เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Eisenhower Fellows (EF) จัดเสวนาทางวิชาการ ฬ.จุฬาฯ Seminar Series หัวข้อ “ตบปากด้วยกฎหมาย : สู่การมี Anti-SLAPP Law ในประเทศไทย?” โดยมีเวทีสัมมนา “ประสบการณ์จากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูก SLAPP” มี นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการในคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับสูญหาย ,นายนคร ชมพูชาติ ทนายความสิทธิมนุษยชน ,น.ส.สมพร เพ็งค่ำ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ และ น.ส.ภัสราวดี ธนกิจวิบูลย์ผล นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เข้าร่วม และดำเนินรายการโดย ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางอังคณา นีละไพจิตร กล่าวว่า ในประเทศไทยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังไม่มีนิยามว่าคือใคร แต่ถูกตีความหมายว่าเป็นผู้มีอคติต่อรัฐขัดขวางการพัฒนา เมื่อไหร่ก็ตามหากมีความพยายามปกป้องสิทธิมนุษยชนคนกลุ่มนี้ก็ควรได้รับการปกป้องเช่นกัน
“ปี 2565ที่ผ่านมามีรายงานว่าในต่างประเทศนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกฆ่ามากกว่า 1,300 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ชาติพันธุ์พื้นเมือง 40เปอร์เซ็นต์ถูกคุกคามทางกฎหมายเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดี โดยประเทศละตินอเมริกามีจำนวนสูงสุด รองลงมาคือเอเชียและแปซิฟิค ส่วนในไทยมีรายงานรวบรวมตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน พบว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกคุกคามมากกว่า500คน ซึ่งเป็นผู้ทำงานด้านที่ดิน สิ่งแวดล้อม และพรบ.ชุมนุม” นางอังคณา กล่าว
กรรมการในคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับสูญหาย กล่าวอีกว่า การฟ้องปิดปากในไทยที่หลายคนอาจจะพอทราบคือกรณีบริษัทฟาร์มไก่ฟ้องแรงงานข้ามชาติ 14ราย หลังแรงงานข้ามชาติร้องเรียนกับกรรมการสิทธิมนุษยชนว่าถูกละเมิด ทางบริษัทยังได้ฟ้องกลุ่มคนที่ทำงานด้านสิทธิ นักวิชาการ สื่อมวลชน และอดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) รวม 23 คน 39 คดี โดยมีบางคนถูกฟ้องมากกว่า 2 คดี
“โดยส่วนตัวเมื่อยังเป็น กสม.ขณะนั้น แค่ทวิตข้อความว่ายืนเคียงข้างนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยุติการดำเนินคดี ก็ถูกฟ้องไปด้วย 2 คดี ตอนนั้นช่วงโควิด ศาลใช้เวลาไต่สวน 3 ปี กระทั่งศาลรับฟ้องใช้เวลาสืบพยาน เปลี่ยนผู้พิพากษา 4 องค์คณะ ที่น่าเป็นกังวลคือการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ความพยายามต่อการใช้กฎหมายฟ้องปิดปากสิ่งแรกที่เราต้องทำคือหาเงิน เพื่อใช้ในการจ้างทนาย เดินทางไปศาล ประกันตัว ถ้าเป็นชาวบ้านต้องกู้หนี้ เกิดความเปราะบางระหว่างการพิจารณาของศาล 1-2 ชั่วโมงที่ดิฉันต้องถูกนำไปใต้ถุนศาลอยู่ร่วมกับผู้ต้องหาคดีฆ่าคนตายและยาเสพติด ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ทางจิตใจ ประเมินไม่ได้เลย” นางอังคณา กล่าว
ทั้งนี้นางอังคณา เสนอแนะว่ากฎหมาย Anti Slapp ควรมุ่งเน้นความคุ้มครอง ฟื้นฟูเยียวยาจิตใจ สนับสนุนทุนคุ้มครองพยาน และกฎหมายต้องบัญญัติคุ้มครองทุกมิติ
นายนคร ชมพูชาติ ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงประสบการณ์การถูกฟ้องปิดปากเริ่มจากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนประเทศฟินแลนด์ปกป้องผู้บริโภค ตรวจสอบสินค้าที่ส่งไปจากไทยมีการละเมิดสิทธิแรงงานหรือไม่เพื่อจะได้รณรงค์ไม่ซื้อสินค้า
“ถ้าเป็นบริษัทอื่นเขาจะยินดีที่มีข้อมูลเพื่อนำมาปรับปรุง แต่กับบริษัทนี้มีน้องชายเป็นนักการเมือง และเป็นบริษัทค่อนข้างใหญ่ แล้วมีความรู้สึกเจ็บแค้นว่าการทำอย่างนี้เป็นการกลั่นแกล้ง การฟ้องร้องเลยส่งผลเสียต่อตัวเขาเองในต่างประเทศ ลักษณะของคดีมีการคุกคามคนงานต่างด้าว การเดินทางไปศาลของเจ้าของมีผู้ติดตามมากมาย คดีนี้บริษัทแพ้ทางเทคนิคศาลยกฟ้อง ทางเราเลยตั้งทนายฟ้องกลับศาลก็ยกฟ้องอีก เขาก็ฟ้องอีกเป็นคดีแพ่งสุดท้ายก็ยกฟ้องอีก ผมคิดว่ยากที่กฎหมายจะยับยั้งการฟ้องปิดปากเพราะสุดท้ายผู้ถูกฟ้องจะต้องเข้าไปในกระบวนการที่เขาคิดว่ามีปัญหาอยู่ดี ต้องคิดค้นด้านกฎหมายกันต่อไปว่าจะมีกลไกในการใช้กฎหมายที่จะทำให้ปกป้องเรื่องนี้ได้จริงๆอย่างไร” ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าว
