เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) ประกันสังคม ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งบอ ร์ดประกันสังคม ซึ่งอยู่ระหว่างการให้ผู้ประกันตนมาลงทะเบียนระหว่างวันที่ 12-31 ตุลาคม แต่มีผู้ประกันตนมาลงทะเบียนแล้วเพียงกว่า 1 หมื่นคนจากจำนวนผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์ 14 ล้านคน ว่าจริงๆ แล้วควรที่จะมีการเผยแพร่ข้อมูลมากกว่านี้ ไม่ว่าจะในสื่อออนไลน์ เช่น เฟสบุค ติ๊กต็อก อินสตาแกรม น้อยมาก ซึ่งขณะนี้ได้ขอให้สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ส่งข้อมูลมาให้โดยในวันที่ 23 ตุลาคม จะเร่งดำเนินการ
ประธานบอร์ดประกันสังคมกล่าวว่า นอกจากเรื่องการประชาสัมพันธ์ที่ยังน้อยเกินไป บางส่วนอาจเพราะว่าผู้ประกันตนบางส่วนยังไม่มั่นใจในการลงทะเบียนครั้งนี้ด้วย เพราะต้องให้มีการกรอกเลขบัตรประชาชนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้เกิดความหวาดระแวง ที่สำคัญคือผู้ประกันตนยังไม่รู้ว่าจะได้อะไรในการเลือกบอร์ดครั้งนี้ โดยการเลือกบอร์ดครั้งนี้จะเป็นตัวแทนของผู้ประกันตนเข้าไปทำหน้าที่ปกป้องและดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน
“วันที่ 23 ตุลาคมนี้ ผมจะเรียกเลขาธิการ สปส.และทีมประชาสัมพันธ์มาหารือ ช่วงสุดท้ายนี้ต้องโหมประชาสัมพันธ์ให้หนักขึ้น หรือบางทีอาจต้องขยายเวลาลงทะเบียน และบอร์ดประกันสังคมก็อนุมัติงบที่ใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท ประชาสัมพันธ์ประกันสังคมอ่อนมาก” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
น.ส.อรุณี ศรีโต อดีตผู้นำแรงงานและบอร์ดประกันสังคม กล่าวว่า รู้สึกตกใจที่เห็นผู้ประกันตนมาลงทะเบียนน้อยมากเพียงกว่า 1 หมื่นคน จากจำนวนผู้ประกันตน 14 ล้านคน ที่น่าห่วงเพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของผู้ประกันตนจึงควรทำให้ดูดีที่สุดเพราะตลอดระยะเวลาที่มีประกันสังคมมา 33 ปียังไม่เคยมีการเลือกตั้งในลักษณะนี้เลยที่ผ่านมามีการล็อคสเปคโดยผู้มีอำนาจมาโดยตลอด สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกันตนทุกคนรับรู้ว่ามีสิทธิในการเลือกตั้ง
“ข่าวว่ามีผู้ประกันตนที่มีความรู้ความสามารถเตรียมลงสมัคร ทำให้เรารู้สึกดีใจ บางส่วนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญด้านประกันสังคม ทำให้รู้สึกว่าตัวแทนของผู้ประกันตนไม่ได้ถูกล็อคไว้ในกลุ่มผู้นำแรงงานเก่าๆ เราอาจได้คนที่มีความรู้เข้าไปทำงานเพื่อคานอำนาจกับข้าราชการ สามารถถกเพียงแลกเปลี่ยนกันได้เพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง” อดีตผู้นำแรงงานกล่าว
น.ส.อรุณีกล่าวว่า ถ้าการประชาสัมพันธ์ไม่เข้าถึงผู้ประกันตน ก็ทำให้เป็นการเลือกตั้งแบบเดิมๆ ที่ผู้นำแรงงานบางคนไปเกณฑ์ลูกจ้างจากโรงงานในเครือมาลงคะแนน ทั้งๆ ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอยู่ทั่วประเทศ
“บอร์ดประกันสังคมต้องดูแลเงินกองทุนจำนวนเกือบ 3 ล้านล้านบาท การลงทุนต่างๆมีความสลับซับซ้อนมาก ลำพังผู้นำแรงงานคนเดิมๆอาจมีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอ เราน่าจะได้ตัวแทนจากคนที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น ผู้ประกันตนที่ทำงานในตลาดหลักทรัพย์ หรือนักการเงินการธนาคาร เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ยิ่งมีแนวโน้มค่าเงินบาทจะแข็งขึ้น แต่ดอลลาร์อ่อนตัว ทำให้น่าเป็นห่วง ขณะที่เลขาธิการ สปส.ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมมาจากข้าราชการประจำ ดังนั้นการลงทุนต่างๆ ต้องจ้างคนนอก” น.ส.อรุณี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ได้มีผู้ประกันตนที่มีความรู้ความสามารถเตรียมตัวลงสมัครกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะอาจารย์ในสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวเนื่องกับงานประกันสังคม ขณะที่เหล่าผู้นำแรงงานหน้าเดิมๆทั้งในกลุ่มผู้นำสภาองค์การลูกจ้าง ผู้นำแรงงานระดับสหภาพแรงงาน และผู้นำระดับกลุ่มย่านต่างๆ ได้รวมกลุ่มจัดทีมผู้สมัคร 7 คนและเริ่มมีการรณรงค์หาเสียง ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 ในผู้ที่เตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ให้สัมภาษณ์ว่า หัวใจในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแบบหนึ่งคนหนึ่งเสียงครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบอร์ดประกันสังคม เพราะนั้นสำคัญในแง่ที่สัดส่วนลูกจ้างและนายจ้าง ประกันสังคม ซึ่งเป็นกองทุนใหญ่อันดับหนึ่งมีรายได้มากกว่าปีละแสนล้าน แต่การจัดการยังมีปัญหาในเรื่องความโปร่งใส
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวต่อว่า หลายคนจับตามองคือเรื่องสิทธิประโยชน์ซึ่งฐานสิทธิประโยชน์เป็นฐานความคิดแบบเดิม ๆ อยู่ในกรอบแคบๆ อยากชวนให้มีการมองนอกกรอบพยายามทำให้กองทุนมองข้ามกรอบของเรื่องคณิตศาสตร์ประกันภัย (actuarial science) ตัดเรื่องความคุ้ม-ไม่คุ้มออกไป ให้กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่เอาตัวผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก สิทธิประโยชน์ไหนที่สามารถเป็นไปได้ให้อยู่ในวิสัยที่สามารถจัดการได้ จับต้องได้ ตัวอย่างเช่น เรื่องเงินเลี้ยงดูบุตรปัจจุบันอยู่ที่ 800 บาทต่อเดือนที่ไม่เพียงพอ ในสภาวะปัจจุบันมีเด็กเกิดน้อย การให้เกิดน้อย คนมีลูกน้อยลง การที่เพิ่มสิทธิประโยชน์เรื่องการเลี้ยงดูเด็กจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ส่วนเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลประกันสังคมน่าจะแย่ที่สุด เงินก็น้อยที่สุดหากเทียบกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช). ตรงนี้สามารถปรับให้มีการเพิ่มเติม รวมถึงสิทธิหลายอย่างของ สปสช. ที่รักษามะเร็งได้ทุกที่ทั่วประเทศ ในขณะนี้ประกันสังคมยังใช้ไม่ได้เลยเพราะฉะนั้นควรยกระดับให้สิทธิประกันสังคม
“ผู้ประกันตนกังวลอย่างมากในเรื่องการคำนวณบำนาญที่เราใช้เป็น 60 เดือนสุดท้ายในการคำนวณ ซึ่งบางคนทำงานส่งด้วยฐานเงินเดือน 15,000 บาทมาทั้งชีวิต แต่เดือนสุดท้ายถูกเลิกจ้าง ฐานเงินเดือนของเขาส่งมาตรา 39 เดือนละ 4,800 บาท พอคำนวณบำนาญแล้วแทนที่จะได้ 5,000 – 6,000 บาท กลับได้อยู่ที่ 1,000 กว่าบาท เพราะฉะนั้นจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณในเงื่อนไขที่อย่างน้อยที่สุดเอารายได้สูงสุด 60 เดือนที่เคยได้รับการสมทบมาคำนวณ เพื่อให้มีความยุติธรรมมากขึ้น”ว่าที่ผู้สมัครบอร์ด สปส.กล่าว
ขณะที่เฟสบุคของ ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าขออาสาสมัครรับเลือกตั้งเป็นบอร์ดประกันสังคม ในฐานะที่ตนเป็นผู้ประกันตนตาม ม.33 ขอใช้ความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการและวิจัยทั้งในและต่างประเทศด้านเศรษฐศาสตร์ การประกันสังคม งานผู้สูงอายุและการเงินการคลังสาธารณะ มาปฎิบัติหน้าที่บอร์ดประกันสังคมเพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนและความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.