เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 นางนิยดา เสนีย์มโนมัย ผู้ตรวจราชการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะโฆษก สปส.ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการรณรงค์ให้ผู้ประกันตน 14 ล้านคนมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคมว่า ขณะนี้มีผู้ประกันตนมาลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิในการลงคะแนนเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 แสนคนแล้ว ส่วนที่มีข้อเสนอให้ขยายการลงทะเบียนจากเดิมที่ปิดในวันที่ 31 ตุลาคมนั้น ต้องขอดูตัวเลขผู้ประกันตนที่มาลงทะเบียนอีกหน่อย โดยเลขาธิการสปส.ได้ตั้งเป้าผู้มาลงทะเบียนไว้ 1 ล้านคน
โฆษก สปส.กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งในเรื่องการประชาสัมพันธ์มากขึ้นโดยในเชิงรุกให้เจ้าหน้าที่ สปส.ในแต่ละจังหวัดเข้าไปประชาสัมพันธ์ในสถานประกอบการใหญ่ๆ ตามจังหวัดต่างๆ และสอนวิธีการลงทะเบียน โดยตอนนี้พยายามประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง
“ผู้ประกันตนบางส่วนทราบแล้ว แต่เขายังติดในหลายๆ เรื่อง เช่น การให้กรอกตัวเลขหลักบัตรประชาชน ซึ่งเขาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องกรอก ซึ่งเราเองพยายามอธิบายเพื่อเป็นการยืนยันตัวตน และไม่ต้องกังวลว่าจะถูกนำข้อมูลไปใช้อย่างอื่นหรือกลัวใครจะมาแฮกไปได้เพราะเรามีระบบป้องกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ขอเพียงเข้าตรงมาที่เว็บไซต์ของ สปส.โดยตรง ขอให้เชื่อมาตรฐานการป้องกันของเรา” นางนิยดา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงจำนวนผู้สมัครลงชิงชัยบอร์ดที่เปิดมาตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคมว่ามีจำนวนเท่าไร โฆษก สปส.กล่าวว่า ตอนนี้รวมผู้สมัครที่เป็นผู้ประกันตนมีราว 70 คน และผู้สมัครในส่วนของนายจ้าง 15 ราย ซึ่งจะเปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม อย่างไรก็ตามจะมีการประกาศรายชื่อผู้แทนที่ลงสมัครของฝ่ายต่างๆอีกครั้งในวันที่ 20 พฤศจิกายน แต่ตอนนี้ผู้สมัครหลายคนก็ได้เริ่มหาเสียงกันแล้ว
น.ส.อรุณี ศรีโต บอร์ด สปส.และอดีตผู้นำแรงงานกล่าวว่า ทราบว่าขณะนี้เลขาธิการ สปส.ได้มีคำสั่งด่วนให้ประกันสังคมทุกเขตเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกันตนทราบ ทั้งนี้โดยส่วนตัวแล้วอยากให้มีผู้ประกันตนมาใช้สิทธิมากๆอย่างน้อย 2 ล้านคน ซึ่งหากมีการขยายเวลาการลงทะเบียนของผู้ประกันตนออกไปอีกก็เห็นด้วย
“ตอนนี้ที่ผู้ประกันตนถามกันมากคือมาลงคะแนนแล้วได้อะไร เลือกบอร์ดแล้วเข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จริงๆ แล้วที่ผ่านมาบอร์ดมีสถานะเหมือนที่ปรึกษา เพราะคนที่ชงวาระการประชุมคือฝ่ายเลขาซึ่งก็คือเลขาธิการ สปส. ยิ่งถ้าบอร์ดฝ่ายลูกจ้างไม่เป็นเอกภาพด้วยแล้ว แทบทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้เราจึงอยากได้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเพื่อเป็นฝ่ายนโยบาย” น.ส.อรุณี กล่าว
บอร์ด สปส.ฝ่ายลูกจ้างรายนี้กล่าวว่า ขณะนี้การหาเสียงในส่วนของผู้สมัครฝ่ายลูกจ้างเป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีหลายทีมลงสมัครแข่งขันทีมละ 7 คน หลายคนมีความรู้ความสามารถ จริงๆแล้วการเลือกสามารถเลือกข้ามทีมได้ ไม่จำเป็นต้องเลือกทั้ง 7 คน หากเราเห็นทีมไหนมีบางคนที่เราถูกใจในความรู้ความสามารถ