ด้าน น.ส.สมพร เพ็งค่ำ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ กล่าวถึงกรณีที่เข้าไปทำวิจัยเมื่อ 10 ปีก่อนแล้วโดนบริษัทเหมืองแร่ฟ้องปิดปากข้อหาหมิ่นประมาท เนื่องจากงานวิจัยดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่เป็นเอกสารให้ชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง
“เมื่อศาลนัดไกล่เกลี่ยก็ได้คุยกับบริษัท ยังถามเขาเลยว่าฟ้องทำไมเพราะเราเป็นนักวิจัยสังกัดรัฐทำตามหน้าที่ คำตอบคือข้อมูลที่ทำมี impact สูงได้ถูกนำไปใช้ การไกล่เกลี่ยบริษัทขอให้แก้ไขข้อความว่าผลกระทบที่ลงนั้นไม่จริง ทำหนังสือถึงผู้นำชุมชนบอกข้อมูลที่ระบุไม่จริง ก็เลยตกลงกันไม่ได้ เมื่อมีการไต่สวนมูลฟ้องเอาข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายมาคุยสุดท้ายศาลไม่รับฟ้อง เพราะเราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจตามหน้าที่เจตนาปกป้องชีวิตประชาชนจริงๆ ฉะนั้นสิ่งที่เราโดนเลยรู้สึกว่าพอถูกฟ้องมีผลเลยคือนำไปสู่ความกลัวและความกังวล กรณีสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เราคนเดียว นักวิชาการ ชาวบ้าน ภาคประชาชนก็โดนฟ้อง แม้กระทั่งนักข่าวเองทีไปทำข่าวก็โดนฟ้องเพื่อไม่ให้สื่อสารเรื่องนี้ออกไป” น.ส.สมพร กล่าว
นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคมกล่าวอีกว่า เสรีภาพทางวิชาการสำคัญมาก ประเทศจะเดินไปได้ต้องอาศัยความรู้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้วใช้ชุดข้อมูลในการตัดสินใจพัฒนาเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
“แต่เมื่อมาฟ้องปิดปากทำให้ทุกอย่าง low profile แหล่งทุนก็กังวลว่าให้ไปจะเป็นอย่างไร การตั้งโจทย์วิจัยทุกคนควรมีสิทธิแสวงหาคำตอบ ค้นคว้าข้อมูล ควรมีเสรีภาพในการเผยแพร่ข้อมูลนั้นๆ และทุกคนควรมีเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล” น.ส.สมพร กล่าว
ในขณะที่ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักปกป้องสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2558 ในวาระครบรอบ 1ปีรัฐประหาร ก่อนจะออกมาเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัวในปี 2559-2560
“การออกมาเคลื่อนไหวติดป้าย ถูกตั้งคำถามจนนำมาสู่การถูกคุกคามจากรัฐ มีเจ้าหน้าที่ 2กลุ่ม หนึ่งคือเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายมาตรา 44 ของคสช. บุกเข้าไปถึงคณะ คุยกับคณบดีว่าจะพาดิฉันและเพื่อนอีก4คนไป ในขณะที่เจ้าหน้าที่อีกกลุ่มหนึ่งเป็นการพยายามหาช่องทางกฎหมายให้จบๆ ไป ซึ่งเจ้าหน้าที่กลุ่มที่2เข้าถึงก่อน แล้วแจ้งข้อหา พรบ.ทางหลวง เพื่อไม่ให้นักศึกษาทั้ง 5 คนถูกดำเนินคดี ซึ่งมายด์ถูกดำเนินคดี 15คดี อยู่ในศาลชั้นต้น 3 คดี ยกฟ้องแล้ว 2 คดี กรณีฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน และพรก.ฉุกเฉินร้ายแรง โดยถูกตัดสินว่าผิด 1 คดี กรณีพรบ.ชุมนุมเมื่อวันที่ 7ส.ค. หน้าสน.บางเขน” น.ส.ภัสราวดี กล่าว
น.ส.ภัสราวดี กล่าวว่า ศาลพิพากษาให้มีความผิดจากการแชร์โพสต์เชิญชวนจากเพจเยาวชนปลดแอก ตัดสินให้จำคุก 2 เดือนรอลงอาญา 2 ปี จนทำให้สงสัยว่าตกลงแล้ว พรบ.ชุมนุม ออกมาเพื่ออะไร
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีข้อเสนอหลายประการ อาทิ การตรากฎหมายแก้ปัญหาฟ้องปิดปาก หรือปรับปรุงกฎหมายเพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือฟ้องปิดปาก และยังมีการเสนอว่าการแก้กฎหมายอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องทำอย่างอื่นไปพร้อมๆกัน เช่น ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และให้ความรู้ความเข้าใจต่อบุคคลในกระบวนการยุติธรรม เพราะหลายกรณีเป็นเรื่องของผู้ใช้กฎหมายใช้ดุลพินิจได้ในการไม่รับฟ้อง นอกจากนี้ยังได้มีข้อเสนอให้เยียวยาต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกฟ้องซึ่งมีผลกระทบไปถึงจิตใจด้วย เพราะถูกตีตราจากสังคม ทั้งๆที่การแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
—————-