เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้ากรณีที่ชาวบ้าน ต.เสริมขวา อ.เสริมงาม กว่า 300 คนระดมพลังคัดค้านการประทานบัตรเหมืองพลวง เนื้อที่ 128 ไร่ 88 ตารางวา ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ต.เสริมขวา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวได้เข้าพบนายสุภชัย ไวยาวัจมัย อุตสาหกรรมจังหวัด(สอจ.)ลำปาง เพื่อสอบถามกรณีที่เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ประจำท้องที่ ปิดประกาศการขอประทานบัตรโดย นานสุภชัย ยืนยันว่า สอจ.ลำปางได้ดำเนินการตามขั้นตอน พรบ.แร่ ปี 2560 มาโดยตลอด
นายสุภชัยกล่าวว่า หลังจากบริษัทเอกชนได้ยื่นขอประทานบัตร 128 ไร่แล้ว ปรากฏว่ามีแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 เกิดขึ้นมาและได้ตัดพื้นที่ที่ไม่อยู่ในเขตแร่ออก จาก 128 ไร่กว่าๆ เหลือเพียง ราวๆ 59 ไร่เท่านั้นโดยช่วงเวลาที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 บังคับใช้ การขอประทานบัตร 128 ไร่จึงต้องรอตัดพื้นที่ซึ่งไม่อยู่ในเขตแร่ออก กระทั่งเหลือ 50 กว่าไร่ สอจ.ลำปางจึงติดประกาศตามชุมชนในวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้เวทีรับฟังความคิดเห็นจะจัดขึ้นในวันที่ 23 สิงหาคม
อุตสาหกรรมจังหวัดลำปางกล่าวว่า สอจ.ลำปาง ส่งจดหมายไปถึงเจ้าบ้านที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ประทานบัตร นำประกาศไปให้ผู้ใหญ่บ้านเผยแพร่แจกจ่าย ส่งไปรษณีย์ และประกาศเสียงตามสาย เพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็น
“เรามีหลักฐานเป็นลายนิ้วมือรับพัสดุยืนยันได้ว่าชาวบ้านหมู่ที่ 7 บ้านแม่เลียง ต.เสริมขวา อ.เสริมงาม ได้รับจดหมายแจ้งจาก สอจ.ลำปาง ว่าเราจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ผมเลยไม่เข้าใจว่าทำไมชาวบ้านบอกว่าไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน” อุตสาหกรรมจังหวัดลำปางกล่าว
นายสุภชัยกล่าวว่า เมื่อบริษัทเอกชนที่ขอประทานบัตรขอเลื่อนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นออกไปอย่างไม่มีกำหนดโดยให้เหตุผลว่ายังไม่พร้อม แต่เมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการประชามติแล้ว หากชาวบ้านไม่เอาเหมืองแร่แม้แต่เสียงเดียว เหมืองบ้านแม่เลียงก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
“อีกไม่กี่วันผมก็เป็นราษฎรเต็มตัวแล้ว ผมอยากบอกว่าตอนนี้ชาวบ้านไม่เข้าใจสิทธิของตัวเอง มองการขอประทานบัตรเป็นการต่อต้าน แต่ชาวบ้านต้องคัดค้านด้วยเหตุผล แร่มีประโยชน์ ณ เวลาหนึ่งเท่านั้น ผมยกตัวอย่างดีบุกเมื่อก่อนมีเยอะมาก แต่ตอนนี้แทบไม่มีแล้ว วันนี้ผมยังเป็นข้าราชการผมต้องยืนตามระเบียบกฎหมายเท่านั้น แสดงความคิดเห็นอะไรไม่ได้เลย ผมอยากให้เราเดินไปตามกฎหมาย ให้มันเดินไปได้แล้วศึกษาไปด้วยกันด้วยว่าคุ้มค่าหรือเปล่า ใจผมอยากให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็น แต่ชาวบ้านวันนี้ยังมองว่าราชการต้องเข้าข้างนายทุนเสมอ ชาวบ้านต้องเปลี่ยนทัศนคติเดิมๆ ก่อน” นายสุภชัย กล่าว
อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ขั้นตอนตามกฎหมายคือต้องรอผู้ประกอบการติดต่อมาว่าพร้อมที่จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อไร สอจ.ลำปาง จึงจะประสานทุกฝ่ายเพื่อจัดเวทีอีกครั้ง

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวยังได้สอบถามไปยัง นายณพงศ์ แช่มช้อย ผู้ซึ่งบริษัทเอกชนที่ขอประทานบัตรระบุว่าเป็นที่ปรึกษาโครงการ โดยบริษัทยังมอบหมายให้เป็นผู้ส่งจดหมายไปถึง น.ส.รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 จ.ลำปาง พรรคก้าวไกล ให้ช่วยจัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นกรณีขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ในวันที่ 4 กันยายน 2566 ที่จะถึงนี้ ซึ่งนายณพงศ์ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นที่ปรึกษาโครงการของบริษัทนี้ ที่ผ่านมาไม่เคยรู้ว่าใครเป็นเจ้าของบริษัท โดยเข้ามาปลูกต้นไผ่ในพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านแม่เลียง ก่อนจะได้รับการติดต่อจากบริษัทในปี 2565 ให้เป็นผู้ประสานชาวบ้าน
“ผมไม่ได้เป็นที่ปรึกษา ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับบริษัททั้งนั้น แล้ววันที่ 4 กันยายน ผมก็เดินทางไปกรุงเทพฯ ไม่สามารถเข้าร่วมเวทีเสวนาได้ ผมเป็นเพียงผู้ประสานงานให้เท่านั้น ไม่ได้มีเงินเดือนอะไรกับบริษัทเลย แต่ผมลงพื้นที่ปลูกไผ่ รู้จักคนในชุมชน จนกระทั่งในปี 2565 มีคนติดต่อมาว่าทางบริษัทอยากจะหาคนที่ประสานกับชาวบ้านได้ ส่วนที่บริษัทเอาชื่อผมมาอ้างว่าเป็นที่ปรึกษาแล้วมอบหมายให้ไปร่วมเวทีเสวนานั้นผมก็เพิ่งรู้ 2-3 วันมานี้ ผมเครียดมาก” นายณพงศ์ กล่าว
นายณพงศ์กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวแล้วอยากให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อจะได้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย หากชาวบ้านไม่ต้องการเหมืองก็ต้องใช้เวทีรับฟังความคิดเห็นนี้
“ถ้ามีเวทีพูดคุยกระบวนการสู่สันติน่าจะเป็นวิธีทางออกที่ดี ผมไม่อยากให้ชาวบ้านเข้าใจผิดกัน อยากให้ทุกคนมาเจอกัน ถ้าชาวบ้านไม่เห็นด้วยก็ให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย” นายณพงศ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีเสวนาที่ทางบริษัทยื่นขอประทานบัตรให้ ส.ส.เขต 4 จ.ลำปาง พรรคก้าวไกล เป็นตัวกลางช่วยจัดนั้นไม่ได้มีผลในการพิจารณาการขอประทานบัตรแต่อย่างใด เนื่องจากไม่ได้เป็นเวทีที่ สอจ.ลำปาง เป็นผู้จัดตาม พรบ.แร่ ปี 2560 และหากทางบริษัทไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมเสวนาอาจทำให้ น.ส.รภัสสรณ์ ตัดสินใจปฏิเสธไม่จัดเสวนาตามที่ผู้ประกอบการร้องขอ
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามข้อเท็จจริงในพื้นที่จากชาวบ้าน ปรากฏว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ยอมให้สัมภาษณ์เนื่องจากขณะนี้ชาวบ้านบางส่วนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านถูกผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เรียกไปตักเตือนและโน้มน้าวไม่ให้คัดค้าน อย่างไรก็ตามชาวบ้านหลายคนพร้อมให้ข้อมูล เพียงแต่ขอสงวนชื่อเอาไว้เพื่อป้องกันการถูกติดตาม
ชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงวัย 60 ปีรายหนึ่ง กล่าวว่า ตอนเด็กได้ติดตามป้าไปขายผักให้คนงานในเหมืองแร่ดีบุกในบริเวณที่กำลังขอประทานบัตรครั้งนี้ โดยได้เห็นรางและมีการฉีดน้ำเพื่อคัดแยกแร่ออกจากดินหินทราย ซึ่งทำให้แม่น้ำมีสีแดง และต้นข้าวไม่เจริญเติบโต เมื่อเวลาผ่านไปถึงช่วงประมาณช่วง พ.ศ. 2517-2519 ชาวบ้านได้ชุมนุมให้ปิดเหมือง มีคนในหมู่บ้านของตนเป็นแกนนำ และเป็นประธานกลุ่มหนุ่มสาว
“ตอนนั้นมีทั้งคนเฒ่าคนแก่ คนหนุ่มคนสาว รวมถึงพี่น้องจากต่างหมู่บ้าน มาร่วมชุมนุม เพราะต่างได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ดีบุก นอกจากนั้นยังมีแร่ทองคำด้วย ที่เขาจะทำในตอนนี้เป็นแร่พลวง แต่มันจะเชื่อมไปต้นน้ำแม่เลียง ตอนนั้นชาวบ้านมีอัยการเสือ (ร.ต.อ. ชูมิตร ชุณหวาณิชพิทักษ์) มาช่วยดำเนินเรื่องในการคัดค้านการทำเหมือง บริษัทเหมืองเลยไม่ได้ทำต่อ ส่วนตัวคิดว่าเรื่องทำเหมืองน่าจะจบตั้งแต่ปี 2558 แล้ว ไม่น่าจะมีขึ้นอีก” ชาวบ้านรายนี้กล่าว
ผู้หญิงชาวบ้านรายนี้กล่าวว่า สมัยนั้นมีนักศึกษามาร่วมต่อสู้ เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง ในขณะที่ต่อสู้ก็มีการสูญเสียไปบ้างทั้งสองฝ่าย กว่าจะมีธรรมชาติกลับคืนมาอย่างทุกวันนี้ คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ รุ่นปู่รุ่นย่าตาลุงช่วยกันต่อสู้มา ต้องเสียเลือดเสียเนื้อเสียชีวิต เพื่อให้ลูกหลานอยู่ดีมีทุ่งนาสีเขียว สามารถปลูกผักได้
ขณะที่ผู้เฒ่าวัย 70 ปีรายหนึ่งกล่าวว่า สมัยเมื่อ 50 ปีก่อน แร่ที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านคือ แร่ดีบุก โดยชาวบ้านจะไปขุดแร่ ร่อนแร่ ตนก็เคยได้ไปขุดด้วยเหมือนกัน ต่อมานายทุนได้นำเครื่องจักรเข้าไปเพื่อทำเหมืองแร่ดีบุกโดยได้ปิดกั้นทางน้ำ เหมืองมีการทำตลอด 24 ชั่วโมง เครื่องจักรที่ใช้ทำงานก็ใช้น้ำมัน ทำให้น้ำมันไหลลงมากับน้ำและเข้าสู่แม่น้ำสายหลัก ชาวบ้านได้รับผลกระทบคือน้ำมีสีแดงตลอดทั้งปี ไม่มีปลา บ่อน้ำที่ชาวบ้านขุดข้างลำน้ำแม่เลียง เพื่อใช้อุปโภคบริโภค บางบ่อก็เป็นน้ำสีแดง บางบ่อก็ไม่มีน้ำ เพราะมีตะกอนสีแดงมาทับถมที่หน้าดินทำให้น้ำไม่สามารถไหลมาที่บ่อน้ำได้ นาข้าวที่ปลูกก็ไม่ได้ผลผลิต เพราะตะกอนไหลเข้าที่นาทุกปี บางจุดไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้เพราะดินเสีย
“การชุมนุมไล่เหมืองแร่เกิดขึ้นเมื่อปี 2518 ปี ผมยังเป็นวัยรุ่นและได้เข้าร่วมชุมนุมด้วย มีคนรุ่นพ่อแม่เป็นแกนนำ และได้มีนักศึกษาร่วมชุมนุมด้วย ใช้เวลายาวนานเกือบ 1 ปี ชาวบ้านได้ตั้งขบวนกันที่ทางแยกของหมู่บ้าน ชาวบ้านในตำบลเสริมขวามาร่วมชุมนุมกันทุกหมู่บ้าน ปิดถนนไม่ให้รถของเหมืองแร่ เข้า-ออก พอนานวันเข้าได้เกิดความรุนแรงขึ้น ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตไปหลายคน เพียงเพราะไปต่อต้านเหมืองแร่ ถ้าไม่มีกลุ่มนักศึกษามาช่วยในตอนนั้นการต่อสู้คงไม่สำเร็จ” ผู้เฒ่ารายนี้กล่าว และว่าส่วนตัวกลัวว่าถ้ามีการทำเหมืองอีกประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย ไม่อยากให้เกิดการสูญเสียแบบนั้นอีก