
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 เครือข่ายบางกลอยคืนถิ่น ออกแถลงการณ์เรื่อง เจตนารมณ์บางกลอยคืนถิ่น เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก โดยแถลงการณ์ ระบุว่า กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ชุมชนกะเหรี่ยงปกาเกอะญอบ้านบางกลอย ที่ถูกรัฐไทยและสังคมบางส่วนมองด้วยอคติ พวกเราถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยความมั่นคง ไม่ใช่คนไทยและตัดไม้ทำลายป่า จนถึงการถูกอพยพโยกย้ายชุมชน เมื่อพวกเราลุกขึ้นมาต่อสู้กลับต้องแลกมาด้วยการสูญเสียชีวิต และล่าสุดพวกเรา 28 คนก็ต้องถูกรัฐไทยดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่า ทั้งที่พวกเราอยู่อาศัย ทำกิน มีวิถีชีวิตอยู่ที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน มาก่อนการประกาศเขตป่าตามกฎหมายทุกฉบับ
แถลงการณ์ ระบุว่า เสียงเรียกร้องของเราว่า ‘อยากกลับบ้าน’ ถูกปิดกั้นด้วยคำพูดของผู้นำรัฐบาลไทยที่บอกว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งที่เราต่างทราบกันว่าประเทศมีกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมากถึงประมาณ 60 กลุ่ม ประชากรมากกว่า 6 ล้านคน ที่ผ่านมานั้นเราคิดว่าชนเผ่าแบบพวกเราถูกลดทอนศักยภาพ ทำให้เป็นกลุ่มคนที่ไร้ความสามารถ ต้องรอคอยการสงเคราะห์และโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของรัฐที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และเป็นการปิดปากของพวกเราให้ไร้อำนาจในการต่อรองเพื่อกลับบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน อันเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษ เพราะอยากกลับไปทำไร่หมุนเวียนให้ได้เพื่อเลี้ยงปากท้องและดำรงวิถีวัฒนธรรมของพวกเราเอาไว้สืบต่อไป

แถลงการณ์ ระบุว่า ขอใช้โอกาสนี้ประกาศเจตนารมณ์และข้อเรียกร้องต่อทุกภาคส่วน คือ 1. รัฐไทยจะต้องแถลงต่อสาธารณะว่าประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมือง และต้องแถลงขอโทษพวกเราอย่างจริงใจจากเหตุการณ์ที่เคยละเมิดสิทธิของเราทั้งหมดในอดีต เพื่อเริ่มชำระประวัติศาสตร์และเริ่มกระบวนการคืนสิทธิให้พวกเราชนเผ่าพื้นเมือง 2. ต้องยกเลิกคดีความของเราทั้ง 28 คน และเปิดทางให้ได้กลับบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน รวมถึงต้องเอาผิดทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มฆ่าพี่น้องของพวกเรา
3.ต้องเร่งผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้มีกฎหมายบังคับใช้ในการคืนสิทธิ และป้องกันไม่ให้ชนเผ่าพื้นเมืองถูกละเมิดได้อีกในอนาคต




ทั้งนี้ในวันเดียวกัน ตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยประมาณ 50 คน จาก 40 กว่าชาติพันธุ์ เดินทางไปที่อาคารรัฐสภา เพื่อเข้าพบประธานรัฐสภาแสดงเจตจำนงค์ต่อสภาผู้แทนราษฎรให้นำร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ…. กลับมาบรรจุในระเบียบวาระการประชุมของสภาฯ พร้อมขอให้เร่งผลักดันและพิจารณาตามกระบวนของรัฐสภา โดยมีนายสัตวแพทย์ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นผู้มารับเรื่อง ทั้งนี้เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ ได้รวบรวมรายชื่อจำนวน 12,888 คน เข้าชื่อเสนอกฎหมายร่วมกัน และได้ผ่านเข้าไปบรรจุในวาระการประชุมแล้ว แต่มีเหตุให้ต้องหยุดไปหลังจากรัฐบาลชุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่