกระทรวงศึกษาธิการว่ากำลังสับสนเรื่องภารกิจของตัวเอง และกำลังกังวลว่ามีอีกหลายกรณีที่รับเด็กนักเรียนลักษณะเดียวกันไปเรียนและจะเกิดปัญหาตามมาเช่นกัน เพราะเดิมทีผู้อำนวยการหลายโรงเรียนก็ไม่กล้ารับเด็กอยู่แล้วเพราะกลัวว่าเป็นการให้ที่พักพิงและผิดกฎหมาย ดังนั้นควรมีการสำรวจว่ามีโรงเรียนแบบนี้มีอีกกี่แห่ง และขณะนี้มีเด็กอีกนับพันคนที่หนีภัยการสู้รบเราควรปฏิบัติกับเด็กเหล่านี้อย่างไร
นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.พรรคเป็นธรรม กล่าวว่าจริงๆแล้วเรื่องนี้มีกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องคือ พรบ.คุ้มครองเด็ก และ พรบ.คนเข้าเมือง แต่หน่วยงานราชการเลือกใช้แต่ พรบ.คนเข้าเมือง ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ดังนั้นควรเอาเรื่องคุ้มครองเด็กไปไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือหากปล่อยไปเช่นนี้ก็ต้องยกระดับขึ้น ขณะเดียวกันหลักการไม่ส่งเด็กกลับเป็นเรื่องจารีตระหว่างประเทศที่ไม่มีใครทำกัน ดังนั้นการส่งเด็กๆกลับไปในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
นายวีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าเด็กๆไม่ควรถูกออกจากระบบการศึกษาแม้จะไม่มีหลักฐานใดๆก็ตามซึ่งเป็นหน้าที่ที่กระทรวงศึกษาต้องออกเลขรหัส G-code ให้ ซึ่งกรณีนี้เด็กทั้ง 126 คน ทางโรงเรียนก็ได้ขอรหัสนี้ให้ แต่ไม่ได้รับ ที่ตนไม่เข้าใจคือทำไมถึงต้องส่งเด็กกลับเพราะเด็กควรมีสิทธิเรียนในโรงเรียนใดก็ได้
“การจะเอาผิดกับผู้อำนวยการโดยตั้งข้อหานำพา และการให้เด็กได้เรียน เป็นคนละเรื่องกัน ถ้าเอามารวมกันก็วุ่นวาย กรณีนี้ผู้อำนวยการก็มีเอกสารยินยอมจากผู้ปกครองให้เด็กๆมาเรียนถูกต้องตามขั้นตอน”นายวีระ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากเสร็จสิ้นการเสวนา ผู้ร่วมเสวนา เช่น นางเตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิ พชภ. นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายกัณวีร์ ได้เดินทางมายังบ้านพักฉุกเฉินขอมูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่ ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ได้นำเด็กนักเรียน 35 คนที่เดินทางมาจาก จ.อ่างทอง มาฝากไว้เพื่อรอติดต่อผู้ปกครองและส่งกลับ
ทั้งนี้เด็กๆหลายคนเป็นเด็กอยู่บนดอยแม่สลอง บางส่วนเป็นเด็กจากฝั่งพม่า โดยส่วนใหญ่บอกว่ายังต้องการเรียนหนังสือต่อ แต่คงหมดโอกาสโดยเฉพาะเด็กที่ข้ามมาจากฝั่งพม่า ส่วนเด็กในฝั่งไทยก็อาจจะเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน สาเหตุที่เดินทางไปเรียนถึงจังหวัดอ่างทอง เพราะเคยมีรุ่นพี่ๆไปเรียนแล้ว จึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร และได้รับการดูแลเป็นอย่างดี