Search

ทวงคืนอำนาจจัดการที่ดิน ชาวบ้านน้ำซับคำป่าหลายจัดกิจกรรมขับเคลื่อน

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566  กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จัดกิจกรรม “คืนถิ่นแผ่นดินราษฎร ทวงคืนอำนาจการจัดการทรัพยากรที่ดิน” บริเวณบ่อน้ำซับคำป่าหลาย ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร โดยมีการบอกเล่าถึงขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้และจัดเวทีเสวนา นอกจากนี้ยังมีแถลงการณ์โดยระบุว่ากลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายเกิดจากการรวมตัวกันพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ต.คำป่าหลาย จ.มุกดาหาร ที่ลุกขึ้นมาปกป้องที่ดินทำกินและแผ่นดินถิ่นเกิดจากนโยบาย โครงการพัฒนาและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

แถลงการณ์ระบุว่า นับเป็นเวลา 9 ปีแล้วที่ราษฎรกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายถูกนโยบาย โครงการพัฒนาและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของรัฐและทุนแย่งยึดที่ดินทำกินไป  ภายหลังจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีแนวนโยบายต่อเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป  ด้วยการใช้คำสั่งของเผด็จการแทนกฎหมายที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน  โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแย่งยึดที่ดินทำกินจากนโยบายทวงคืนผืนป่าด้วยการใช้คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 เป็นแนวทางปฏิบัติ  ทำให้ราษฎรจำนวนมากถูกดำเนินคดีและถูกกักขังอันเนื่องจากทำกินในที่ดินเดิม  และอีกจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องเกี่ยวกับนโยบาย โครงการพัฒนาและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเรื่องอื่นๆ ก็ถูกติดตามและโดนข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง  

“ราษฎรกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากนโยบายทวงคืนผืนป่าที่แย่งยึดที่ดินทำกินของเราไป  ระลอกแรกบริษัทเอกชนยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองหินทรายในเขตป่าสงวน  พวกเราได้เคลื่อนไหวคัดค้านจนสามารถยับยั้งการขอประทานบัตรดังกล่าวได้  พวกเรากดดันต่อสภาเทศบาลตำบลคำป่าหลายให้มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ไม่อนุญาตให้ทำเหมืองหินทรายในที่ดินป่าชุมชนหรือที่ดินกรรมสิทธิ์ส่วนรวมของพวกเรา  เพราะเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม” แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ระบุว่า ระลอกสองได้มีการใช้คำสั่ง คสช. กลั่นแกล้งพี่น้องราษฎร ในช่วงระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2561 เจ้าหน้าที่ป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติการอย่างเข้มข้นโดยสนธิกำลังทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ไถทำลายอาสินและพืชผล และแจ้งความดำเนินคดี  ทำให้ชาวบ้านร้องเรียนต่อผู้ว่าราชจังหวัดมุกดาหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ  จนมีการสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหา จนกระทั่งวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 มติคณะทำงานแก้ไขปัญหาจังหวัดมุกดาหารก็ได้มีมติให้ราษฎรสามารถเข้าทำกินได้  ยกเลิกการแจ้งความดำเนินคดี  ยกเลิกแปลงปลูกป่า  โดยยอมรับว่าการตรวจยึดที่ดินทำกินของเราเป็นการตรวจยึดที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจริง

แถลงการณ์ระบุว่า ระลอกสาม ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาจากนโยบายทวงคืนผืนป่า  ก็มีโครงการพลังงานทางเลือกตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เข้ามากระทำซ้ำ  เมื่อปลายปี 2565 โดยบริษัทเอกชนได้ยื่นขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงหมูแปลง 2 เพื่อดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม  ซึ่งต่อมากรมป่าไม้ได้อนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนฯ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566  ทั้งที่กระบวนการยื่นคำขอไม่ถูกต้องตั้งแต่ขั้นตอนแรก ไม่มีการทำประชาคมหมู่บ้านก่อนยื่นต่อสภาเทศบาลตำบล ไม่มีการตรวจสอบพื้นที่และกำหนดขอบเขตที่จะตั้งโครงการให้ชัดเจน ไม่มีการตรวจสอบสภาพป่าก่อน และพื้นที่โครงการได้ทับที่ดินทำกินทั้งที่อยู่ในและนอกพื้นที่พิพาทที่กำลังอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 กรมป่าไม้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารเพื่อขอให้พักใบอนุญาตโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมของบริษัทเอกชนดังกล่าว เพราะอาจทำผิดเงื่อนไขแนบท้ายการอนุญาต 

“จาก 3 กรณีที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีการกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อแย่งยึดที่ดินทำกินของเราไป ทำให้ราษฎรไม่มีความมั่นคงในที่ดินทำกิน สูญเสียโอกาส ขาดรายได้ สูญเสียซึ่งสิทธิและเสรีภาพในวิถีชีวิตและความเป็นอยู่มาตลอด 9 ปีเต็ม วันนี้จึงขอประกาศ คืนถิ่นแผ่นดินราษฎร ทวงคืนอำนาจการจัดการทรัพยากรที่ดิน เพราะที่ดินคือวิถีชีวิตของราษฎรผู้หว่านไถ  ที่ดินคือความมั่นคงของราษฎร  ที่นโยบายรัฐและทุนพยายามพรากสิทธิและเสรีภาพไปจากเรา  ถึงเวลาแล้วที่ราษฎรจะเป็นเจ้าของแผ่นดิน  กลับมาเป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเอง  เพื่อปลูกอาสิน พืชผล และหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการต่อสู้บนผืนแผ่นดินของราษฎร  นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” แถลงการณ์ระบุ

นายอดิศักดิ์ ตุ้มอ่อน ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าวว่า ปัญหาในพื้นที่ ต.คำป่าหลาย มี 2 ประเด็นคือ 1. พื้นที่คำป่าหลาย ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และ 2.พื้นที่นี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ที่มีหมุดหมายจากคำสั่ง คสช.ให้ไล่รื้ออย่างเข้มข้น

“คณะกรรมการจังหวัดลงมาตรวจสอบพื้นที่แล้ว พบว่าพื้นที่ของชาวบ้านที่อยู่มาก่อนปี 2557 ถูกเหมารวมว่าเป็นพื้นที่นายทุน เราเรียกร้องให้มีการยกเลิกคดีเพื่อให้พี่น้องเข้าทำการเพาะปลูกได้ มีการแจ้งดำเนินคดีเมื่อเดือน ตุลาคม 2559 หลังจากนั้นเพียงไม่ถึง 1 เดือนก็มีการไล่ชาวบ้านออก ต่อมามีมติจากสภาเทศบาลไม่อนุญาต มันมีความย้อนแย้งประเด็นนี้คือทวงคืนผืนป่าเพื่อเพิ่มเหมืองแร่ แล้วมีการตัดต้นยางของชาวบ้านไปแล้ว 300 กว่าต้น”นายอดิศักดิ์ กล่าว

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →