เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ที่ศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)หรือผู้แทนนายก อบต.ทุกพื้นที่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในนามชมรมนายก อบต.แม่ฮ่องสอน จำนวน 42 แห่ง ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผ่านนายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด(ผวจ.)แม่ฮ่องสอน นอกจากนี้ยังมี สส. 3 คนคือนายปกรณ์ จีนาคำ สส.พรรคพลังประชารัฐ นายสมบัติ ยะสินธุ์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ และนายเลาฟั้ง บิณฑิตเทิดสกุล สส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล รวมทั้งนายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เดินทางมาร่วมรับหนังสือด้วย
ทั้งนี้หนังสือถึงนายกรัฐมนตรีระบุว่าเนื่องด้วยจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าตามกฎหมายประมาณร้อยละ 98 ซึ่งที่ตั้งชุมชนและพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สำหรับจัดทำโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าตามกฎหมาย ทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งมีทั้งหมด 50 แห่ง และหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะอื่น ไม่สามารถจัดทำโครงการพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานหรือซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเสียหายสำหรับบริการประชาชนในท้องถิ่นได้ แม้ว่าจะได้รับอนุมัติงบประมาณจากสภาองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วก็ตาม
หนังสือระบุว่า ขณะนี้มีทั้งหมด 6,743 โครงการ แต่เนื่องจากต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ประกอบกับมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 กำหนดแนวทางปฏิบัติให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่จะดำเนินการใดในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และต้องได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้ก่อน จึงจะเข้าดำเนินการได้ หากไม่ได้รับอนุญาตก่อนให้กรมป่าไม้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด และมิให้ส่วนราชการทุกหน่วยงานจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ป่าไม้ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้
หนังสือระบุว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความกันดารเป็นอย่างมาก ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก ยังมีหมู่บ้านอีกจำนวนมากที่ไม่มีถนนคอนกรีตหรือถนนลาดยางถึงหมู่บ้าน ทำให้การเดินทางจากหมู่บ้านไปในเมืองมีความลำบากมาก และไม่มีไฟฟ้าใช้ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้หากเกิดปัญหาภัยพิบัติทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายหรือสิ่งสาธารณูปโภคได้รับความเสียหาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่มีอำนาจเข้าไปดำเนินการได้ จะต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้หรือกรมอุทยานฯ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกัน บรรเทาหรือแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนได้
“การกำหนดห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ และการไม่ดำเนินการอนุญาตให้จัดทำโครงการสร้างสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นดังกล่าวข้างต้นนี้ ยังขัดกับหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ มาตรา 56 ที่บัญญัติว่า “รัฐต้องจัดหรือดําเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิต ของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ประกอบกับการที่กฎหมายกำหนดให้อธิบดีกรมป่าไม้หรือกรมอุทยานฯ เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติอนุญาตแต่เพียงผู้เดียว โดยในทางปฏิบัติมีการออกระเบียบที่จะต้องผ่านกระบวนการให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการระดับต่างๆ ทำให้โครงการทุกขนาดทั่วประเทศ แม้จะเป็นโครงการขนาดเล็กของท้องถิ่น ก็จะต้องส่งไปขออนุญาตที่ส่วนกลางทั้งหมดแต่เพียงที่เดียว ทำให้การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ดำเนินการจริงเป็นไปอย่างล่าช้า โดยในส่วนของกรมป่าไม้นั้น ในแต่ละปีอธิบดีกรมป่าไม้สามารถพิจารณาและอนุมัติได้ไม่เกิน 500 โครงการ ขณะที่มีโครงการถูกส่งไปขออนุญาตและค้างอยู่มากกว่า 60,000 โครงการ แสดงให้เห็นว่าแนวทางและวิธีการแบบเดิมใช้ไม่ได้ และตัวระเบียบขั้นตอนการขออนุญาตกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน”หนังสือระบุ
หนังสือถึงนายกฯระบุว่า ขอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี 23 มิถุนายน 2566 และเร่งรัดผลักดันให้ออกมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผัน การเข้าดำเนินการใช้พื้นที่ในเขตป่าโดยอนุโลม หรือใช้อำนาจทางบริหารสั่งการใดๆ เพื่อผ่อนผันให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน สามารถดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนแก่ประชาชน รวมทั้งดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในเขตรับผิดชอบได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการในแผนข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือโครงการที่ได้รับการอุดหนุนเฉพาะกิจและตามภารกิจทั่วไป เพื่อตอบสนองความต้องการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และประโยชน์ของประชาชนต่อไป
นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผวจ.แม่ฮ่องสอน กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการต่างๆพยายามให้ความร่วมมือแต่บางครั้งต้องใช้เวลาและดุลพินิจซึ่งไม่สอดคล้องกับระบบงบประมาณปีต่อปี บางครั้งใช้เวลาจนไม่ตรงใจกับชาวบ้านโดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประชาชนหลายพื้นที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นถนน ไฟฟ้า ระบบน้ำประปา การส่งหนังสือของชมรมนายก อบต.แม่ฮ่องสอน ในครั้งนี้ก็จะเป็นข้อมูลให้ฝ่ายบริหารได้แก้ไข
นายเลาฟั้ง บิณฑิตเทิดสกุล สส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่าโครงการของผู้บริหารท้องถิ่นติดขัดในเรื่องนโยบาย ต่อให้มีงบประมาณเข้ามาก็ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย กลายเป็นปัญหาใหญ่ ในส่วนพรรคก้าวไกลกำลังพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ เราคิดว่าบริการขั้นพื้นฐานเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน หน่วยงานรัฐมีหน้าที่จัดทำให้และไม่ควรต้องไปขออนุญาตป่าไม้ แค่แจ้งให้ทราบว่าจะดำเนินการ ยกเว้นโครงการที่เปิดป่าใหม่หรือกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็สามารถคัดค้านด้วยเหตุผล แต่โครงการเดิมไม่ควรต้องขออนุญาต
“ไม่ใช่แค่เรื่องไฟฟ้า แต่หมายถึงการชลประทานด้วย คนแม่ฮ่องสอนกว่า 90% เป็นเกษตรกร แต่ระบบชลประทานเข้าถึงเพียง 10% แล้วเกตษรกรจะพัฒนาได้อย่างไร เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆของรัฐจะเข้าถึงและพัฒนาได้อย่างไร”นายเลาฟั้ง กล่าว
นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญชมาศ นายก อบต.แม่สามแลบ อ.สบเมย กล่าวว่า ผวจ.แม่ฮ่องสอน รับปากว่าจะรีบประสานงานส่งให้นายกรัฐมนตรีโดยด่วน เพราะที่ผ่านมาจังหวัดไม่สามารถดำเนินการโครงการต่างๆได้เหมือนกัน ขณะที่ สส.ก็รับปากว่าจะนำเรื่องเข้าไปหารือในสภา เช่น ตั้งกระทู้ถาม
นายพงษ์พิพัฒน์กล่าวว่า เป็นปัญหาที่หน่วยงานของรัฐไม่สามารถเข้าไปพัฒนาในหมู่บ้านต่างๆของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นเรื่องที่หมักหมมมานาน ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่เข้าไปแก้ปัญหาชาวบ้านแต่ต้องติดขัดการเข้าไปพัฒนาพื้นฐานเพราะอยู่ในเขตป่า บางเรื่องดำเนินการได้ แต่โครงการอีกจำนวนมากไม่สามารถทำได้เพราะติดเงื่อนไขของกฎหมาย
“เราจึงเห็นว่าเป็นข้อจำกัดการทำงานของท้องถิ่น ดังนั้นระดับนโยบายน่าจะปลดล็อคหรือแก้ไขปัญหานี้ เช่น มีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้ เช่นเดียวกับกรณีที่เคยมีการนิรโทษกรรมให้หน่วยงานที่สร้างโครงการในพื้นที่ป่าโดยยังไม่ได้รับอนุญาต เรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรัว ระหว่างการรอแก้ไขกฎหมายควรมีมติ ครม.เพื่อให้ พวกเราทำงานกันได้ เราเป็นห่วงว่าโครงการจำนวนมากในงบประมาณปี 2567 ที่ตั้งไว้ก็ตกไปเหมือนปีก่อนๆเพราะพื้นที่อยู่ในเขตป่า”นายก อบต.แม่สามแลบ กล่าว
นายพงษ์พิพัฒน์กล่าวว่า ทุกวันนี้แม้แต่การปรับเปลี่ยนถนนลูกรังเป็นถนนคอนกรีต หรือถนนลาดยาง เข้าไปในหมู่บ้านก็ยังไม่สามารถทำได้ เพราะอยู่ในเขตป่า จำเป็นต้องขออนุญาตหน่วยงานที่ดูแล หากใครฝ่าฝืนอาจถูกตรวจสอบหรือแจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ซึ่งมีนายก อบต.หลายคนต้องถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นการทำโครงการพัฒนาต่างๆจึงมีความเสี่ยง แม้กระทั่งการทำศูนย์เด็กเล็กก็ยังทำไม่ได้ รวมถึงการทำประปาภูเขาหรือการปลูกป่าก็ต้องขออนุญาต ทำให้แต่ละปีต้องคืนงบประมาณจำนวนมาก
“พื้นที่อื่นก็มีปัญหาเช่นกัน แต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่ในเขตป่าเป็นส่วนใหญ่เลยจึงมีปัญหาหนัก ทางออกระยะยาว ควรมีการแก้ไขกฎหมาย หรือเขียนกฎหมายให้แม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่พิเศษ เราจะไปอิงกฎหมายของป่าไม้หรืออุทยานฯเหมือนที่อื่นไม่ได้ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านรักษาไว้เป็นป่าไม้ จึงควรผ่อนปรนบางเรื่อง เหมือนกับครั้งหนึ่งที่รัฐบาลทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อมีข้อติดเรื่องกฎหมายก็ยกเว้นได้ ที่นี่ก็เหมือนกัน ควรเป็นเขตพิเศษ อะไรเป็นข้อติดขัดทางกฎหมายก็ควรยกเว้นได้” นายพงษ์พิพัฒน์ กล่าว