เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หลายหน่วยงานภาครัฐ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ร่วมกันผลักดันเด็กจำนวน 126 คนของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร์กลับประเทศพม่าเนื่องจากเข้าเมืองผิดกฎหมาย ว่า พม่าไม่ใช้ดินแดนที่ปลอดภัยและไม่มีโรงเรียนดีๆใครๆก็รู้ รวมทั้งไม่ใช่ตลอดแรงงานที่ดี จึงเห็นข่าวจำนวนมากที่เล่าเรื่องผู้ลี้ภัยจากพม่า หรือนักเรียนที่ข้ามแดนมาเรียนจากฝั่งพม่า หรือแรงงานที่ข้ามชาติจากพม่าเข้ามาทำงานในประเทศไทย
ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าวว่า หลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยประโยชน์สูงสุดของเด็ก เป็นเรื่องแรกที่ถามกันเสียงดังว่า การอพยพเด็กออกจากโรงเรียนที่อ่างทองไปรอการส่งกลับที่ชายแดนไทยเมียนที่เชียงราย เป็นความคิดที่ถูกต้องต่อหลักกฎหมายนี้จริงหรือไม่ กรมกิจการเด็กและเยาวชน(ดย.)ของรัฐไทยรอตอบคำถามในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ ได้เลยว่าการไม่มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่จังหวัดอ่างทองหรืออย่างใด
“เราเคยเห็นเด็กไร้สัญชาติจากพม่าจำนวนมากมายที่จบการศึกษาที่อ่างทอง แล้วก็มาเรียนที่ธรรมศาสตร์ แล้วก็กลับไปพัฒนาพม่าในยุคของท่านอองซานซูจี และก็ต้องกลับมาประเทศไทยอันเนื่องมาจากการรัฐประหารในพม่า พอฝุ่นหายกระจาย ก็พบว่า เด็กๆ จากอ่างทองส่วนหนึ่ง เป็นเด็กไร้สัญชาติในเชียงรายเอง ตอนนี้ก็ทราบแล้วว่า มาจากโรงเรียนไหนบ้าง ก็ควรจะรีบรับเด็กไปเรียนต่อ การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้แก่เด็ก ควรที่เอ็นจีโอด้านเด็กจะต้องรวมตัวกันเพื่อส่องตะเกียงเจ้าพายุไปที่เด็กที่เสียโอกาสทางการศึกษาในประเทศนี้ การทำอะไรเงียบๆไม่น่าจะมีความสำเร็จในการคุ้มครองเด็กด้อยโอกาส กฎหมายคุ้มครองเด็กในระดับพระราชบัญญัติและในระดับอนุสัญญา ก็เข้มแข็งมากที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยที่ทำลายโอกาสทางการศึกษาในครั้งนี้ของเด็กๆ”รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ กล่าว
ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าวว่า อีกเรื่องหนึ่งที่อยากตะโกนเสียงดังคือ หลักกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องตลาดแรงงานที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งรัฐบาลไทยตั้งแต่ยุคที่นายบรรหาร ศิลปะอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็คิดออกว่า การเปิดตลาดแรงงานไร้ฝีมือที่ขาดแคลนให้คนจากพม่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ของรัฐไทยก็คิดออกตั้งแต่ พ.ศ.2535 ว่า ถ้าจะจับคนจากพม่าที่เข้าเมืองผิดกฎหมายในแต่ละวัน คงไม่มีห้องกักเพียงพอ ดังนั้นการเอาพวกผู้ใหญ่มาขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อทำงานในตลาดงานไร้ฝีมือที่ยากลำบาก ส่วนเด็กๆ ก็ให้เรียนตามมาตรฐานการศึกษาแบบสากล จึงเป็นเหตุให้มีทายาทรุ่นสองจากเมียนมามาทำงานกึ่งไร้ฝีมือหรือมีฝีมือจำนวนมากในนิคมอุตสาหกรรมชายทะเล ความขาดแคลนแรงงานในตลาดไทยจึงพอแก้ไขในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมา
