Search

เปิดใจ “กัลยา ทาสม” ผอ.รร.ไทยรัฐวิทยา 6 เรือจ้างที่ถูกจม

ใบเบิกทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากวัฏจักรความยากจนอย่างยั่งยืนในสังคมโลกทุกวันนี้ไม่ใช่การถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 แต่คือวุฒิการศึกษา ที่สามารถการันตีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

การศึกษา จึงเป็นมากกว่าวาระแห่งชาติที่ทุกประเทศทั่วโลกเล็งเห็นความสำคัญ อย่างน้อยๆ คือการสร้างทรัพยากรบุคคลเพื่อไปพัฒนาสังคมชาติในอนาคต

การผลักดันเด็กนักเรียนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จ.อ่างทอง ที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฏร์ 126 คน ให้กลับประเทศพม่าในระหว่างที่สถานการณ์บ้านเมืองยังคงมีสงคราม จึงเกิดคำถามถึงการบังคับใช้กฎหมายของไทยและชำแหละให้เห็นว่าทัศนคติเรื่องสิทธิมนุษยชนในระดับสากลของรัฐไทยว่ามีอยู่แค่ไหน

การส่งเด็กซึ่งมีอายุระหว่าง 6-14 ปีให้กลับไปเผชิญภาวะสงคราม 

การกีดกันไม่ให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาโดยแทบไม่มีโอกาสได้กลับมาเรียนหนังสืออีก

และการบังคับใช้กฎหมายแจ้งความดำเนินคดีกับบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 รวม 5 คน ข้อหาเป็นผู้ติดต่อและให้ที่พักพิง สะท้อนให้เห็นว่าผู้บังคับใช้กฎหมายละทิ้งหลักมนุษยธรรมเพื่อสนองนโยบายเอาใจใครหรือไม่

การเปลือยตัวเองให้เห็นจุดยืนของรัฐไทย ทำให้ทั่วโลกต่างสงสัยว่าระหว่างชีวิตคนกับผลประโยชน์ การผลักดันเด็กนักเรียน 126 คนออกในครั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากกว่า

นางกัลยา ทาสม ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 เป็น 1 ใน 5 ของผู้ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี เล่าย้อนไปหลังเกิดเหตุว่าทางมูลนิธิไทยรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นสังกัดได้พูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ช่วยดูแลโรงเรียนไทยรัฐวิทยา แต่ระหว่างนั้นคงเกิดการสื่อสารที่ผิดพลาดอะไรบางอย่าง 

“เมื่อ สพฐ.สั่งงานไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทางสำนักงานเขตฯ ก็ลงไปดูแล้วเห็นนักเรียนที่ไม่มีสัญชาติไทย ใน อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง อาจจะไม่เคยพบ ทั้งๆ ที่การนำเด็กไม่มีสัญชาติไทยมาเข้าเรียนเป็นปกติตามประเพณีทางกฎหมายที่ได้ปฏิบัติกันมา ทางสำนักงานเขตฯ เลยนำข้อมูลที่ได้รับไปปรึกษากับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่ทำเกี่ยวกับเรื่องเด็ก จากนั้นวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2566 ทุกหน่วยงานก็มีการประชุมกันก่อน เบื้องต้นตกลงกันว่าจะส่งเด็กกลับ ผอ.กับสถานศึกษาก็ได้เตรียมรถแล้ว เรียกมาจวนจะถึงอยู่แล้ว ผอ.ก็เลยนึกถึงอาจารย์ท่านหนึ่งที่เคยทำเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย ท่านก็บอกว่าส่งเด็กกลับไม่ได้เพราะเด็กมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดก็สั่งนายอำเภอให้ระงับการส่งเด็กกลับ เรื่องก็เงียบไปเราก็คิดว่าไม่มีอะไรแล้ว พอวันที่ 6 มิถุนายน ทุกหน่วยก็มาอีกครั้ง คราวนี้มีคนเยอะกว่าเดิม เหมือนว่าจะมาจับกุม แยก ผอ. แยกเด็ก ไปสอบปากคำ ผอ.ประมาณ 3 ชั่วโมง ตั้งแต่วันนั้นก็เอาเด็กไปอยู่ในความดูแลของ พมจ. ส่วน ผอ. ก็ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ที่เขตฯ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที ห้ามเข้าโรงเรียน ห้ามพบเด็ก” นางกัลยา ย้อนความถึงต้นเหตุการณ์

ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 บอกด้วยว่าหลังจากวันนั้นพยายามติดต่อกับเด็กนักเรียนอยู่ตลอด โดยมีการแยกเด็กไปอยู่ในสถานที่ต่างๆ 5 แห่ง ก่อนหน่วยงานรัฐจะแอบส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้าน 

“เด็กบอกว่าอยากกลับมาโรงเรียนแล้ว เราก็พยายามปลอบพวกเขาว่ารอให้เขาเคลียร์เอกสารเสร็จก่อน แต่ก็ยังไม่ได้กลับ จึงทำหนังสือขอความช่วยเหลือไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอีกหลายๆ ที่ จนมาได้รับความช่วยเหลือจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ก็ได้ทำหนังสือมาถึงผู้ว่าราชการจังหวัด พอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ บอกว่าให้รอหนังสือตอบกลับมา เราก็รู้สึกว่าเด็กคงไม่ได้กลับมาแล้ว ในที่สุดเด็กก็ถูกส่งกลับ เขาเอาเด็กกระจายไป 5 จุด แล้วทยอยส่งกลับ แม้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงพื้นที่ไปบอกว่าให้ชะลอการส่งกลับ ก็ไม่เป็นผล มีการแอบส่งเด็กกลับทุกวัน จนกระทั่งเหลือ 4 คน ที่ไม่มีพ่อแม่ติดต่อมารับ” น้ำเสียงของผู้อำนวยการโรงเรียนสะท้อนถึงความเจ็บปวดที่ไม่สามารถช่วยเหลือลูกศิษย์ได้

ส่วนเรื่องการถูกดำเนินคดีนั้น นางกัลยา ไม่เคยคิดว่าการช่วยเหลือให้เด็กไม่มีสัญชาติได้รับการศึกษาจะทำให้วันนี้ต้องกลายเป็นผู้ต้องหา

“เป็นครั้งแรกเลย ผอ.ก็ตกใจ มันเป็นอะไรทำไมเราถึงต้องมาโดนอย่างนี้ เพราะเราตั้งใจจะให้เด็กได้รับการศึกษา บางคนก็ถามว่าทำไมถึงต้องมาไกลขนาดนี้ ที่ต้องมาไกลเพราะก่อนจะมาเป็น ผอ. ไทยรัฐวิทยา 6 เป็นคนพื้นเพ จ.เชียงราย โดยกำเนิด มีโอกาสได้สัมผัสกับเด็กพวกนี้ตั้งแต่บรรจุเป็นครูดอย ได้ช่วยเหลือและเห็นว่าเขาขาดโอกาส ไปหานักเรียนบนดอยแม่สลอง จ.เชียงราย และไปหาที่ จ.น่าน ได้นักเรียนมาชุดแรก 35 คน หลังจากนั้นก็มีเด็กที่อยากจะมาเรียนหนังสือเพิ่มมากขึ้น ไม่คิดว่ามันจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ยอดนักเรียน 126 คนที่เห็นว่าเยอะๆ ก็ไม่ใช่เพิ่งมาใหม่ทั้งหมด เป็นเด็กที่ย้ายมา 20 คน เด็กเก่า 34 คน แล้วเด็กที่มาใหม่ 72 คน ข่าวเลยรวมเป็น 126 คน ซึ่งเป็นเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาแล้ว 54 คน ที่เหลือเป็นเด็กที่จะเข้ามาเรียนในการศึกษานี้ 72 คน” ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 แยกแยะตัวเลขเด็กทำให้เห็นถึงการหว่านแหของหน่วยงานรัฐที่ทำให้เด็กๆ ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่พลอยติดร่างแหไปด้วยกันหมด

แม้จะถูกแจ้งความดำเนินคดีตามความผิด พรบ.คนเข้าเมือง แต่สิ่งที่ทำให้ความเป็นครูถูกสั่นสะเทือนมากที่สุดคือ การเห็นเด็กนักเรียนโดนกฎหมายบังคับให้ต้องออกจากระบบการศึกษาไปต่อหน้าต่อตา

“คำถามว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อมาโดนคดีแบบนี้ สิ่งที่กังวลใจมาตลอดเลยก็คือ รู้สึกแย่ที่ทำให้เด็กเสียโอกาส แล้วมี 20 คนที่เพิ่งย้ายมา รู้สึกว่าทำให้เด็กขาดโอกาสตรงนี้ไป แล้วเขาถูกผลักดันออกไป โอกาสที่เขาจะกลับมาเรียนโรงเรียนเดิมมันมีไหม หรือว่ามีมากน้อยเพียงใด สังคมรู้อยู่แล้วว่าเด็กที่โดนผลักดันกลับไปจะมีโอกาสกลับเข้ามาในระบบการศึกษาน้อยมาก มันทำให้เรารู้สึกว่าเราทำให้เขาเป็นแบบนี้ รู้สึกมันแย่ มันบาป มันผิดอยู่ในใจเรา สำหรับเด็กใหม่ก็ยังไม่ค่อยจะเท่าไรเพราะเขายังไม่เคยอยู่ในระบบ แต่อาจจะทำให้เขาเสียความตั้งใจว่าอยากเรียน ทุกวันนี้ก็ยังติดต่อกับเด็ก ตามเรื่องการเรียนให้เด็ก พยายามจะให้เขาเข้ามาสำหรับเด็กที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว”

การที่นางกัลยา ถูกแจ้งความดำเนินคดีในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบวงกว้างไปยังโรงเรียน และศูนย์การเรียนต่างๆ ทั่วประเทศที่รับเด็กไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร์ โดยเฉพาะโรงเรียนและศูนย์การเรียนตามแนวชายแดน

