เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2566 ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย (LRDC) และคณะนิติศาสตร์ จัดกิจกรรมวันงานที่มีคุณค่า (World Day For Decent Work) เพื่อเรียกร้องสิทธิสวัสดิการและร่วมผลักดันข้อเสนอเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในชีวิตของคนทำงาน
บรรยากาศภายในงานมีซุ้มกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติจากองค์กรมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) และซุ้มขายสินค้าเพื่อสนับสนุนกลุ่มคนทำงานหญิงเพื่อความยุติธรรม (Women Workers For Justice Group) นอกจากนี้มีผู้ใช้แรงงานหลากหลายอาชีพทยอยเข้าร่วมงาน และมีกิจกรรมการแสดงของตัวแทนแรงงาน พนักงานบริการ เกษตรกรจังหวัดลำพูน แม่บ้าน กรรมกร ฯลฯ
ทันตา เลาวิลาวัณยกุล พนักงานบริการและนักสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเอ็มเพาเวอร์ (Empower Foundation) กล่าวเปิดเวทีว่า คนในสังคมและที่ทำงานอย่างหนักในอุตสาหกรรมต่างๆ พวกเราคือคนในจำนวน 99% ที่ไม่ได้ครอบครองที่ดิน ที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินที่มั่นคงถาวรและเพียงพอ วันหนึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่กลับมีคนอยู่เพียง 1 % ในประเทศที่เป็นเจ้าของที่ดินและทรัพย์สินเกินครึ่งประเทศ
“ความไม่เท่ากันนี้ส่งผลให้เกิดการแก่งแย่งในที่ทำกิน ที่อยู่ อาศัยและทรัพย์สินที่เหลือ แรงงานถูกกดขี่ด้วยค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบต่างๆ กลุ่มแรงงานภาคเหนือจึงพยายามเรียกร้องให้การทำงานต้องมีความมั่นคง ได้รับการคุ้มครองและสามารถพัฒนาในอาชีพเพื่อที่จะได้ชื่อว่า งานดี มี คุณค่าอย่างแท้จริง” ทันตากล่าว
ขณะที่ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวบนเวทีว่า ในปัจจุบันมีแรงงานที่อยู่ในโรงงานและไม่ได้อยู่ในโรงงาน เช่น แรงงานไรเดอร์ นักเขียนฟรีแลนซ์ ในอดีตการจ้างงานมีพื้นที่ เวลา นายจ้าง ที่ชัดเจน ในความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีขยายมาสู่การทำงานที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ทุกเวลา นายจ้างที่คลุมเครือ ส่งผลให้เกิดการจ้างงานแบบยืดหยุ่น เพื่อรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจ ทำให้ความหมายของผู้ใช้แรงงานคลุมเครือและถูกจำแนกแยกย่อย กลายสภาพเป็นแรงงานนอกระบบ, แรงงานต่างด้าว, แรงงาน outsource, แรงงานอิสระ, แรงงานกึ่งอิสระ เป็นต้น และระบบกฎหมายที่มีอยู่ดั้งเดิมไม่ครอบคลุมถึงการจ้างงานในรูปแบบ เปลี่ยนไป มีการศึกษาและให้ความสำคัญกับแรงงานนอกโรงงานทำให้ถูกกำจัดสิทธิให้ลดต่ำลง
“ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา คือ 1. ยืนยันสถานะของผู้ใช้แรงงาน ต้องลดทอนความพยายามในการจำแนก แยกแยะ จัดประเภท ทำให้เป็นกลุ่มย่อย ๆ ดังที่ปรากฏในสังคมไทย เช่น แรงงานนอกระบบ, แรงงานต่างด้าว, แรงงานอิสระ เป็นต้น 2. ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานควรต้องได้รับการคุ้มครองมาตรฐานในการทำงาน ความมั่นคง และความปลอดภัยในฐานะของแรงงาน กฎหมายคุ้มครองแรงงาน, ประกันสังคม, กองทุนเงิน ทดแทน, การจัดตั้งสหภาพ ในฐานะของพลเมือง บำนาญประชาชน การรักษาพยาบาล 3. ขยายรวมกฎหมายควรต้องผนวกรวมแรงงาน ไม่ใช่การจำแนกและกีดกันกฎหมายหลักที่เป็นมาตรฐานให้กับผู้ใช้แรงงานไม่จำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายใหม่ตลอดเวลา การออกกฎหมายที่แยกย่อย จัดประเภทคือการมุ่งจำกัดสิทธิให้ลดต่ำลง” รศ.สมชายกล่าว
ด้าน นายเริงฤทธิ์ ละออกิจ พนักงานภาคบริการ สหภาพแรงงานบาริสต้าเชียงใหม่ กล่าวบนเวทีว่า ในส่วนของงานที่มีคุณค่าในความต้องการของแรงงานภาคบริการที่เราอยากให้เกิดขึ้นคือการที่เห็นภาพตนเองสามารถมีการเติบโตไปพร้อมกับทางทำงานหรืองานที่ทำ เราอยากเห็นการมีพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแรงงานได้มีโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงาน การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่ได้ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างเดียวแต่ยังหมายถึงการมีความปลอดภัยในการทำงานที่เพิ่มขึ้น สวัสดิการที่ดีขึ้น
“การได้รับความคุ้มครองจากทั้งกฎหมายแรงงานที่ต้องพัฒนาไปพร้อมๆกับสภาพการจ้างงานสมัยใหม่และการมีองค์กรของแรงงาน โดยแรงงาน และเพิ่มแรงงาน เข้ามาปกป้องและเรียกร้องประเด็นอื่นๆของแรงงานได้ เช่น องค์กรอย่างสหภาพแรงงาน เป็นต้น สิ่งที่เรากำลังวาดฝันไว้มันไม่มีอะไรเกินจินตนาการหรือเพ้อฝันแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งพึงอยากเห็นการส่วนร่วมออกแบบสังคมไปพร้อมกันกับคนกลุ่มอื่น ระบบของสังคมที่จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้แรงงานที่เป็นคน 99% ของสังคมนี้” นายเริงฤทธิ์กล่าว