เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “ทำไมต้องสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า” โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมเพื่อสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า
ศ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูดิ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวเปิดงานว่า นักคิดด้านเศรษฐศาสตร์บอกว่าการลงทุนของประเทศ นอกจากจะลงทุนเพื่อกระตุ้นภาวะทางเศรษฐกิจแล้ว ควรต้องลงทุนในมนุษย์ด้วย ซึ่งสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าคือนโยบายที่เป็นการลงทุนกับเด็กเพราะเด็กจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมในอนาคต จะทำอย่างไรให้เด็กมีอนามัยที่ดี มีการศึกษา มีการสร้างบรรยากาศในการดูแลเด็ก ทำอย่างไรถึงจะสร้างระเบียบวินัย สร้างให้ครู สร้างชุมชนให้เข้ามาดูแล ทั้งเด็กที่รวยและจนเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องดูแล
“ในอีก 20 ปีข้างหน้า เด็กจะเป็นกำลังสำคัญเป็นแรงงานที่ดีในอนาคตที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ อีกทั้งนโยบายดังกล่าวยังเป็นแนวทางหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำด้วย เด็กตามตะเข็บชายแดนที่มีพ่อแม่เป็นแรงงานข้ามชาติ ที่มีเด็กเกิดปีละหมื่นกว่าคน ไม่มีหลักฐานการเกิดที่ชัดเจน ซึ่งเด็กเหล่านี้โตมาก็จะไปทำงานกับพ่อแม่ในจังหวัดต่างๆของประเทศ ซึ่งรัฐบาลอาจจะต้องคำนึงถึงเด็กกลุ่มนี้ทั้งด้านการศึกษาและสุขภาพอนามัยด้วย” ศ.ดร.ชยันต์กล่าว
เกศริน ตุ่นแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แม่วิน จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า อบต.แม่วิน อยู่บนที่สูงมีพี่น้องชนเผ่าปกาเกอะญอ 13 หมู่บ้าน ม้ง 2 หมู่บ้าน และในสภาพพื้นที่ราบอีก 4 หมู่บ้าน โดยมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่สังกัด อบต.แม่วิน 15 ศูนย์ และสังกัดหน่วยงานอื่นอีก 2 ศูนย์ ในการดูแลภายใต้การปกครองท้องถิ่นจะต้องดูแลอย่างเสมอกัน การที่มีศูนย์การเรียนเกิดขึ้นเยอะเนื่องจากสภาพการอยู่อาศัยของคนในชุมชนอยู่กันเป็นหย่อมๆ มากกว่า 40 หย่อมบ้าน เพราะฉะนั้นทุกย่อมควรจะมีศูนย์การเรียนเช่นเดียวกัน
“ในส่วนของงบประมาณในการสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.แม่วินได้สนับสนุนงบประมาณในระดับประถมและมัธยมอยู่ทั้งหมด 22 ล้าน เงินอุดหนุนอาหารกลางวัน จำนวน 6,441,600 บาท เงินอุดหนุนอาหารเสริมนม จำนวน 2,759,030 บาท และอื่น ๆ อย่างไรก็ตามงบประมาณจำนวนนี้ก็ไม่ได้เพียงพอ จึงต้องการสะท้อนปัญหาอยากจะให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้กระจายอำนาจมาสู่ท้องถิ่นให้มีความชัดเจนมากกว่านี้ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อจำนวนของเด็กจำนวนมากที่อาศัยอยู่บริเวณชายขอบ อบต.แม่วินพยายามประสานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีการหนุนเสริม ทั้งนี้ยังมีเด็กไร้สัญชาติที่อยู่ภายใต้การดูแลของพวกเราด้วย” เกศริน กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.พิสิษฎ์ นาสี อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า กรณีพื้นที่ อบต.แม่วินเป็นพื้นที่ตัวอย่างของปัญหานโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าที่ชัดเจนในภาคเหนือที่มีเด็กตกหล่นในพื้นที่ห่างไกล ชาวบ้านเดินทางลำบากในการขึ้นทะเบียนให้ลูก อบต.แม่วินทำให้เข้าใจว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหนอย่างไร นโยบายหรือหน่วยงานรัฐส่วนกลางอาจจะแข็งตัวคิดว่ามีคนทำงานคนเดียวก็สามารถดำเนินการได้แต่กระบวนการดำเนินการมีมากกว่านั้น หากรัฐบาลยอมรับให้มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่แรก ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นในวันนี้
“คาดหวังว่าคณะกรรมการกระจายอำนาจอาจจะช่วยได้ ถ้ารัฐสามารถปล่อยให้ อบต.ทำงานเองและมีการกระจายอำนาจ ในพื้นที่จะทำงานได้ดีกว่านี้ อบต.เป็นหน่วยงานที่รู้จักพื้นที่ อาจจะแก้ปัญหาการจัดการเรื่องการดำเนินการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จัดการเปิด-ปิดให้ตรงตามเวลาหรือมีรถรับส่ง และมีการส่งต่อสามารถดำเนินการในส่วนเด็กตัว G จะมีส่วนในการพัฒนาสถานะ อบต.จะพัฒนาโจทย์เหล่านี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น” ผศ.ดร.พิสิษฎ์กล่าว
สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานเด็กเล็กถ้วนหน้า กล่าวว่า ปัจจุบันคณะทำงานเด็กเล็กถ้วนหน้าได้มีข้อเสนอเพื่อผลักดันสวัสดิการ 1.ขอเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าตั้งแต่ท้องจนถึงอายุ 6 ปี 3,000 บาทต่อเดือน ให้ทุกคนไม่เฉพาะเจาะจง 2.มติคณะกรรมการและงานวิจัยต่าง ๆ สรุปว่าเด็กตกหล่นกว่า 30% ควรให้เด็กถ้วนหน้า 3,000 กว่าบาท
“เด็กเกิดน้อยลงประมาณ 5 แสนคนต่อปี แรงงานในอนาคตจะอยู่ที่ไหนหากไม่ดูแลให้ดี ปีที่ผ่านมางบประมาณที่จะได้ขาดอยู่แค่ 14,000 ล้านบาทที่เด็กจะได้ถ้วนหน้า รัฐบาลมักจะคิดว่าการใช้เงินกับเด็กไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน การพัฒนาเด็กเป็นเรื่องสำคัญ” ‘สุนี ไชยรสกล่าว
นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้ได้รับฟังปัญหาของผู้ปฏิบัติงานขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ และสิ่งที่ขาด นั่นก็คืองบประมาณซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ต้องยอมรับว่าหลายพื้นที่ หลายประเด็น รัฐเอื้อมมือเข้าไปไม่ถึง และรัฐบาลชุดนี้เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศ นโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ซึ่งยังไม่มีปัญหาเด็กตกหล่นเพราะไม่ทั่วหน้า จึงขอเสนอให้พรรคก้าวไกลที่เป็นฝ่ายค้าน ผลักดันนโยบายดังกล่าว ด้วยการเสนอเป็นกฎหมายพิเศษในสภารวบรวมปัญหาเพื่อผลักดันให้เป็นนโยบาย
นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในส่วนนโยบายพรรคก้าวไกล ยึดหลักการก้าวหน้าไม่ต้องพิสูจน์ความจน แม้พรรคก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้านแต่พร้อมผลักดันในรัฐสภาและจะผลักดันอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการให้ถ้วนหน้าเป็นเรื่องของกระทรวงหน่วยงานที่รับผิดชอบ
“เสนอให้มีการจัดห้องให้นมบุตร ให้ครอบครัวมีการดูแลเด็กในระดับท้องถิ่น รวมถึงผลักดันให้มีการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม สำหรับเด็กวัยเรียน 2-6 ปี ควรมีผู้ดูแลมากเพียงพอ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับเด็ก ผลักดันเป็นรายหัวเพิ่มเติมให้เด็ก” นางสาวพุธิตากล่าว