“ด้านกฎหมาย อะไรที่เราทำผิดขั้นตอนหรือว่าข้ามขั้นตอน จุดที่มันผิดเราก็ยอมรับว่าเราผิดในเรื่อง พรบ.คนเข้าเมือง แต่ พรบ. 3 ฉบับ มันก็ควรจะให้น้ำหนักเท่ากัน พรบ.การศึกษา พรบ.คนเข้าเมือง ซึ่งกฎหมายค้านกันเอง พอมันค้านกันเองผู้ปฏิบัติอย่างเราก็มาโดนข้อหาตอนนี้ แล้วโรงเรียนอื่นจะโดนไหม มันกระทบเป็นวงกว้าง อย่างการศึกษาของเณร ว่าถ้าใครจะเข้าในระบบต้องสึกออกมาก่อน

“ยิ่งถ้า ผอ.ได้รับโทษในคดีต่อไป เด็กเหล่านี้แม้ว่าจะติดตามผู้ปกครองมา เป็นลูกแรงงานก็คงไม่มีโอกาสเข้ามาในระบบการศึกษาเพราะน่าจะได้รับการปฏิเสธจากทุกโรงเรียน กลัวตรงนี้มาก ข้อหานี้ทำให้โรงเรียนน่าจะระวังมากขึ้นในการรับเด็กเข้าศึกษา อย่างโรงเรียนเก่าของ ผอ. มีเด็กติดตามพ่อแม่มาเรียนแล้วโรงเรียนพยายามเอาเข้าระบบ ทางสำนักงานเขตไม่ให้เข้า โรงเรียนก็ต้องโอบอุ้มกันไป บางโรงเรียนก็ไม่รับเลย พอเรามาโดนแบบนี้เราก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นให้คำแนะนำเครือข่ายของเราหรือคนรู้จักได้ว่าถ้าเด็กอยู่เกิน 6 เดือนแล้วให้ไปทำบัตร เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อคนอื่นจะได้ไม่ต้องโดนเหมือนเรา 

“เดือนแรกที่เด็กโดนเอาไป ไม่ใช่ดูแลนะ ผอ.ขออนุญาตเรียกว่ามันเป็นการกักขังเด็กมากกว่า ไปไหนก็ไม่ได้ เราจะไปหาเด็กก็ไม่ได้ เด็กโทรมาร้องไห้กับเราบ้าง โดนเขาว่า โดนเขาด่า ว่าเป็นต่างด้าว จิตใจเด็กก็แย่ จิตใจเราก็แย่ เชื่อไหมว่า ผอ.ขับรถไปทำงานตอนเช้าไปที่สำนักงานเขต พอถึงเวลาเราจะไปทำงานเราร้องไห้ทุกวันตอนขับรถมา” นางกัลยา ยอมรับ

ทั้งนี้ในส่วนของกฎหมาย นางกัลยา ให้ความเห็นว่าควรชั่งน้ำหนักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการศึกษาของเด็กด้วย ไม่ใช่บังคับใช้แต่เพียง พรบ.คนเข้าเมือง เท่านั้น

“ตามหลักสิทธิมนุษยชนเด็กเขามีสิทธิได้รับการศึกษา ทั่วโลก มีปฏิญญาสากล แล้วประเทศไทยก็เข้าไปร่วมแต่กลับปฏิบัติตามไม่ได้ เราไม่ต้องพูดถึงปฏิญญาสากลเลย พูดถึงเรื่อง พรบ.การศึกษา เรายังปฏิบัติไม่ได้ มองข้ามเด็กเหล่านี้ ไม่มองว่าเด็กเป็นประชากรโลกได้รับสิทธิ อย่างที่เขาตั้งข้อหา ผอ. ว่าด้วยอนุสัญญาเด็ก เด็กพวกนี้ไม่มีสิทธิมารับการศึกษา เขาอ่านปฏิญญาสากลไหม อ่านเสาหลักอาเซียนไหม อ่านอนุสัญญาสิทธิเด็กไหม เขาศึกษากฎหมายสิทธิเด็กไหม ที่เขาตั้งข้อกล่าวหาสอบวินัย ผอ. เราก็ทำตามระเบียบการรับนักเรียนอยู่แล้ว” ผู้อำนวยการ รร.ไทยรัฐวิทยา 6 ทิ้งท้าย

ตลอด 8-9 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยมักอ้างว่าผู้นำประเทศได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และบ่อยครั้งออกมาตอบโต้หลังโดนลดระดับความเชื่อมั่นในประเด็นค้ามนุษย์ 

วันนี้เมื่อรัฐผลักดันเด็ก 126 คนให้กลับไปเผชิญสถานการณ์สู้รบในประเทศพม่า ปฏิเสธให้การศึกษาทั้งๆ ที่ทั้งโลกให้ความสำคัญ และโจมตีบุคลากรทางการศึกษาด้วยการใช้กฎหมายลงโทษเพื่อดำเนินคดี 

ตอกย้ำชัดเจนให้เห็นความไร้เดียงสาด้านสิทธิมนุษยชนตามกติกาสากลของรัฐไทย

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →