เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ที่ทำการอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย นายอริยะ เพ็ชร์สาคร ที่ปรึกษาด้านกฎหมายมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา( พชภ.) พร้อมบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลจากหมู่บ้านหัวเวียง ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ ประกอบด้วย นางบัวเงิน พรหมวิเศษ นางด้าย บัวละผัด บุคคลไร้สัญชาติ พร้อมสามีชาวไทย ได้ยื่นความจำนงค์ขอจดทะเบียนสมรส ต่อนายสุพจน์ ลังกาวีระนันท์ ปลัดอำเภอฯ (ฝ่ายทะเบียนและบัตร) โดยนายอริยะ กล่าวว่า กรณีการจดทะเบียนสมรสเป็นประโยชน์ต่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะและส่งผลให้บุตร ธิดา ได้สัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและมารดา
นายอริยะ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นกรณีตัวอย่างในการเดินหน้าแก้ปัญหาสถานะบุคคลที่ทาง พชภ.และภาคีเครือข่ายเร่งขับเคลื่อนเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นี้ พชภ.จะมีการจัดงาน “วันผู้เฒ่าไร้สัญชาติแห่งลุ่มน้ำโขง” ณ โรงเรียนบ้านห้วยเอียน อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เพื่อเร่งขับเคลื่อนประเด็นปัญหาสถานะบุคคลต่อไป
“การแก้ไขปัญหาสถานะทางบุคคลไม่ได้มุ่งเพื่อให้ได้บัตรประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีชีวิตอยู่อาศัย ในประเทศไทย อย่างมีความมั่นคงและมีสุขภาวะที่ดี และลดอคติทางสังคม” นายอริยะ กล่าว และว่าจำนวนผู้ที่อายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไปที่มีปัญหาสถานะบุคคลในพื้นที่ อำเภอเทิง เชียงของ เวียงแก่น เชียงแสน แม่ฟ้าหลวง และแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนเท่าที่สำรวจได้ขณะนี้มีทั้งหมด 2,790 คน แบ่งเป็น 5 กลุ่มได้แก่ 1. กลุ่มตกหล่นจากทะเบียราษฏร์ 2. กลุ่มอพยพที่อยู่ในพื้นที่ประเทศไทยมานานกว่า 15 ปี 3. กลุ่มที่เป็นผู้เฒ่ารอแปลงสัญชาติเป็นไทย 4. กลุ่มผู้เฒ่าที่ถือบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือ บัตรเลข 0 และ 5. กลุ่มผู้เฒ่าที่ถือบัตรผิดไปจากข้อเท็จจริง คือ กลุ่มที่เข้ามาประเทศไทยนานแต่ตกสำรวจแล้วขึ้นทะเบียนเป็นบัตรแรงงานข้ามชาติ
“กลุ่มตกหล่น มีประมาณ 400 คน ปัญหาหลักของกลุ่มนี้ คือ ไม่มีชื่อ ไม่มีเอกสารทางทะเบียนคือจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกแบบ ทั้งรักษาพยาบาล การถือครองทรัพย์สิน สิทธิการก่อตั้งครอบครัว การเดินทาง สิทธิทางการเมือง ที่ผ่านมามีคนกลุ่มนี้จะพยายามยื่นคำร้อง แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุมัติเพราะยังระแวงเรื่องการอนุมัติที่ผิดพลาด ทำให้กลุ่มนี้ยังไม่มีใครได้รับสิทธิในการครองที่อยู่อาศัยในพื้นที่ประเทศไทยเลยสัก
ขณะที่นางด้าย บัวละผัด บุคคลไร้สถานะอายุ 64 ปี กล่าวว่าตนแต่งงานกับสามีชาวไทยมานาน 44 ปี มีบุตรด้วยกัน 4 คน แต่ยังไม่เคยกล้าเดินทางไปต่างจังหวัดเลยสักครั้ง ทั้งๆ ที่ลูกเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดกันหมด แต่ตนก็ไม่กล้าลงไปเยี่ยมลูก เพราะกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะจับกุมข้อหาบุคคลต่างด้าว แต่พอมาวันนี้ได้จดทะเบียนสมรสแล้ว น่าจะพอช่วยทุเลาปัญหาได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็มีหลักฐานชัดเจนว่า ตนเป็นผู้ปกครองของลูกที่มีสัญชาติไทยและมีสามีคนไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ด้านปรีชา ร้อยแก้ว ผู้ประสานงานโครงการแก้ปัญหาสถานะบุคคลและสุขภาวะผู้เฒ่าไร้สัญชาติ กล่าวว่า ในงานผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ปีนี้จะมีการเปิดเสวนาเรื่องคลินิกกฎหมายให้คำปรึกษาเรื่องสถานะบุคคลเพื่อให้ความรู้แก่บุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะ โดยภายในงานยังมีนิทรรศการ และการแสดงของชาติพันธุ์พื้นเมือง อาทิ ม้ง เย้า กะเหรี่ยง มูเซอฯ เพื่อนำเสนอประเพณีและวัฒนธรรมอีกออกสู่สาธารณะ และเพิ่มโอกาสการเผยแพร่ข่าวสารกลุ่มคนที่ตกหล่นอยู่มุมมืดของสังคมไทย ที่รอการช่วยเหลือจากทุกคน
——————-
หมายเหตุ-กำหนดการงานวันคนเฒ่าไร้สัญชาติมีดังนี้
กำหนดการ
08.30 – 09.00 น. ลง ทะเบียน
09.00 – 09.20 น. พิธีเปิด
09.20 – 10.30 น. เวทีเสวนา “ภูมิปัญญาผู้เฒ่า” โดยผู้เฒ่าชนเผ่าต่างๆ
10.30– 12.30 น. เวทีนำ เสนอข้อมูลสภาพปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ข้อเสนอเชิงนโยบายและภาคปฏิบัติ ตอบคำถามโดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง นำเสนอโดย ตัวแทนชาวบ้านผู้ประสบปัญหา
ร่วมรับฟังและนำเสนอ แนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน โดยประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางแก้ไขปัญหา การไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย วุฒิสภา ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผู้แทนคณะ นิติศาสตร์ มหาวิทยลัยแม่ฟ้าหลวง ดำเนินรายการโดย คุณเตือนใจ ดีเทศน์
12.30 น. มอบของที่ ระลึกสำหรับผู้เฒ่า (ตามที่ได้รับการสนับสนุน)
รับประทานอาหาร กลางวันร่วมกัน
ภาคบ่าย ร่วมกิจกรรม ซุ้มดูแลสุขภาพผู้เฒ่า คลินิกกฎหมาย
ชมนิทรรศการและการ แสดงภูมิปัญญาผู้เฒ่าชาติพันธุ์