Search

ชาวบ้านอยู่กับป่าโวย รัฐฉวยโอกาสอ้างเหตุลักลอบตัดไม้เดินหน้าตั้งอุทยานถ้ำผาไท เผยชุมชนอยู่มานานนับ 100 ปีแต่รัฐสำรวจไม่ครบ มพน.จับตา 5 ประเด็น

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เผยแพร่ข่าวเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) จังหวัดลำปาง เพื่อเตรียมการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ มีพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 448,933.43 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 5 อำเภอ 13 ตำบล ของจังหวัดลำปาง โดยระบุว่าที่ผ่านมาอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ได้ประสบปัญหาภัยคุกคามจากการลักลอบตัดไม้หวงห้ามและการบุกรุกพื้นที่ป่า และมีการดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก ปรากฏว่าได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์

นายสมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้าน บ้านกลาง หมู่ 5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวว่า การที่หน่วยงานราชการอ้างจะจัดตั้งอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทเพราะป้องกันไม่ให้มีการตัดไม้ เป็นการโยนความผิดให้กับคนที่อยู่ในป่าว่าเป็นพวกลักลอบตัดไม้ไปขายให้นายทุน ทั้งๆที่ชุมชนอยู่ในป่ามานานกว่าร้อยๆปีและคอยดูแลผืนป่ามาตลอด

“เจ้าหน้าที่มีความคิดเห็นที่มีอคติกับชาวบ้าน มันไม่ชอบธรรม อ้างว่าจะประกาศเป็นอุทยานเพราะกลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในป่าค้าไม้เถื่อน ทำให้สังคมคิดว่าเราค้าไม้ ผลกระทบจากมติต่างๆอาจทำให้ชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ในป่าตกหล่น การแจ้งว่าจะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติมีวัตถุประสงค์ป้องกันจากการบุกรุกทำลายป่า แสดงว่าที่ผ่านมาอุทยานไม่มีน้ำยาดูแลป่าไม้ได้ พื้นที่อุทยานแห่งชาติบางแห่งก็ยังมีคนเข้าไปลักลอบตัดไม้” นายสมชาติ กล่าว

ผู้ใหญ่บ้าน บ้านกลางหมู่ที่ 5 อ.แม่เมาะ กล่าวอีกว่ามีความกังวลเกี่ยวกับแผนที่ซึ่งจะนำมากำหนดพื้นที่ผืนป่าให้อยู่ในอุทยานแห่งชาติกรณีครอบคลุมพื้นที่ชุมชนซึ่งอยู่มานานกว่า100ปีแล้วหรือไม่ และเวทีรับฟังความคิดเห็นจะชอบธรรมหรือไม่

 “ที่บอกว่าสามารถลงชื่อแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ได้ ชาวบ้านบางคนไม่มีโทรศัพท์ เข้าไม่ถึงว่าต้องลงชื่ออย่างไร แสดงว่าถ้าให้ลงชื่อแบบนี้ก็เกณฑ์คนมาลงชื่อในเว็บไซต์ได้ ตอนนี้พวกเราคุยกันอยู่อาจจะต้องนัดชาวบ้านมาประชุมกันว่าสถานการณ์แบบนี้จะทำอย่างไร ต้องคุยกับเครือข่ายชาติพันธุ์ลำปางก่อนว่าจะเอาอย่างไร แล้วจึงจะบอกได้ว่าจะเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นนี้หรือไม่” นายสมชาติ กล่าว

ขณะที่เฟซบุ๊กของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ได้เผยแพร่ข้อมูลโดยระบุว่า ให้จับตาเวทีรับฟังความเห็นประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท เดิมพันวิถีชาติพันธุ์ใต้กฎหมายป่าไม้ ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไปเมื่อปี 2534 หลังรัฐบาลมีนโยบายปิดป่า การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)นั้นมาควบคู่กับการดำเนินโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมหรือที่รู้จักกันในนามโครงการอพยพคนออกจากป่า ทำให้มีการเร่งรัดประกาศเขตป่าอนุรักษ์อนุรักษ์ทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นคืออุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จ.ลำปาง

เฟซบุ๊กมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) ระบุว่าเชิญชวนติดตาม จับตา เวทีรับฟังความเห็นประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ในระหว่างวันที่ 4-8 ก.ย. 2566 นี้ อันจะเป็นเดิมพันสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตป่าทั่วประเทศที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ รวมถึงเดิมพันอนาคตลูกหลานใต้เงื้อมมือกฎหมายป่าไม้ฉบับต่างๆ และอาจจบลงที่การถูกประกาศพื้นที่อุทยานหลังจากนี้

ทั้งนี้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปางได้มีประกาศ เรื่อง การประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) จ.ลำปาง เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับลงวันที่ 25 พ.ย. 2564 โดยจะเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียได้แสดงความเห็นใน 5 เวที ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น. ได้แก่ อ.งาว วันที่ 4 ก.ย.  ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภองาว อ.งาว จ.ลำปาง ,อ.เมืองลำปาง วันที่ 5 ก.ย.  ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแลง อ.เมืองลำปาง ,อ.แจ้ห่ม วันที่ 6 ก.ย.ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอแจ้ห่ม อ.แจ้ห่ม ,อ.วังเหนือ วันที่ 7 ก.ย. 2566 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลวังทอง อ.วังเหนือ  ,อ.แม่เมาะ วันที่ 8 ก.ย. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

เฟซบุ๊ก มพน.ระบุว่า สิ่งที่ต้องจับตา คือ 1. ความกังวลใจของประชาชนในพื้นที่ที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจากการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท 2. แนวอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ที่ยังทับซ้อนกับพื้นที่การใช้ประโยชน์ของชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ทำกินและพื้นที่การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในป่า การเก็บหาของป่า และพื้นที่ในรูปแบบจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งหากถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติฯได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ล้นมือ มีบทลงโทษหนัก และจะถูกจำกัดวิถีการทำกิน 3. ความเคลื่อนไหวของประชาชนในระดับพื้นที่ ได้แก่ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ที่ได้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง

4. ความเคลื่อนไหวของกรมอุทยานฯที่ยังอ้างเหตุผลว่าประสบปัญหาภัยคุกคามจากการลักลอบตัดไม้หวงห้ามและการบุกรุกพื้นที่ป่า และมีการดำเนินคดีจำนวนมาก ซึ่งมีลักษณะกล่าวโทษประชาชนในเขตป่า ขัดต่อบรรยากาศการแก้ไขปัญหาร่วมกันตามที่ขบวนการภาคประชาชนได้เรียกร้องต่อรัฐบาล 5. ความเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมือง ทั้ง สส.เขต และ สส.แบบบัญชีรายชื่อ เข้าร่วมสังเกตการณ์เวทีรับฟังความเห็น

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →