
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ที่บริเวณด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย ตัวแทนประชาชนพม่าในไทยราว 10 ราย ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสถานทูตในฐานะตัวแทนของประเทศสิงคโปร์ประจำประเทศไทยเรียกร้องให้รัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงเงินทุน อาวุธ ยุทโธปกรณ์ และเชื้อเพลิงเครื่องบินของคณะเผด็จการทหารพม่า พร้อมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ชูป้ายกระดาษเรียกร้องให้รัฐบาลสิงคโปร์เร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้อง โดยมีข้อความ เช่น “Singapore stop selling arms to Myanmar junta for killing our children”, Singapore…Clean or Blood Money, และ “Do More Singapore for Myanmar” เป็นต้น พร้อมทั้งเปิดข้อมูลความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่าหลังการรัฐประหาร
ทั้งนี้จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมีผู้ลงนามสนับสนุนต่อข้อเรียกร้องกว่า 27,700 คน และมีองค์กรภาคประชาสังคมจากทั้งในเมียนมา ไทย และที่อื่น ๆ ทั่วโลกอีกกว่า 430 แห่ง ได้ลงนามรับรองจดหมายดังกล่าวด้วย นอกจากการเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกแล้ว ทางตัวแทนชาวพม่ายังได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์บริเวณด้านหน้าสถานทูตโดยระบุว่าให้รัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงเงินทุน อาวุธ ยุทโธปกรณ์ และเชื้อเพลิงเครื่องบินของคณะเผด็จการทหารพม่าโดยทันที
แถลงการณ์ระบุว่า คณะเผด็จการทหารพม่าที่โหดเหี้ยมต้องอาศัยสิงคโปร์ในด้านเงินทุนและการจัดหาอาวุธ ยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยี และเชื้อเพลิงเครื่องบิน ทำให้เกิดการโจมตีประชาชนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 คณะเผด็จการทหารได้ดำเนินการก่อการร้ายต่อประชาชนด้วยการโจมตีทางอากาศและการระดมยิงตามอำเภอใจ การฆาตกรรม การทรมาน การกักขังตามอำเภอใจ การข่มขืน และการทำลายบ้านเรือนและเสบียงอาหาร ซึ่งทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาเปิดเผยว่าสิงคโปร์เป็นผู้จัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์รายใหญ่อันดับ 3 ให้กับกองทัพเมียนมานับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ซึ่งมีมูลค่าการค้ากว่า 254 ล้านดอลลาร์จากบริษัทในสิงคโปร์อย่างน้อย 138 แห่ง
แถลงการณ์ยังระบุว่า สิงคโปร์ยังคงเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญสำหรับพวกพ้องของกองทัพบางราย เช่น เต ซา (Tay Za) และนาย ทุต อ่อง (Naing Htut Aung) ซึ่งใช้ชีวิตอย่างหรูหราในเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันก็ได้รับผลประโยชน์จากการทำลายล้างชีวิตประชาชนชาวเมียนมา แม้ที่ผ่านมามีการคว่ำบาตรจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา แต่กลุ่มบริษัท Shoon ก็ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปในสิงคโปร์ โดยจัดหาเชื้อเพลิงเครื่องบินให้คณะเผด็จการทหาร ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการทำสงครามทางอากาศต่อประชาชน เนื้อหาที่ถูกเปิดเผยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากลุ่มธุรกิจต่าง ๆ จากสิงคโปร์กำลังดำเนินธุรกรรมกับกองทัพพม่าและกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับอาชญากรสงคราม และสนับสนุนอาชญากรรมระหว่างประเทศของพวกเขา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสิงคโปร์สามารถหยุดการกระทำเหล่านี้ได้
“สิงคโปร์ควรออกมาตรการคว่ำบาตรเพื่อหยุดการถ่ายโอนอาวุธ สินค้าที่ใช้ได้สองทาง ใช้บทบัญญัติเกี่ยวกับการฟอกเงินและกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเพื่อให้แน่ใจว่าคณะเผด็จการทหารที่ผิดกฎหมายไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินของสิงคโปร์หรือกองทุนที่มีมูลค่ากว่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่เป็นของรัฐบาลพม่าได้ และเร่งรัดและดำเนินการสอบสวนที่เป็นสาธารณะอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับบริษัทสิงคโปร์ที่จัดหาอาวุธ”แถลงการณ์ระบุ
นายเชน อ่อง วัย 36 ปี 1 ในแรงงานชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยกว่า 10 ปี กล่าวว่าการยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสถานทูตสิงคโปร์ในครั้งนี้เป็นช่วงครบรอบ 1,000 วันการรัฐประหารในพม่า และไม่ได้เข้ายื่นเพียงสถานทูตสิงคโปร์ในไทยเท่านั้น แต่ยังมีตัวแทนชาวพม่าที่อาศัยและทำงานอยู่ในประเทศอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 24 ประเทศทั่วโลกเข้ายื่นจดหมายตามสถานทูตสิงคโปร์ในประเทศต่าง ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวพม่าไม่สามารถไปยื่นจดหมายที่สถานเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ในเมียนมาได้เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยและสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น
“พวกเรายังโชคดีที่สามารถมาแสดงออกและมายื่นจดหมายกับสถานทูตสิงคโปร์ที่ไทยได้ แต่ที่ประเทศพม่าไม่สามารถไปยื่นที่สถานทูสิงคโปร์ได้เลย เพราะตอนนี้ขนาดออกมาให้กำลังใจคนที่ถูกทหารจับตัวไปก็ทำไม่ได้ เพราะจะถูกจับเข้าคุกหมด” นายเชน อ่อง กล่าว