เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 สำนักข่าว The Reporters ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “เช็คความพร้อมประเทศไทย สึนามิผ่านไป 19 ปี วันนี้ประเทศไทยพร้อมแค่ไหน” เนื่องในในวันสึนามิโลก ดำเนินรายการโดย ทศ ลิ้มสดใส
นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า ในเหตุกาณ์สึนามิประเทศไทยเหมือนกับเป็นความรู้หลังจากเกิดเหตุการณ์ของคนทั้งประเทศเพราะก่อนหน้านี้ไม่มีใครรับรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นเลย เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นทำให้การเกิดความสูญเสียในประเทศไทยมากกว่า 5,000 คน จึงเป็นเรื่องที่เราควรจะเรียนรู้และแลกเปลี่ยนที่จะรับมือกับเรื่องนี้ บทเรียนจากสึนามิทำให้คนที่อยู่ในชุมชนเล็ก ๆ บริเวณชายฝั่งเรียนรู้และตระหนัก นำไปสู่การสื่อสารในที่อื่น ๆ แต่ในภาพรวมนั้นยังถือว่าประชาชนทั่วไปให้ความสำคัญกับเรื่องภัยพิบัติน้อยมาก
“ในขณะนี้ยังมีระบบเตือนภัยที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ส่วนหอหลบภัยยังคงร้างอยู่ และระบบน้ำไฟในบางที่ยังมีปัญหาอยู่ เรายังขาดในเรื่องการรับมือ 19 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทยยังขาดระบบในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้กับประชาชน แต่อำนาจในการจัดการ รัฐควรจะเร่งบูรณาการในหลายภาคส่วน ทั้งระดับท้องถิ่นก็ยังไม่มีความมุ่งมั่นมากพอที่จะเตรียมชุมชนให้พร้อม หากเราไม่จริงจังในอนาคตเราอาจจะเกิดการสูญเสียอีกครั้ง” นายไมตรีกล่าว
ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า เราได้พบกับภัยพิบัติอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าภัยแล้ง น้ำท่วมต่าง ๆ ทำให้เราตื่นตัวแต่เวลาผ่านไปเราต่างก็มีความหลงลืมไป ขาดการส่งต่อควรบทเรียนไปให้ถึงประชาชนทุกคนได้เรียนรู้ ขณะนี้เปลือกโลกบอบซ้ำจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงของมวลน้ำในอนาคตที่อาจจะมีการเกิดสึนามึอีกครั้ง
“ในการจัดการเพื่อรับมือกับปัญหา อุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งไว้ตามชายฝั่งก็มีความจำเป็นและต้องมีความพร้อม การติดตั้งซอฟแวร์ฝังข้อมูลไว้ในตัวคนให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่อยู่ในโรงเรียนยิ่งมีความสำคัญมากกว่า เราจะทำอย่างไรจะสร้างคนให้พร้อมเรียนรู้อยู่ตลอดชีวิตพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในสภาพโลกรวนนี้” ผศ.ดร.สมพรกล่าว
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อดีตอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า เวลาเกิดปัญหาขึ้นไม่อยากให้ประชาชนนึกถึง ปภ. เป็นอันดับแรก แต่ต้องการให้นึกถึงองค์กรปกครองท้องถิ่นที่พวกเขาเลือกให้เป็นหน่วยแรก เราพยายามจะสร้างให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งมากกว่านี้ ตอนนี้ ปภ. มีเครื่องมือในการรับมืออยู่แต่ไม่มากนัก แต่ก็พยายามส่งต่อเครื่องมือไปสู่องค์การปกครองท้องถิ่น เพราะการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเราจะต้องมาคิดโจทย์และกระตุ้นให้ผู้บริหารท้องถิ่นตื่นตัวในการป้องกันภัยพิบัติ
อริยา แก้วสามดวง เครือข่ายภัยพิบัติชุมชน กล่าวว่า ชุมชนได้มีการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแต่ยังขาดการสนับสนุน เพราะประเทศยังไม่มีความพร้อมทำให้บางพื้นที่รับภัยมีความรกร้าง ประเทศควรออกนโยบายแห่งรัฐ จะหนุนเสริมเพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหลขึ้นเมื่อเกิดภัยพิบัติและวางแผนให้ชุมชนรับมือด้วยตนเองเองได้ ไม่ต้องรอให้เกิดเหตุระดับประเทศแต่เพื่อให้รับมือได้อย่างทันท่วงที
นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กล่าวว่า เหตุการณ์สึนามิเป็นเรื่องที่ควรพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสเพื่อทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ทำให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของตนเองและเป็นบทเรียนที่สำคัญของสังคมและสามารถสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนได้ ทั้งนี้เราควรตระหนักถึงภัยพิบัติทุกชนิดที่จะเกิดขึ้นในสงคมไม่ใช่แค่สึนามิเท่านั้น
“ที่ผ่านมา กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนภัยพิบัติต่าง ๆ เข้ามาเยอะมาก แต่ประเทศไทยยังไม่มีทางออกในเรื่องนี้เลย หลังเหตุกาณ์สึนามิก็มีการร้องเรียนเรื่องที่ดินของประชาชนพื้นที่อันดามันตามมา หรือปัญหาต่างๆ ที่ซุกไว้อยู่ใต้พรม แม้เราจะยังแก้ไขปัญหายังไม่ได้เลย เราควรจะส่งเสริมให้ชุมชนได้ออกแบบของเขาเองว่าอะไรคือภัยพิบัติของเขาที่เขาจะต้องเตรียมพร้อม” นางปรีดากล่าว