ภาสกร จำลองราช
ช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมามีข่าวเล็กๆ แต่สะเทือนลึกในแวดวงสิทธิมนุษยชนของไทย และก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ที่สำคัญกำลังถูกจับตามมองจากองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งในปีกที่เป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ และองค์กรภาคประชาสังคม
ข่าวเล็กๆ ดังกล่าวคือ กรณีที่หน่วยงานของรัฐบาลไทยร่วมกันผลักดันส่งเด็กนักเรียน 126 คน ซึ่งไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎรจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง กลับประเทศพม่า
เริ่มต้นข่าวชิ้นนี้ถูกประโคมว่ามีเครือข่ายการค้ามนุษย์ได้นำพาเด็กนักเรียนจากประเทศพม่ามาเรียนที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 และมีความพยายามขุดคุ้ยเพื่อให้เป็นไปในแนวทางนี้ให้ได้ ประกอบกับเมื่อเรื่องนี้เริ่มโด่งดังทำให้ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศพดส.ตร.) ที่มี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) เข้ามาทำคดี ทำให้โจทย์เรื่องการค้ามนุษย์ถูกทำให้จริงจังขึ้น
ขณะที่ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ที่มีจุดประสงค์ให้เด็กทุกคนในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีเอกสารสิทธิใดๆหรือไม่ ย่อมได้เรียนหนังสือ และ พรบ.คุ้มครองเด็ก ที่มุ่งคุ้มครองเด็กทั้งร่างกายและจิตใจ กลายเป็นกฎหมายอันดับรองที่ไม่ถูกนำมาใช้เท่าที่ควร ทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ขณะที่บุคลากรของโรงเรียนถูกตั้งข้อหานำพาและให้ที่พักพิงเด็กต่างด้าว
เมื่อย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการนำเด็กที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎรมาเรียนที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ในครั้งนี้ จะทำให้เข้าใจว่าทำไมถึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ถึงดังกระหึ่มไปทั่ววงการสิทธิมนุษยชนไทย
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นางกัลยา ทาสม หรือ “ครูปุ๊” ได้รับการบรรจุในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิยา 6 โดยในตอนนั้นมีเด็กนักเรียนอยู่เพียง 12 คน ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนประถม 6
หากปล่อยสถานการณ์เป็นเช่นนี้โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 คงไม่สามารถอยู่ได้และถูกยุบในที่สุดตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก
ปัญหาโรงเรียนขาดแคลนเด็กนักเรียนไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ทั่วประเทศ และที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ก็ประสบปัญหานี้มาหลายปี วิธีการแก้ปัญหาคือการรับเด็กด้วยโอกาสกลุ่มต่างๆ มาเรียนโดยเฉพาะเด็กบนดอยและตามชายแดนต่างๆ
“เมื่อมีนาคม 2565 เราได้มีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 เพื่อหาทางออกครั้งนี้ และมีมติว่าให้ไปหาเด็กนักเรียนในพื้นที่ชายขอบ หรือเด็กยากไร้ในพื้นที่จังหวัดน่านและเชียงราย มาเรียนหนังสือ หลังจากนั้น เราได้เอารถกระบะเดินทางไปที่ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เพื่อลงพื้นที่แสวงหาเด็กโดยฝากใบสมัครเอาไว้ตามบ้าน” ครูปุ๊ เล่าจุดเริ่มต้นในการเดินทางไปรับเด็ก เนื่องจากเธอเป็นคนเชียงราย จึงทำให้รู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี
หลังจากนั้นครูปุ๊และกรรมการโรงเรียนไทยรัฐ 6 ได้เดินทางไปรับเด็กจำนวน 35 คนในจังหวัดเชียงรายโดยครูปุ๊ได้ดำเนินการขออนุมัติรหัส G จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้รับโอกาสด้านการศึกษาและงบประมาณสนับสนุน และได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพื่อรับทราบ นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมผ้าป่าเพื่อการศึกษา เพื่อนำรายได้สำหรับจ้างครูอัตราจ้างและนักการภารโรงเพิ่มเติม เนื่องจากตอนนั้นเหลือครูที่เป็นข้าราชการ 1 คน ครูอัตราจ้าง 1 คนและนักการภารโรง 1 คน
การรับเด็กในปีแรกผ่านไปอย่างราบรื่น โดยเด็กๆได้รหัส G ถูกต้องตามระเบียบราชการ