“บอร์ดประกันสังคมควรมีความหลากหลาย ไม่ใช่มีแต่นักแรงงานอย่างเดียว ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน หรือนักวิชาการ เข้าไปด้วย เพราะเข้าไปแล้วเขาต้องมีความเป็นอิสระ ไม่ใช่ไม่กล้าเถียงกับข้าราชการเพราะกลัวมีปัญหากัน” น.ส.อรุณี กล่าว
นายชลิต รัษฐปานะ สมาชิกสหภาพคนทำงาน ผู้สมัครรับเลือกตั้งทีมประกันสังคมก้าวหน้า กล่าวว่า ผู้ประกันหลายคนก็แจ้งเข้ามาว่าหน่วยเลือกตั้งอยู่ไกลและเดินทางลำบาก โจทย์ของทุกฝ่ายตอนนี้ โดยเฉพาะ สปส. ควรเร่งรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับข้อมูลเพียงพอและพากันลงทะเบียนใช้สิทธิให้ได้มากที่สุด เพราะตอนนี้ผู้ประกันตนยังลงทะเบียนค่อนข้างน้อย
“ในฐานะผู้ลงสมัคร ถ้ามีโอกาสได้รับเลือก สิ่งแรก ๆ ที่ต้องทำคือการแก้ระเบียบเลือกตั้งให้ผู้ประกันตนเข้าถึงได้มากที่สุด สะดวกที่สุด เปิดข้อมูลให้ได้มากสุด และไม่เลือกปฏิบัติด้วยสัญชาติ ควรถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งนี้”นายชลิตกล่าว
นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อสายแรงงานพรรคก้าวไกล กล่าวว่าบรรยากาศการเตรียมการเลือกตั้งบอร์ด สปส.โดยทั่วไปค่อนข้างเงียบเหงา โดยจากการที่ตนลงพื้นที่ช่วยรณรงค์ให้ผู้ประกันตนมาลงทะเบียนผู้พบว่า ประกันตนจำนวนมากยังไม่ทราบข้อมูล แม้จะมีการประชาสัมพันธ์บ้างแล้ว แต่ก็ไม่ทั่วถึง คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ ดังนั้นผู้จัดการเลือกตั้งควรมีช่องทางสื่อสารที่ดีกว่านี้ อย่างน้อยควรใช้ช่องทางสื่อสารที่เข้าถึงประชาชนโดยเฉพาะโทรทัศน์ เพื่อให้ผู้ประกันเข้าใจถึงความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้
“ที่ผ่านมาเรามีบอร์ด สปส.จากการแต่งตั้ง ดังนั้นเขาจึงต้องทำงานตามที่ผู้แต่งตั้งมอบหมาย และสปส.เป็นหน่วยงานอยู่ในกระทรวงแรงงาน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าเจ้ากระทรวงให้ความสำคัญอะไร แค่ไหน ก่อนหน้านี้มีการออกระเบียบการเลือกตั้งใช้เวลา 2 ปี ทั้งที่เขียนมาแค่ 20 หน้ากระดาษ ทำให้การเลือกตั้งล่าช้ามาก แสดงว่าผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ และยังยืดเวลามาเรื่อยๆ เลื่อนแล้วเลื่อนอีก จนกระทั่งมีการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ในระยะเวลาที่กระชั้นและไม่มีใครทราบ ทำให้ผู้ประกันตนมาลงทะเบียนน้อยมาก
ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคก้าวไกลได้ส่งผู้สมัครลงชิงชัยบอร์ดครั้งนี้หรือไม่ นายเซียกล่าวว่าไม่ได้ส่ง แต่ตนก็ช่วยรณรงค์ให้ผู้ประกันตนมาใช้สิทธิกันเยอะๆ เพราะหากคนไปใช้สิทธิน้อยอาจส่งผลต่อคุณภาพของบอร์ด ที่สำคัญตนคิดว่าหน่วยงานที่จัดการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องสรุปเป็นบทเรียนว่าทำไมผู้ประกันตนถึงมาลงทะเบียนน้อย
เมื่อถามอีกว่า กติกาที่ใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีความเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน นายเซียกล่าวว่า ผู้ประกันตนส่วนหนึ่งไม่มีโอกาสลงทะเบียน เช่น แรงงานข้ามชาติ แม้พวกเขาจ่ายเงินสมทบทุกเดือน ขณะที่หน่วยเลือกตั้งอยู่ห่างกันมากแม้ยังไม่ได้กำหนดชัดเจน สมมุติว่าบางจังหวัดมีหน่วยเดียว ผู้ประกันตนต้องเดินทางไปใช้สิทธิลำบากพอสมควร นอกจากนี้การลงคะแนนครั้งนี้ระบุให้เขียนหมายเลขผู้สมัครลงไปในบัตร ขณะที่ประชาชน คุ้นเคยกับการกากบาท ซึ่งเรื่องนี้ต้องถามเลขา สปส.ว่าทำไมถึงกำหนดเช่นนี้