Search

ชงตั้ง กมธ.วิสามัญแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย วอนคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนกว่า 7 หมื่นคนหลังถูกจำกัดพื้นที่อยู่ในศูนย์พักพิงกว่า 30 ปี นักวิชาการแนะควรชักชวนมาร่วมพัฒนาประเทศ

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่อาคารรัฐสภา นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัน ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม พร้อมตัวแทน ส.ส.ก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าวการขอยื่นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งในประเทศไทยและผู้หนีภัยจากการสู้รบแนวชายแดนไทยพม่า

นายมานพ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยการสู้รบในประเทศไทยมากกว่า 70,000 -90,000 คน กระจายอยู่ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรี ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 และคงอยู่ในสถานะที่ไม่ได้ถูกยอมรับว่าเป็นผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ เพราะประเทศไทยไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย สถานะของผู้ลี้ภัยจึงใช้คำว่าผู้พักพิงชั่วคราว

 “ในระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย ชีวิตความเป็นมนุษย์ ความเป็นคน ในสถานะที่เป็นผู้ลี้ภัย อยู่อย่างยากลำบาก ซึ่ง ประเทศไทยต้องแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้ได้” นายมานพ กล่าว

 นายมานพ กล่าวต่อว่า ในบทบาทสภาผู้แทนราษฎร จึงขอเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อที่จะแก้ไขเรื่องนี้ เพื่อที่จะสามารถดึงบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการระหว่างประเทศ เรื่องความมั่นคง และเรื่อง อื่นๆที่เกี่ยวข้อง เข้ามาเป็นคณะกรรมการวิสามัญได้ เพื่อพิจารณาว่าจะแก้ไขปัญหาคนเหล่านี้อย่างไร จะร่วมมือกับนานาประเทศได้อย่างไร รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านต้นทาง จะร่วมมือกันอย่างไร

นายมานพ กล่าวว่า เราจะประสานภาคประชาชน ภาควิชาการที่มีประสบการณ์เรื่องนี้อย่างยาวนาน และจะดำเนินการในลักษณะเป็นคณะทำงาน ดำเนินการทำงานคู่ขนานไปก่อน เพื่อความรวดเร็ว ทั้งนี้หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับรองชัดเจนแล้ว คณะทำงานจะเข้าไปพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยจะไม่รอว่าการตั้งกรรมาธิการจะสำเร็จเมื่อใด เพราะเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ ไม่ควรละเลยในประเด็นนี้

นายกัณวีร์ สืบแสง พรรคเป็นธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยยังนิยามว่าประเทศไทยมีผู้ลี้ภัย 0 คน แต่ความจริงผู้หนีภัยอยู่ในไทยมากกว่า 91,000 คน ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งในแนวชายแดน มานานกว่า 43 ปีแล้ว เรายังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ความจำเป็นที่ต้องมีคณะกรรมาธิการ เพื่อใช้กรอบของกฎหมายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการออกแบบกฎหมายนำไปสู่การแก้ปัญหาและยุติสุญญากาศทางกฎหมาย

นายกัณวีร์ เผยว่า ประเทศไทยมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับกลไกในการพิจารณาสถานะผู้ที่ไม่สามารถกลับสู่มาตุภูมิได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจะมีผลบังคับใช้ในเดือนหน้า แต่เป็นเพียงกลไกหนึ่งที่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพได้ จึงต้องแก้ไขด้วยกฎหมาย

 “พี่น้องที่อยู่บริเวณชายแดน 91,000 กว่าคน นาน 43 ปี ยังไม่ทราบเลยว่าเขาจะอยู่อย่างไร เกิด แก่ เจ็บ และตายอยู่ในศูนย์พักพิงโดยไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังไม่นับถึงชาวอุยกูร์ที่ถูกขังลืมในห้องกัก ตม.นานถึง 9 ปี จำนวนเกือบ 50 คน หรือชาวโรฮิงญาที่หนีภัยประหัตรประหารมาเป็นคนไร้สัญชาติ จึงต้องมองเห็นแก่นของปัญหาคือการลี้ภัย หนีภัยประหัตประหาร จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งและเร่งด่วนโดยใช้กรอบกฎหมาย” นายกัณวีร์ กล่าว

นายกัณวีร์ ยังระบุว่า รัฐไทยต้องไม่มองผู้ลี้ภัยเป็นภาระในการดูแล ไม่ใช่ภัยความมั่นคง แต่ต้องผลักดันให้เขาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ให้เขาทำงาน จ่ายภาษีให้ประเทศไทย เป็นมนุษย์เหมือนเราทุกคน

 “หากเราไม่มองมนุษย์เป็นมนุษย์แล้ว ประเทศไทยจะมีจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศยากจริงๆ ในศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยจำเป็นต้องมีจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศอย่างสง่าผ่าเผย ต้องเป็นผู้นำ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม” นายกัณวีร์ กล่าว

นายกัณวีร์ ยังกล่าวว่า ตนอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่เป็นกรรมการอยู่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยอมรับผู้ลี้ภัยและแสวงหาทางออก คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ลี้ภัย

ผศ.มาลี สิทธิเกรียงไกร คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ ส.ส.ให้ความสำคัญผู้ลี้ภัยที่อยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวมากว่า 30 ปี แต่รัฐบาลยังเรียกชื่อว่าที่พักพิงชั้วคราวอยู่และไม่ยอมรับสถานะผู้ลี้ภัยทั้งๆที่ตรงกับนิยามของสหประชาชาติ แต่เพราะประเทศไทยไม่ลงนามจึงไม่ยอมรับสถานะที่แท้จริงของพวกเขา อย่างไรก็ตามล่าสุดทางสหประชาชาติได้เตรียมที่จะคัดเลือกคนเหล่านี้เพื่อไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3 เพิ่ม

“ในปี 2548 ได้มีการส่งไปประเทศที่ 3 ชุดใหญ่ เขาเลือกเอาคนทีมีความรู้ความสามารถ เช่น หมอ ครู ไปเยอะแล้ว ก่อให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ในศูนย์พักพิง ช่วงนี้เขาก็จะมาคัดไปประเทศ 3 อีก ถามว่าทำไมรัฐไทยถึงไม่เลือกคนเหล่านี้ไว้ บางส่วนเกิดในแผ่นดินไทย รู้เรื่องวิถีวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างดี ทำไมรัฐไทยถึงไม่นำพวกเขาเข้าสู่กระบวนการพัฒนา แต่กลับปล่อยให้ประเทศที่ 3 เลือกเอาหัวกะทิไป”ผศ.ดร.มาลี กล่าว

นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า ถ้ามีการตั้งกมธ.ขึ้นมาศึกษาและแก้ปัญหาเรื่องนี้ ตนเห็นว่า ควรให้สิทธิบางประการกับคนเหล่านี้และมีกระบวนการคัดเลือกให้ผู้ที่มีศักยภาพเข้ามามีส่วนในการพัฒนาประเทศไทยและประเทศไทยไม่ควรกักขังหน่วงเหนี่ยวพวกเขาไว้ตลอด ควรสอนภาษาไทย หลักสูตรไทย พวกเขาควรมีโอกาสศึกษาต่อ ทุกวันนี้สังคมไทยมีประชากรเกิดใหม่น้อยและกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัย ทำอย่างไรที่จะดึงพวกเขาให้มาทำประโยชน์ในพัฒนาะประเทศ เพราะพวกเขาจำนวนมากมีทักษะด้านภาษาทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาพม่า ภาษาชาติพันธุ์ เราควรเอามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนา

“ภายในศูนย์มีฝึกอาชีพต่างๆ มีการปลูกผัก มีองค์กรนานาชาติมาฝึกให้ แม้แต่ด้านสุขภาพ พวกเขาสามารถดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ ถ้าเราไม่มองเรื่องความมั่นคงชายแดนเป็นตัวนำ แต่มองเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ ก็ควรชักชวนพวกเขามาร่วมพัฒนาประเทศได้ โดยเฉพาะ อ.แม่สอด ได้ประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ควรเอาเขามาร่วมพัฒนา ในศูนย์พักพิงมีแรงงานฝีมือที่มีควารู้ท้องถิ่น และความรู้หลากหลาย มีทักษะชีวิตแตกต่างกันไป ที่ผ่านมารัฐไทยแค่เข้าไปจดทะเบียน แต่ไม่ยอมจำแนกความรู้ความสามารถว่าเขามีศักยภาพอะไรบ้าง”ผศ.ดร.มาลี กล่าว

————

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →