เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบ(www.transbordernews.in.th) ได้รับแจ้งจากชาวบ้านพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล ว่า เมื่อช่วงดึกเวลาประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้น้ำฝนสะสมที่ค้างอยู่บนภูเขาไหลบ่าลงมาท่วมพื้นที่ใจกลางเกาะอย่างรวดเร็ว ทั้งย่านชุมชนชาวเล ตลอดจนย่านการค้าการท่องเที่ยวของหลีเป๊ะอย่างถนนคนเดินทั้ง 3 เส้นทาง ระดับน้ำท่วมสูงสุดถึงระดับหน้าอก ทำให้ชาวบ้าน ผู้ประกอบการ ตลอดจนนักท่องเที่ยวตื่นตระหนก เร่งขนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูงกันอย่างจ้าละหวั่น บ้างก็ขนได้ทัน บ้างก็ได้รับความเสียหาย อาทิ ที่นอนหมอนมุ้ง เครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่กิจการร้านค้าที่ถูกน้ำท่วมข้าวของและสินค้าจนได้รับความเสียหาย
ขณะที่บริเวณริมทะเลมีคลื่นลมแรง พัดเอาสิ่งปลูกสร้าง เพิงพักของชาวบ้าน ตลอดจนข้าวของเสียหาย โดยมีเรือประมงพื้นบ้านของชาวเลถูกคลื่นลมพัดกระแทกกันจนกาบเรือเสียหาย ทั้งนี้บรรดาชาวบ้าน ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้นำชุมชน ได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำท่วมขังกลางเกาะออกสู่ทะเล แต่ติดปัญหาความล่าช้าเนื่องจากต้องจัดเตรียมซื้อจัดหาน้ำมัน และเครื่องสูบน้ำที่มีขนาดเล็ก ต่อมาทางองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่ายและเจ้าของพื้นที่เร่งการสนับสนุนน้ำมันและเครื่องสูบน้ำเพิ่ม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ กระทั่งทางอำเภอเมือง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาช่วยจำนวน 3 เครื่อง แต่ต้องสลับกันสูบและพักเครื่อง ทำให้ระดับน้ำลดลงแต่ไม่มากนัก
ทั้งนี้ มีบ้านเรือนประชาชน และชาวเล ถูกน้ำท่วมถึงกว่า 300 หลังคาเรือน โดยเฉพาะพื้นที่หมู่บ้านชาวเลอุรักลาโว้ยซึ่งเป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลด้านหลังโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทกับเอกชนในเรื่องการใช้เส้นทางสัญจร รวมทั้งร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทตามแนวถนนคนเดินอีกเป็นจำนวนมาก
นายเดชณรงค์ อยู่กลาง ผู้ใหญ่บ้านม.7 เกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล กล่าวว่า ฝนตกลงมาอย่างหนัก 2 ช่วง เหตุการณ์เกิดขึ้นราวช่วงเวลา 04.00 น. ช่วงย่างเข้าวันที่ 10 กันยายน มีฝนตกไปถึงเวลา 09.00 น. น้ำไม่สามารถระบายออกทะเลได้ เพราะเส้นทางไหลของน้ำถูกปิดหมด จึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการสูบน้ำออก แต่ระดับพื้นที่ทำไม่ทันเอาไม่อยู่ เขตเศรษฐกิจล้วนได้รับผลกระทบหมด
“ตื่นเช้ากันมาชาวบ้านก็ตกใจกันหมด มาเร็วและแรงมาก เอาไม่ทันเลย ดีว่าเกิดใกล้รุ่งแล้ว ถ้าเกิดกลางดึกกว่านี้ความเสียหายจะมากกว่านี้ ปัญหาเร่งด่วนขณะนี้ คือ ระบบสุขาภิบาล ส้วมเต็มล้นหมดเลยเพราะน้ำท่วม ชาวบ้านหาห้องส้วมกันไม่ได้ ก็ต้องพึ่งพาช่วยเหลือตัวเอง ไปเข้าบ้านที่อยู่สูงกว่า แต่ก็ไม่เพียงพอ รอบนี้รุนรแงมาก โดนกันหมดไม่แต่เฉพาะชาวเล เราสำรวจทุกบ้าน ช่วยสูบน้ำให้เขา เหตุการณ์วันนี้มันสะท้อนปัญหาเรื่องที่ชาวบ้านเรียกร้องเรื่องทางระบายน้ำซึ่งเป็นที่ดินดั้งเดิม คือลำรางสาธารณะ ที่สภาพปัจจุบันนี้น้ำไม่มีทางออกทางระบายแล้ว เมื่อยังแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้ เราก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปก่อนคือการสูบน้ำ แต่ถ้าฝนตกลงมาแบบนี้อีกมันก็ท่วมอีก ชี้ให้เห็นชัดเจนเลยว่า มันมีปัญหาอยู่จริง ชาวบ้านเราไม่ได้สร้างเรื่องขึ้นมา เพียงแต่เราจะพูดความจริงเมื่อไหร่ และเป็นปัญหาที่ที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ที่มีพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร) เป็นประธานกำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ในขณะนี้”นายเดชณรงค์กล่าว
ด้านนางสลวย หาญทะเล อายุ 61 ปี ชาวบ้านเกาะหลีเป๊ะ กล่าวว่า บ้านของตนก็ถูกน้ำท่วม ที่นอนเครื่องใช้ได้รับความเสียหายทั้งหมด บ้านชาวเลที่อยู่ละแวกเดียวกันก็ท่วมหมด ครั้งนี้มันแรงมาก ตั้งแต่ตนเกิดมาก็มีครั้งนี้ท่วมรุนแรงที่สุด ท่วมหนักกว่าเมื่อปี 2554 ตนตกใจมาก คิดว่าทำไมเกิดแบบนี้ มันไม่มีทางระบายน้ำสู่ทะเลแล้วทุกวันนี้ ชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องนี้ เราไม่อยากให้ใครเดือดร้อน แต่มันเกิดจริงๆ อยากให้มีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ชัดเจน ครั้งนี้เรียกได้ว่าท่วมทันตาเห็น มันเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับเกาะหลีเป๊ะ
“ครั้งนี้ท่วมทั่วถึงทุกระดับเลย ทั้งแม่ค้า ผู้ประกอบการ รวมทั้งชาวบ้าน โดนหนักเหมือนกันหมด เราต้องมาพูดกันอย่างจริงจังแล้วเรื่องลำรางสาธารณะ อยากฝากคณะกรรมการชุดพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ว่าให้แก้เรื่องนี้โดยด่วน เพราะมันท่วมจริงๆ ต้องทำให้เด็ดขาด ไม่นั้นต่อไปก็จะท่วมอีก หนักขึ้นอีก การรอขั้นตอนกระบวนการตามระเบียบ จะทันต่อเหตุการณ์หรือไม่ เพราะถ้าตกแล้วท่วมแบบนี้ อีก 1-2ปีข้างหน้าเกาะหลีเป๊ะจะท่วมหมด ชาวบ้านไม่ได้สร้างภาพ แต่ถ้าแก้เรื่องนี้ได้ ประโยชน์จะตกอยู่กับทุกคนไม่เฉพาะแต่ชาวเล”นางสลวยกล่าว
ด้านนายพีรพัฒน์ เงินเจริญ นายอำเภอเมืองสตูลกล่าวถึงสถานการณ์ในขณะนี้ว่า ได้ใช้เครื่องสูบน้ำระบายออกซึ่งน้ำลดลงตามลำดับ คาดว่าในวันที่ 12 กันยายนจะกลับสู่สถานการณ์ปกติ จากการประเมินมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนข้าวของเสียหาย ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวเรื่องการบุกลุงลำรางสาธารณะเป็นเหตุทำให้ไม่สามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้นั้น เป็นเรื่องการดำเนินการทางข้อกฎหมาย ซึ่งภาครัฐก็กำลังดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีบุกรุก ก็ต้องรอกระบวนการในชั้นศาลเสร็จสิ้นก่อนจึงจะเข้าไปดำเนินการเปิดทางน้ำได้ หากยังไม่สามารถทำได้ก็ยอมรับว่าอาจจะมีน้ำท่วมได้ทุกปี
ด้านนายธนพร ศรียางกูร กรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กล่าวว่า เหตุน้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้ชี้ชัดว่า การบุกรุกลำรางสาธารณะได้ส่งผลกระทบรุนแรง คณะกรรมการฯจะเร่งแก้ปัญหานี้แน่นอน ตามที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ระบุว่าพื้นที่ที่บุกรุกลำรางสาธารณะจะถูกเพิกถอนทั้งหมด ซึ่งความคืบหน้าหลังจากที่คณะกรรมการได้ลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา และสั่งการให้นายอำเภอเมืองส่งรายงานการสำรวจพื้นที่บุกรุกลำรางสาธารณะบนเกาหลีเป๊ะมายังคณะกรรมการเพื่อพิจารณา โดยทางนายอำเภอได้ส่งรายละเอียดมาให้ครบถ้วนทั้งหมดแล้ว ซึ่งพบว่ามีการบุกรุกกันเป็นจำนวนมากอยู่ตลอด 3 เส้นทางหลักบนเกาะ ซึ่งในอดีตเส้นทางทั้งหมดเคยเป็นเส้นทางน้ำไหล แต่ปัจจุบันถูกปิดกั้นหมดแล้ว ทั้งนี้คณะกรรมการจะมีการประชุมชุดใหญ่ในเรื่องนี้ในวันที่ 25 กันยายนนี้ โดยแนวทางปฏิบัติคณะกรรมการฯจะมีมติให้เพิกถอน แล้วส่งเรื่องไปยังกรมที่ดินเพื่อดำเนินการเพิกถอนและดำเนินคดี ทั้งบุกรุกลำรางและที่ดินที่มีการบุกรุกอื่นๆ ตลอดจนทำรายงานเสนอต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งมอบอำนาจหน้าที่แก่คณะกรรมการ
“เรายังยืนยันเดินหน้าทำงานนี้ต่อไป แต่ขึ้นกับว่ารัฐบาลชุดใหม่จะให้พวกเราเดินหน้าช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มกำลังอย่างนี้ต่อไปหรือไม่ ก็ต้องบอกตามตรงว่าในการทำงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการ โดยเฉพาะพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งเป็นประธาน ก็โดนแรงเสียดทานในพื้นที่ค่อนข้างเยอะ ทั้งอิทธิพลทางการเมืองซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าเครือข่ายอิทธิพลทางการเมืองในพื้นที่นั้นมีความเชื่อมต่อกับพรรคการเมืองระดับชาติ ดังนั้นปัญหาของชาวหลีเป๊ะจึงถูกกดทับมาเป็นระยะเวลานาน และในเมื่อวันนี้คณะกรรมการได้เดินหน้าเปิดพรม กวาดขยะแล้ว ก็ต้องวัดใจรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะเลือกอุ้มนายทุนหรือให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน น้ำท่วมครั้งนี้ คือ การบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศน์ที่สำคัญของเกาะหลีเป๊ะเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล” นายธนพรระบุ