เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ร่วมกันผลักดันเด็กนักเรียนที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร 126 คนจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง กลับประเทศพม่าเนื่องจากเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเนื่องจากเด็กทั้งหมดต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ว่าเมื่อปี 2548 ขณะนั้นตนดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ได้เกิดกรณีที่เด็กไร้สัญชาติ ไร้บัตร และไม่มีเอกสารใดๆ ติดตัวเลย ประสบปัญหาไม่ได้รับสิทธิด้านการศึกษา รวมถึงสิทธิการรักษาพยาบาล และมีการเคลื่อนไหวจากภาคส่วนต่างๆเพื่อหาทางแก้ปัญหาโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงกำลังพิจารณา ขณะที่กลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวได้มาพบตนและนำเสนอกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ผลักดันเป็นยุทธศาสตร์การจัดการเกี่ยวกับงานสถานะบุคคล
นายจาตุรนต์กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงมองเห็นปัญหาจึงหาทางกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดการคุ้มครองเด็กที่มีปัญหา เช่น เกิดในไทยแต่ไม่มีสัญชาติ เด็กจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีใครรับรอง หรือเด็กที่ไม่มีเอกสารใดๆ เราให้เด็กได้รับการคุ้มครองและออกเป็นบัตรเฉพาะให้ โดยกำหนดให้เขาได้รับการคุ้มครองอะไรบ้าง ต่อมา ศธ.ได้เสนอออกกฎระเบียบต่อเนื่องจากยุทธศาสตร์ของ สมช. คือให้คุ้มครองเด็กที่ไม่มีสัญชาติ เด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และเด็กไร้บัตร ให้ได้รับสิทธิด้านการศึกษาในประเทศไทยเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามหลักสากล โดยคำนึงถึงว่ามีเด็กที่มีปัญหาด้านสถานะบุคคลจำนวนมากให้ได้รับการคุ้มครองเรื่องการมีสิทธิเข้าเรียน และกลายเป็นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2548 ซึ่งตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ศธ.
ผู้สื่อข่าวถามว่าการจัดส่งเด็กนักเรียนไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร 126 คนกลับพม่าครั้งนี้ถือว่าเป็นการสวนทางกับมติ ครม.ที่เขียนไว้หรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า เป็นการสวนทางกัน โดยตอนแรกตนเข้าไปดูเพราะเห็นว่ามีการดำเนินคดีกับผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ก่อนหน้านั้นเลยไม่ได้ดูในประเด็นส่งเด็กกลับไป ถ้าพูดในหลักใหญ่ของสิทธิมนุษยชนสากลแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกเพราะเมื่อพบเด็กที่มีปัญหาเรื่องสถานะหรือเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายและกำลังเรียนอยู่ในไทย ถ้าจะดำเนินการใดๆ ก็ต้องไม่ให้กระทบการเรียนของเด็กนักเรียนเหล่านี้
“ไม่ใช่พอพบว่าเข้าเมืองผิดกฎหมายแล้วส่งพวกเขากลับไปก่อน ยิ่งหากเป็นพื้นที่ที่อันตราย แล้วส่งเขากลับไปก็ผิดหลักกติกาสากล แถมยังไม่รู้ว่าพวกเขาจะได้เรียนเมื่อไหร่ พวกเขาบางส่วนอาจไม่ได้เรียนอีกนับปี โดยหลักแล้วเราต้องคุ้มครองให้เขาได้เรียนก่อน น่าเป็นห่วงว่าตรงนี้ทำไม่ถูกหลักสากลและอาจถูกตำหนิจากองค์กรระหว่างประเทศได้”อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายจาตุรนต์กล่าวว่า การดำเนินคดีกับผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา เป็นสิ่งที่น่ากังวลเพราะอาจเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ทำให้บุคลากรทางการศึกษาเกิดการหวาดกลัว และปิดโอกาสให้เด็กที่มีปัญหาสถานะบุคคล ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน เด็กไร้สัญชาติ ในการเรียนหนังสือ กลายเป็นการทำให้บุคลากรทางการศึกษาต้องมาเข้มงวดกับเด็กที่มีปัญหาเรื่องเอกสารทางทะเบียนราษฎร ทั้งเด็กที่มีอยู่ในประเทศไทยแล้วหรือเด็กที่เข้ามาใหม่ เมื่อเข้มงวดก็เกิดปัญหาผู้ปกครองของเด็กๆเหล่านั้นเพราะไม่กล้านำเด็กเข้าระบบการศึกษาและกลายเป็นเด็กต้องอยู่กับพ่อแม่หรือเร่ร่อนโดยไม่เข้าระบบการศึกษาเป็นอันตรายต่อสังคมเป็นอย่างมาก
“ในวันพรุ่งนี้ผมจะไปเป็นพยานให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยาที่ถูกดำเนินคดี และจะฟังเรื่องราวจากมูลนิธิต่างๆ นักวิชาที่เชี่ยวชาญว่าจะช่วยเด็กเหล่านี้อย่างไร และพยายามทำให้เกิดความชัดเจนทางนโยบายความมั่นคงและกระทรวงศึกษาธิการในการคุ้มครองเด็กให้ดีขึ้นและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้นอย่างไร”นายจาตุรนต์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าประชาชนไทยบางส่วนยังข้องใจว่าทำไมเราถึงต้องสนับสนุนให้เด็กไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร หรือเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านได้เรียน แทนที่จะเอางบประมาณไปใช้กับเด็กไทย นายจาตุรนต์กล่าวว่าการที่เด็กจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาประเทศไทยมากหรือน้อยอย่างไร เป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงต้องไปดูแลตามความเหมะสม แต่กรณีที่พวกเขาต้องหนีตายหรือหนีอันตรายเข้ามาหลบภัย ในฐานะที่เราเป็นประเทศเพื่อนบ้าน และประชาชนสองฝั่งแดนต่างมีสายสัมพันธ์กัน รวมถึงการมีแรงงานข้ามชาตินับล้านๆ คนเข้ามาทำงานในไทย ถ้าเข้ามาด้วยความจำเป็นก็ต้องดูแลกัน การให้การศึกษากับเด็กก็ต้องคิดแบบที่เป็นปลายทางคือเมื่อมีเด็กเข้ามาอยู่ก็ต้องการการศึกษา เพราะเขาเข้าอยู่ในประเทศไทยแล้ว
“ต้องถามว่าอะไรดีกว่ากันระหว่างให้เด็กเรียนกับไม่ให้เรียนอะไรเลย ถ้าเขาอยู่จนโต อะไรเป็นผลดีต่อสังคมไทยมากกว่ากัน มันจึงไม่ใช่เป็นปัญหาแคบๆ ว่าเด็กไทยยังไม่มีงบเพียงพอ ปัญหาเด็กไทยควรได้รับการดูแลดีขึ้นก็ควรแก้ไข และแก้ได้ด้วย ถ้าจัดสรรงบอย่างเหมาะสม แต่เด็กจากเพื่อนบ้านที่ติดตามพ่อแม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติซึ่งอนาคตยิ่งมีเพิ่มขึ้น ขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมสูงวัย หากเขาเป็นแรงงานข้ามชาติ มีความรู้ก็เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม แต่หลักง่ายๆทางสังคมเมื่อมีเด็ก โลกนี้เขายอมรับว่าต้องให้เด็กได้รับการศึกษา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมนั้น ไม่ต้องไประแวงว่าเราจะเสียหายอะไร การใช้จ่ายด้านการศึกษาเป็นการลงทุนที่มีคุณค่าต่อสังคมมากที่สุด” นายจาตุรนต์ กล่าว
นางกัลยา ทาสม ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านอิฐ เปิดเผยว่าในวันที่ 1 สิงหาคม ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ตนจะเดินทางไปยัง สภ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เพื่อให้การต่อพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม ภายหลังจากถูกดำเนินคดีกล่าวหาว่ากระทำผิด พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมืองในมาตรา 63 และ 64 ให้ที่พักกับคนต่างด้าวพร้อมพยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ และนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ จะได้ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ที่นายจาตุรนต์มีส่วนร่วมในมติดังกล่าว และจะมีการส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมด้วย โดยคาดว่านายจาตุรนต์จะเดินทางไปถึงในช่วง 13.00 น.