ในปีการศึกษาใหม่ ประจำปี 2566 ครูปุ๊ พร้อมกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ได้ใช้วิธีการเดียวกันนี้ในการรับเด็กจากพื้นที่ชายขอบและยากไร้เข้ามาเรียนเพิ่ม แต่ในปีนี้ข่าวได้รับการเผยแพร่จากปากต่อปากไปไกลกว่าเดิมเพราะมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ทำให้มีปีนี้มีเด็กๆสมัครใจขอไปเรียนที่จังหวัดอ่างทอง จำนวน 92 คน โดยเป็นเด็กที่ไม่เคยเรียนมาก่อน 72 คน และเป็นเด็กที่ย้ายจากโรงเรียนอื่น 20 คน
วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ครูปุ๊ พร้อมคณะกรรมการสถานศึกษาฯได้เดินทางไปรับเด็กๆโดยรถบัสแต่ด้วยปริมาณเด็กที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากที่ตั้งเป้าไว้ 40 คน ทำให้ต้องเช่ารถบัสที่จังหวัดเชียงรายเพิ่มขึ้นอีก 1 คัน
เด็กใหม่จำนวน 92 คนถูกรับตัวมาไว้ที่บ้านพักในจังหวัดอ่างทองเหมือนเช่นเคย และกระบวนการขอรหัส Gให้เด็ก 72คน ก็เป็นไปในลักษณะเดิม
แต่มีบางอย่างกลับไม่เหมือนเดิม
เค้าลางเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีครูธุรการคนหนึ่งไม่พอใจที่ต้องมาเข้าเวรเฝ้าเด็กที่หอพัก
“ตอนนั้นครูทุกคนต่างผลัดเวรกัน แต่ครูคนนี้ไม่พอใจเพราะคิดว่าทำงานเกินหน้าที่ เขาบอกว่าจะแจ้งให้ใหญ่ในเขตพื้นที่การศึกษาทราบ แต่เราก็ไม่คิดว่ามีอะไรใหญ่โตอะไร เพราะเราทำทุกอย่างถูกต้อง” ครูปุ๊ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ละเมิดสิทธิเด็กครั้งใหญ่
วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอ่างทองและคณะได้เดินทางมาเยี่ยมโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 และได้สอบถามถึงการเรียนการสอน พร้อมทั้งเยี่ยมนักเรียนและขอดูบ้านพักที่เด็กๆอาศัย
วันที่ 2 มิถุนายน คณะเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน ตั้งแต่ระดับ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ปลัดอำเภอป่าโมก เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมจังหวัดอ่างทอง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ได้เดินทางมาร่วมประชุมที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 พร้อมทั้งมีมติให้ส่งเด็ก 126 คนกลับพื้นที่ต้นทาง
พอวันที่ 6 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ชุดใหญ่ สารพัดหน่วยงาน รวมทั้งสื่อมวลชนได้ยกทัพมาที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 สร้างความตกใจให้กับเด็กๆ ที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ โดยเขาได้มีการแยกเด็กๆ 126 คนไปไว้ที่มูลนิธิอีกที่หนึ่ง ส่วนครูปุ๊ได้รับคำสั่งให้ไปปฎิบัติหน้าที่ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ
ข่าวถูกประโคมเชิงลบในทำนองว่ามีการนำพาเด็กต่างด้าวมาเรียนหนังสือที่จังหวัดอ่างทอง
นับจากวันนั้นเป็นต้นมาเด็ก 126 คนต้องออกจากการศึกษาอย่างฉับพลัน แม้ระหว่างนั้นจะมีการจัดครูมาสอนให้ แต่เป็นเพียงแค่ประวิงเวลาเพื่อรอการส่งกลับ เพราะไม่ได้มีการเรียนการสอนตามระบบ
“ตอนนั้นดิฉันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร พยายามขอความช่วยเหลือไปทุกๆ ที่ที่คิดว่าช่วยได้ ทั้งสภาทนายความจังหวัด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอ่างทอง เพราะเราต้องการให้ช่วยเหลือเด็ก อยากให้พวกเขาได้เรียนต่อ แต่ได้รับการตอบรับน้อยมาก มีเพียงกสม. เท่านั้นที่ทำหนังสือขอให้ชะลอการส่งตัวเด็กกลับ” ครูปุ๊เล่าถึงสถานการณ์ในวันที่แสนเลวร้าย
“ตอนนั้นเด็กๆอยากเรียนต่อ เขาถามว่าทำไมไม่ให้เรียน เป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก ก่อนพวกเขาถูกส่งกลับ ดิฉันได้ขออนุญาต พมจ.ไปเยี่ยม เสียงร้องไห้กันกระจองอแงเต็มไปหมด แต่ในที่สุดพวกเขาก็ถูกส่งกลับไปตั้งแต่ตี 4 วันที่ 5 กรกฎาคม” ครูปุ๊ เล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ เมื่อนึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น
เด็กๆทั้ง 126 คนซึ่งเป็นทั้งเด็กใหม่และเด็กเก่าถูกมาตรการเหวี่ยงแหผลักดันกลับประเทศพม่า โดยไม่มีการแยกแยะว่าเด็กบางส่วนได้รับ รหัส G แล้ว เด็กบางส่วนเคยเรียนอยู่ในโรงเรียนฝั่งไทย ที่สำคัญคือไม่มีการเตรียมการให้เด็กได้เรียนต่อ คิดเพียงแค่เร่งผลักดันให้เด็กกลุ่มนี้กลับพม่าซึ่งเป็นพื้นที่ที่คุกรุ่นด้วยไฟสงคราม
พรุ่งนี้ว่ากันต่อถึงผลที่จะตามมาจากวิธีการแก้ปัญหาครั้งนี้ของหน่วยงานราชการ