Search

35 ปี“ 8888” เหตุการณ์ประชาชนลุกฮือต้านเผด็จการพม่า นักเคลื่อนไหววอนสหรัฐฯ คว่ำบาตรหนักขึ้น ชี้ “มิน อ่อง หลาย”นำพาประเทศกลับสู่จุดเดิมอีกครั้ง เปิดใจอดีตนักสู้

วันที่ 8 กันยายน 2566 ครบรอบ 35 ปี ของการที่ประชาชน นักศึกษาและพระสงฆ์ในพม่าที่ลุกฮือขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าภายใต้การนำของนายพลเนวินที่ยึดครองอำนาจระหว่างตั้งแต่ ค.ศ. 1962-1988   หรือที่รู้จักการในนาม “วันลุกฮือ 8888” ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 หรือวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1988  และจบลงด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยทหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ในที่สุดนายพลเน วิน ต้องสละตำแหน่งผู้นำ

ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยได้มีความเคลื่อนไหวของประชาชนพม่าโดยในช่วง 10.00 น. กลุ่มประชาชนจากพม่าในนาม Bright future  ได้เดินทางไปยังสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือถึงนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยระบุว่า เมื่อครั้ง 8888 นักศึกษาและประชาชนชาวพม่าจำนวนหลายล้านคนจากหลากหลายสาขาอาชีพได้ลุกขึ้นสู้กับรัฐเผด็จการทหารนำโดยเนวิน และต้องล้มตายลงในนามของประชาธิปไตยและเสรีภาพของปวงชน ในวันนี้ เผด็จการมิน อ่อง หล่าย ได้พาประเทศของเราจนมาถึงจุดเดิมอีกครั้งจนเกิดรัฐบาลพลัดถิ่น National Unity Government of Myanmar หรือ NUG และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน People’s Defense Force หรือ PDF เพื่อยกระดับการต่อต้าน

“ความคาดหวังว่ารัฐบาลของนายไบเดน จะให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยพม่าผ่านการดำเนินการตามข้อเสนอคือ 1. ให้สหรัฐฯ กดดันรัฐบาลพม่าให้ปล่อยตัวอองซานซูจี และนักโทษการเมืองทุกคน 2.ให้สหรัฐฯ ใช้กฎหมาย Burma Act เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทหารเมียนมาและนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเผด็จการพม่า 3. ให้สหรัฐฯ สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยการสู้รบบริเวณชายแดนไทย โดยเฉพาะในรัฐคะยาที่มีคนรอการช่วยเหลือจำนวนมาก” หนังสือระบุ

ในช่วงเย็นวันเดียวกันที่บริเวณทางเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มนักเคลื่อนไหวพม่าในเชียงใหม่ได้ร่วมกันสวมชุดสีขาว และนำร่มเพื่อรวมตัวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์รำลึกครบรอบ 35 ปี เหตุการณ์ 8888 โดยได้มีการเดินขบวนจากทางเข้ามหาวิทยาลัยไปยังลานอ่างแก้ว โดยมีศิลปะการแสดงสดและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารพม่า

คิน โอมาร์ (Khin Ohmar) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 8888 Uprising  กล่าวว่า ได้มีส่วนร่วมในการจัดการกิจกรรมและระดมเพื่อนนักศึกษาให้ลุกขึ้นต่อต้านการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมของเผด็จการทหารต่อการประท้วงของนักศึกษา รวมถึงการสังหารและจับกุมนักศึกษาผู้ประท้วงในช่วงต้นเดือนมีนาคม ค.ศ.1988 นั่นเป็นกิจกรรมครั้งแรกที่เปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล บนถนน Pyay ในย่างกุ้ง หรือสะพานสีขาวที่เต็มไปด้วยเลือดของผู้ประท้วงนักศึกษาที่ถูกจับกุมจากการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมของรัฐบาล ซึ่งต่อมาเรียกว่าวันสะพานแดง 

“ฉันรู้สึกแน่วแน่และชัดเจนกับความมุ่งมั่นที่จะยุติความโหดร้ายป่าเถื่อนและการปกครองที่กดขี่ของเผด็จการทหารในประเทศพม่า ความมุ่งมั่นนี้ทำให้ฉันดำเนินการต่อ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม โดยร่วมกับเพื่อนนักศึกษาที่มีแนวคิดเดียวกันในการระดมมวลชนให้เข้าร่วมกับนักศึกษาของเราในการโค่นล้มเผด็จการทหารและจัดการนัดหยุดงานทั่วประเทศ หรือ General Strike ในวันที่ 8 สิงหาคม หรือที่เรียกว่า 8888 การลุกฮือทั่วประเทศในขณะที่ผู้คนจากทุกสาขาอาชีพเข้าร่วมการเรียกร้องของเรา รวมถึงข้าราชการ ดารา และศิลปิน แต่นายพลเนวินเผด็จการทหารไร้ความปรานี ได้ปราบปรามการประท้วงทั่วประเทศ สังหารผู้ประท้วงกว่า 3,000 คน เราเห็นกองกำลังรักษาความปลอดภัยเริ่มยิงผู้ประท้วงก่อนเที่ยงคืนของวันนั้น” คิน โอมาร์กล่าว