“ใครๆก็รู้ว่าแรงงานจากพม่าจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทยที่มีแต่ผู้สูงวัยมากขึ้นทุกวัน และคนหนุ่มสาวทิ้งไปอาศัยในต่างประเทศ ระบบการขึ้นทะเบียนแรงงานไร้ฝีมือที่สร้างออกมาอย่างดีใน พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน ก็ทำให้กระทรวงแรงงานของรัฐไทยก็เข้าใจการจัดการคนพม่าเข้าเมืองผิดให้เป็นถูก จึงสงสัยมากว่า ระบบราชการอีกส่วนที่อ่างทอง หรือที่ ดย.ลืมประสบการณ์ในส่วนนี้ของรัฐไทยไปได้อย่างไร สงสัยจริงๆ”ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าว
รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์กล่าวว่า เรื่องที่คาใจคนสอนกฎหมายมากคือ มีความตกลงในเสาหลักอาเซียนทางสังคมและวัฒนธรรมในเรื่องการพัฒนาเด็กอาเซียน ดังนั้นก่อนจะอพยพเด็กจากอ่างทอง คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่อ่างทอง มีโอกาสคิดถึงพันธกรณีตามกฎบัตรอาเซียนนี้หรือไม่ แล้วมาที่เชียงราย ได้มีการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดเชียงรายหรือไม่
“มีหลายคำถามทางกฎหมายคุ้มครองเด็กที่ควรตอบ ทั้งในระดับโลกและอาเซียน ขอเตือนว่า ถ้าคนทำงานคุ้มครองเด็กในระดับจังหวัดและระดับชาติ ลืมไปว่า กฎหมายดังกล่าวมีอยู่ ก็เตรียมตัวรับผิดชอบในทางระหว่างประเทศได้เลย การรีบผลักเด็กออกไปให้พ้นหูพ้นตา ไม่ใช่ผลงานที่ดีหรอก แก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนอย่างที่ทำกันในช่วง พ.ศ.2553 เป็นต้นมา จะดีกว่า จึงควรกลับไปทบทวน”ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เด็กนักเรียน 126 คนที่ถูกนำมาพักไว้ที่บ้านเด็กต่างๆ 5 แห่งในจังหวัดเชียงราย ได้ถูกส่งกลับประเทศพม่าด้านด่านแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย เกือบหมดแล้ว ที่เหลือถูกนำมาพักอยู่ที่บ้านเด็กและครอบครัว ใน อ.แม่จัน อย่างไรก็ตามมีเด็กบางส่วนต้องการที่จะเดินทางกลับเข้ามาเรียนในโรงเรียนฝั่งไทยอีก แต่ยังไม่มีหน่วยงานของรัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีฐานะยากจนและต้องการที่มาอยู่โรงเรียนประจำที่มีที่พักด้วย เพราะไม่สะดวกที่จะเดินทางข้ามแดนไปเช้า-เย็นกลับ
ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า ในจำนวนเด็ก 126 คนพบว่ามี 54 คนที่เคยเรียนในโรงเรียนฝั่งประเทศไทยก่อนที่จะย้ายไปอยู่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 โดยเด็กเหล่านี้ได้รหัส G แล้ว นั่นหมายความว่ารัฐไทยได้เคยจัดเงินอุดหนุนให้ตามระเบียบโดยมีการลงทะเบียนเอกสารหลักฐานต่างๆไว้แล้วตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ แต่เมื่อเกิดเรื่องขึ้นและมีการอ้างความผิดตาม พรบ.คนเข้าเมือง ทำให้เด็กๆต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ทำให้เห็นถึงความสับสนในการใช้กฎหมายแต่ละฉบับ
เด็กนักเรียนรายหนึ่ง อายุ 11 ปี อยู่ชั้น ป.2 ซึ่งเป็น 1 ในจำนวน 126 คนที่ต้องออกเรียนกลางคันจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 กล่าวว่า ตนถูกส่งกลับไปที่ท่าขี้เหล็ก ฝั่งพม่าได้ราว 1 สัปดาห์แล้ว แต่อยากกลับไปเรียนที่ฝั่งไทยอีก อย่างไรก็ตามอาจจะไปเรียนที่โรงเรียนแห่งเดียวกับพี่ชาย ตนอยากเรียนให้จบสูงๆ รู้สึกเสียใจมากที่ออกจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 เพราะอยู่ที่นั่นสนุก และคิดถึงเพื่อนๆและผู้อำนวยการโรงเรียนที่ใจดี