เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 กลุ่ม ‘Bright Future’ กลุ่มแรงงานชาวพม่าในไทย จัดการชุมนุม “เอาผิดมินอ่องหลาย อาชญากรสงคราม” หน้าองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations) ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร หลังรัฐบาลพม่าหลังใช้เครื่องบินรบจู่โจมชาวบ้านผู้ลี้ภัยสงครามในพื้นที่รัฐคะฉิ่น ส่งผลให้พลเรือน รวมทั้งเด็กและคนชราที่ไร้อาวุธเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ได้มีการยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องไปยังยูเอ็น รัฐบาลไทย และสหประชาชาติ รัฐบาลไทยและประชาคมอาเซียน
หนังสือระบุว่า ครั้งนี้ไม่ใช่การใช้อากาศยานโจมตีเป้าหมายที่ไม่ใช่เป้าทางทหารครั้งแรกโดยกองกำลังของมินอ่องหลายแต่ โดยในเดือนตุลาคมปี 2022 เครื่องบินรบของกองทัพเมียนมาได้ทิ้งระเบิดใส่เทศกาลดนตรีรัฐคะฉิ่นจน มีผู้เสียชีวิตมากถึง 60 คน ปัจจุบันเหตุการณ์นี้ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในชื่อ “การสังหารหมู่ที่พ่ากั่น” ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา ถึงวันนี้รัฐบาลทหารของมินอ่องหลายได้คุมขัง นักโทษการเมืองกว่า 25,000 คน ใช้อาวุธปืนไปจนถึงการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบ เข่นฆ่าประชาชนไป แล้วอย่างน้อย 4,100 คน และก่อให้ต้องมีผู้ลี้ภัยอีกนับไม่ถ้วน
“พวกเรากลุ่ม Bright Future ขอเรียกร้องไปยังสหประชาชาติ รัฐบาลไทยและประชาคมอาเซียนให้มีการลงมือช่วยเหลือดังนี้ 1.เร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามโมเดล Humanitarian Corridor บริเวณชายแดนไทย ทั้งหมดติดกับเมียนมาโดยกําหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและปราศจากปฏิบัติการทางทหาร 2.เร่งกดดันแผนการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน (Five-point Consensus) โดยเฉพาะข้อที่ 1 คือ การยุติความรุนแรงทั้งหมดในประเทศเมียนมา และข้อที่ 4 คือภารกิจด้านมนุษยธรรมในเมียนมา 3.กดดันรัฐบาลทหารเมียนมาให้เร่งคืนอำนาจประชาธิปไตยสู่ประชาชน คืนความยุติธรรมและปล่อยตัว นักโทษทางการเมืองทุกคนเพื่อนำประเทศกลับสู่สภาวะปกติและสร้างเสถียรภาพในด้านต่าง ๆ รวมถึง ด้านเศรษฐกิจ เพื่อรัฐบาลจะได้ไม่ต้องพึ่งพาแผนการรีดไถเงินได้ 25% จากแรงงานข้ามชาติ หากไร้ซึ่งงยุติธรรมก็ขอให้เผด็จการไร้ซึ่งสันติ”หนังสือระบุ
ขณะที่ ดร.ศิรดา เขมานิฏฐาไท อาจารย์ประจำสำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่าเหตุการณ์โจมตีค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน (IDP camp) ไม่ไกลจากเมืองไลซา (Laiza) ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ปฏิบัติการของกองทัพพม่าครั้งนี้เป็นการละเมิดหลักมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง การโจมตีที่มีพลเรือนเป็นเป้าเช่นนี้เป็นความรุนแรงต่อมนุษยชาติ (Atrocity) ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นพลเรือนและเป็นกลุ่มเปราะบางจากเดิมที่ต้องหนีภัยสงครามจากบ้านของตัวเองมาเป็นผู้พลัดถิ่นบริเวณชายแดน นอกจากนี้สถานที่อย่างค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน (IDP camp) ไม่ควรเป็นเป้าหมายของการโจมตี ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพราะเป็นที่พักพิงสำหรับกลุ่มคนที่เผชิญความยากลำบากมาแล้ว “กำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ของคะฉิ่น คือกลุ่ม KIA (กองกำลังอิสรภาพคะฉิ่น) เป็นเป้าหมายของการโจมตีเนื่องจากเป็นหนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่แสดงจุดยืนต่อต้านกองทัพพม่าหลังรัฐประหารอย่างชัดเจนและแข็งขัน และมีการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่รัฐประหาร กองทัพพม่าโจมตีรัฐคะฉิ่นอย่างร้ายแรงหลายครั้ง ตัวอย่างครั้งที่ร้ายแรงมากคือเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว มีการโจมตีทางอากาศโดยกองทัพพม่า ทำให้มีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 50 ราย บาดเจ็บเป็นร้อยราย อีกด้านหนึ่งนั้น หากมองภาพกว้าง รัฐคะฉิ่นเองก็เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ เต็มไปด้วยแร่มีค่า มีการทำเหมืองอย่างมาก โดยเฉพาะเหมืองหยก บริเวณรัฐคะฉิ่นจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเช่นกัน”ดร.ศิรดา กล่าว
ดร.ศิรดากล่าวว่า การกระทำของกองทัพเมียนมาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในทางบรรทัดฐานระหว่างประเทศ รัฐไทยควรระมัดระวังเรื่องท่าทีทางการทูตที่มีกับรัฐบาลทหารเมียนมาและกองทัพเมียนมา การรับรองความชอบธรรมของรัฐบาลทหารไม่ว่าทางตรงทางอ้อมไม่ควรเกิดขึ้นทั้งสิ้น นอกจากนี้เหตุการณ์นี้ยังชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ความรุนแรงและสงครามกลางเมืองในเมียนมาไม่มีทางจบลงง่ายๆ รัฐไทยต้องมีนโยบายรับมือผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวอย่างชัดเจนและเตรียมการในระยะยาว โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับการรับผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นประเภทต่างๆ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่ควรให้ถึงมือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง แปลว่าไม่ควรส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมผ่านรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งขาดเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในเขตสงคราม และยังขาดอำนาจในการควบคุมพื้นที่ส่วนมากในประเทศ