คินกล่าวว่า ตนตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศเพื่อทำกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อไปโดยไม่ถูกจองจำและถูกทรมานโดยอันธพาลทหาร หลังจากออกจากประเทศกลายเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศไทยภายใต้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ (UNHCR) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1988-1990 หลังจากนั้นก็ได้ย้ายไปอยู่ที่สหรัฐฯประสบการณ์ที่น่ากลัวและเจ็บปวดทั้งหมดนี้ยังมีความหมายตลอดชีวิต

คินกล่าวว่า ตอนที่อาศัยอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยในประเทศไทย รู้สึกเปราะบางเมื่อรู้ว่าอาจถูกทางการไทยจับกุมได้ทุกเมื่อโดยไม่มีเอกสารทางกฎหมายใด ๆ ยกเว้นกระดาษจาก UNHCR ซึ่งเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของการอยู่อย่างผิดกฎหมาย ในขณะที่รู้สึกมั่นคง แข็งแกร่ง และแน่วแน่กับความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของตัวเองที่จะต่อสู้กลับและโค่นล้มระบอบทหารและนำประชาธิปไตยมาสู่มาตุภูมิบ้านเกิดของตนเอง  ความรู้สึกแปลก ๆ ที่แข็งแกร่งและเปราะบางในเวลาเดียวกัน

“ตอนนั้นฉันกลัวทุกครั้งที่เห็นเจ้าหน้าที่รัฐของไทย แม้แต่ในศูนย์การค้าก็ตาม เวลาที่ได้เห็นหัวใจเต้นเร็ว คิดตลอดว่าจะวิ่งไปทางไหน เจ้าหน้าที่รัฐพวกเขาถามฉันหลายครั้งและบางครั้งฉันเกือบถูกตำรวจไทยจับ เพื่อนของฉันหลายคนถูกจับหลายครั้งและถูกควบคุมตัวเป็นเวลานานในศูนย์กักกันคนเข้าเมืองของไทย นี่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราเลือกรับใช้อิสรภาพเพื่อตนเองและเพื่อประชาชนของเรา เพื่อให้ประเทศของเราปราศจากการกดขี่ของทหาร” อดีตนักต่อสู้ 8888 กล่าว

นักเคลื่อนไหวเหตุการณ์ 8888 กล่าวว่า ชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศให้การสนับสนุน การเงิน และวิชาการแก่การเคลื่อนไหวในปัจจุบันที่นำโดยคนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารมิน อ่อง ลาย ในปัจจุบัน ในขณะที่ชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศก็สนับสนุนการปฏิวัติด้วยวิธีการของตนเองเช่นกัน แม้จะถูกโจมตีและจับกุมโดยคณะทหาร นี่คือความแตกต่างอย่างมากจากรุ่นก่อน ทำให้รู้สึกมีกำลังใจมากขึ้นและรู้สึกขอบคุณสำหรับคนรุ่นใหม่ สิ่งสำคัญคือความโหดร้ายที่กองทัพพม่าปัจจุบันกระทำต่อประชาชนทั้งประเทศนั้นไร้ความปรานีและไร้มนุษยธรรมอย่างที่สุด ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เช่น การทรมาน การวิสามัญฆาตกรรมและการประหารชีวิต การข่มขืนและการรุมโทรม การเผา ลงหมู่บ้าน

คินกล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันชนกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากในพม่าต้องเผชิญกับอาชญากรรมที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมประเภทเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันจากกองทัพเดียวกันภายใต้เผด็จการก่อนหน้านี้มาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่หลังการประกาศเอกราชของพม่าใน ค.ศ.1948  การปราบปรามครั้งล่าสุดถือได้ว่าเป็นความโหดร้ายของทหารทั่วประเทศอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ชาวพม่ามีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้นจากรุ่นสู่รุ่น ข้ามสายเลือดและศาสนา เพศ และชนชั้นจากทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันในการประท้วงในครั้งล่าสุดเพื่อต่อต้านกองทัพในปัจจุบัน ร่วมบริจาคทุกอย่างที่ทำได้และเสียสละทุกสิ่ง รวมทั้งชีวิตและความฝันของพวกเขา ซึ่งทำให้เรามีความหวังมากที่สุดในประวัติศาสตร์การต่อสู้กับเผด็จการทหารที่ยาวนานหลายทศวรรษของประเทศของเราว่าประชาชนจะได้รับชัยชนะในครั้งนี้

“ประสบการณ์ที่ผ่านมากว่า 35 ปี ของฉันที่ต้องต่อสู้อย่างไม่หยุดยั้งเพื่อโค่นอำนาจเผด็จการทหาร ฉันสามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่า การตัดสินใจของฉันในคืนของวันที่ 16 มีนาคม 1988 ที่เข้ามาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและเสรีภาพนั้นมีความหมายมากที่สุด กระแสน้ำทำให้ฉันมีกำลังมีสติแจ่มแจ้งอยู่ทุกเมื่อ สิ่งเดียวที่ฉันรู้สึกผิดคือฉันไม่สามารถทำตามความฝันของแม่ที่อยากให้ฉันได้อยู่กับแม่ไปจนวันสุดท้าย เพราะฉันไม่มีโอกาสได้เจอเธออีกก่อนที่เธอจะจากไป” นักเคลื่อนไหวเหตุการณ์ 8888 กล่าว

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →