กลุ่ม “Blood Money Campaign” หรือ กลุ่มรณรงค์หยุดเงินเปื้อนเลือด ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาชนชาวเมียนมา รณรงค์ล่ารายชื่อพร้อมกันทั่วโลกตั้งแต่ 25-31 ตุลาคม 2566 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสิงคโปร์มีมาตรการเด็ดขาดคว่ำบาตรตัดท่อน้ำเลี้ยงสภาบริหารแห่งรัฐ หรือ SAC นำโดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเมียนมา ไม่ให้เข้าถึงระบบธนาคาร เพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพพม่านำเงินไปใช้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และเชื้อเพลิงเครื่องบินรบมาใช้เข่นฆ่าประชาชน นอกจากนี้ ทาง Blood Money Campaign ได้ยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลสิงคโปร์ด้วยว่า ขอให้ทางการสิงคโปร์ตรวจสอบบริษัทที่เข้าไปทำธุรกิจหรือมีส่วนพัวพันกับเผด็จการทหารเมียนมา
ทั้งนี้ กลุ่ม Blood Money Campaign ก่อตั้งหลังการทำรัฐประหารล่าสุด โดยเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจของภาคประชาสังคมเมียนมา อาทิ นักศึกษา นักวิจัย และ NGO โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการตัดแหล่งทุนหรือบริษัทท่อน้ำเลี้ยงของกองทัพเมียนมา เพื่อไม่ให้เงินพวกนั้นถูกนำมาใช้เพื่อซื้ออาวุธสังหารประชาชน
ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา กลุ่ม Blood Money Campaign พร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเมียนมาและไทยได้ออกแคมเปญส่งจดหมายเรียกร้องรัฐบาลสิงคโปร์ หยุดคบค้าสมาคมอำนวยความสะดวกด้านการเงินและหยุดบริษัทสิงคโปร์ขายอาวุธให้เผด็จการทหารพม่าโดยระบุว่าคณะเผด็จการทหารเมียนมาต้องพึ่งพาสิงคโปร์โดยเฉพาะในด้านเงินทุนและการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยี และเชื้อเพลิงอากาศยาน ซึ่งส่งผลต่อการเข่นฆ่าประชาชนชาวเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564
ทั้งนี้ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา ระบุว่า สิงคโปร์เป็นผู้จัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์รายใหญ่อันดับ 3 ให้กับกองทัพเมียนมา นับตั้งแต่การรัฐประหารครั้งล่าสุด โดยมีมูลค่าการค้า 254 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากบริษัทในสิงคโปร์อย่างน้อย 138 แห่ง แม้ก่อนหน้านี้สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรกลุ่มบริษัท ‘Shoon’ ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ ก็ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปในสิงคโปร์โดยทางบริษัทได้จัดหาเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นให้กับคณะเผด็จการทหารพม่า ซึ่งถูกนำมาใช้ทำสงครามทางอากาศปราบปรามประชาชนพม่า
สำหรับข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลสิงคโปร์ของ Blood Money Campaign และภาคประชาสังคมเมียนมา ไทย และนานาชาติมีดังนี้ 1. คว่ำบาตรเพื่อหยุดการถ่ายโอนอาวุธ สินค้าที่ใช้ได้ 2 ทาง (พลเรือน-การทหาร) เทคโนโลยี น้ำมันเครื่องบิน และธุรกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับกองทัพพม่า
2. ปิดกั้นไม่ให้คณะเผด็จการทหารพม่าเข้าถึงระบบการเงินของสิงคโปร์ผ่านการคว่ำบาตรแบบกำหนดเป้าหมาย รวมถึงธนาคารของรัฐบาลทหาร 3. เร่งรัดและดำเนินการสอบสวนต่อสาธารณะเกี่ยวกับบริษัทสิงคโปร์ที่จัดหาอาวุธ สินค้าใช้แล้วทิ้ง และเทคโนโลยีให้กับกองทัพพม่า
สมาชิกฝ่ายรณรงค์ของกลุ่ม Blood Money Campaign เปิดเผยว่าการเรียกร้องต่อรัฐบาลสิงคโปร์ผ่านจดหมายร้องเรียนในครั้งนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ทางภาคประชาสังคมพม่า และองค์กรนานาชาติกว่า 200 องค์กร ได้มีการยื่นจดหมายร้องเรียนไปแล้ว แต่ไม่มีการตอบกลับและการตอบสนองจากทางรัฐบาลสิงคโปร์อย่างชัดเจนทำให้ทางภาคประชาสังคมพม่าต้องเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นเพราะสถานการณ์ในพม่าขณะนี้กำลังอยู่ในวิกฤตมนุษยธรรมที่มีที่มาจากอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพพม่าโดยส่วนหนึ่งมาจากบริษัทที่ขายอาวุธและสินค้าซึ่งจดทะเบียนอยู่ในสิงคโปร์
“ภายในวันที่ 25-31 ตุลาคม นี้จะเป็นสัปดาห์แห่งการรณรงค์ #DoMoreSongapore ทั่วโลก (Global Campaign) ประชาชนและภาคประชาสังคมเมียนมาทั้งที่กระจายตัวอยู่ในเมียนมาและที่อื่นๆ ทั่วโลกจะร่วมกันออกมารณรงค์ ทั้งในระดับพื้นที่และบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับแคมเปญนี้เพื่อสร้างแรงกดดันอย่างเป็นวงกว้างต่อรัฐบาลสิงคโปร์ และจะมีการนำรายชื่อและจดหมายร้องเรียนไปยื่นที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนจะมีตัวแทนภาคประชาสังคมเมียนมาในไทยไปยื่นจดหมายร้องเรียนที่สถานทูตสิงคโปร์ในประเทศไทยด้วย โดยในเบื้องต้นมีกำหนดการไปยืนจดหมายในวันจันทร์ที่ 30 ต.ค.นี้” 1 ในทีมรณรงค์ของกลุ่ม Blood Money Campaign กล่าวว่า
อนึ่งเมื่อ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักข่าวอิรวดี รายงานว่า เมื่อปีงบประมาณ 2565-2566 เมียนมามีรายได้จากการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ จำนวน 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเมียนมา คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการลงทุนราว 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือประเทศจีน และไทย
ขณะที่ผู้รายงานพิเศษสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเมียนมาแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยด้วยว่า 5 อันดับ ประเทศที่ค้าอาวุธกับกองทัพเมียนมามากที่สุด ได้แก่ อันดับที่ 1 คือ รัสเซีย มูลค่า 406 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันดับที่ 2 จีน มูลค่า 267 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันดับ 3 คือประเทศสิงคโปร์ คิดเป็น 254 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันดับ 4 คืออินเดีย จำนวน 51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอันดับที่ 5 คือประเทศไทย 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.