Search

มหกรรมฟอกขาวเขื่อนแม่น้ำโขง

มนตรี จันทวงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง The Mekong Butterfly

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) หรือ เอ็มอาร์ซี จัดเวทีประดับภูมิภาคที่หลวงพระบาง ใช้ชื่อสวยหรูว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อความโปร่งใสและความเชื่อถือ (Data Sharing for Transparency and Trust) ไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 โดยมีตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาของบริษัทเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มานำเสนอข้อมูลเรื่องทางปลาผ่าน กับการวัดตะกอนแม่น้ำโขง ของเขื่อนไซยะบุรี (ซึ่งในบทความนี้จะขอชวนดูเรื่องตะกอน) และนำเสนอผลการศึกษาเป็นสไลด์ ซึ่งได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของเอ็มอาร์ซี

หลังจากนั้นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้จัดเวทีให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม โดยมีท่านลำพอน ดีมะนีวง หัวหน้าแผนกบริหารจัดการน้ำ กรมนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว นำเสนอข้อมูลด้วยสไลด์ชุดเดียวกัน

จุดไฮไลท์คือ ผลการตรวจวัดตะกอนโดยบริษัทเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งระบุว่ามีการติดตามตรวจวัดถึง 9 สถานี ที่ตั้งอยู่เหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนโดยระบบอัตโนมัติ ส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ ในสถานีที่ 7 (ชื่อ Upstream XHPP) และสถานีที่ 8 (ชื่อ Downstream XHPP) ผลออกมาระบุว่า“No significant change between upstream and downstream of the Xayaburi HPP” ซึ่งสไลด์ภาษาไทยระบุว่า “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ ระหว่างต้นน้ำและปลายน้ำของโครงการฯ”

ผลสรุปออกมาแบบนี้ได้อย่างไร? ทั้งที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการตรวจวัดตะกอน จากสถานีตรวจวัดทั้ง 9 สถานี ไม่ว่าจะที่หลวงพระบาง หรือที่เชียงคาน จ.เลย

ข้อมูลที่นำเสนอนี้ ดูจะขัดแย้งปรากฏการณ์น้ำโขงใส-ไร้ตะกอน ที่เกิดขึ้นภายหลังเปิดใช้งานเขื่อนไซยะบุรีตั้งแต่ 29 ตุลาคม 2562 ติดตามด้วยการแพร่ระบาดของสาหร่ายในแม่น้ำโขง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งพบได้ตลอดแนวแม่น้ำโขงที่เป็นพรมแดนไทย-ลาว ของภาคอีสาน และปรากฏการณ์นี้ ได้เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งในช่วงเวลาเดียวกันของทุกปีตั้งแต่นั้นมาหลังจากเขื่อนเปิดทำการ ดังนั้นควรตั้งคำถามว่าเขื่อนไซยะบุรีมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับปรากฏการณ์น้ำโขงใสไร้ตะกอน

เมื่อมีคำถามเกิดขึ้นแล้ว ใครคือคนหาคำตอบ?

สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ในขณะนั้นคือ กรมทรัพยากรน้ำ ได้ดำเนินการ “โครงการศึกษาและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน” ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยการตรวจวัดตะกอนแขวนลอยหรือตะกอน (หน่วย: ส่วนในล้านส่วน) ระหว่างสถานีเชียงแสนกับการตรวจวัดที่บ้านห้วยเหียม อ.ปากชม จ.เลย

ผลการวัดสารแขวนลอยมีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว กล่าวคือในเดือนธันวาคม 2563 สถานีเชียงแสน วัดได้ 22.7 ขณะที่ผลการวัดที่บ้านห้วยเหียมวัดได้ต่ำกว่า 0.5 หรือไม่สามารถวัดได้

ต่อมาการวัดในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สถานีเชียงแสนวัดได้ 40.6 ขณะที่ผลการวัดที่บ้านห้วยเหียมวัดได้ต่ำหว่า 0.5 หรือไม่สามารถวัดได้เช่นเดิม

ระหว่างเชียงแสนกับบ้านห้วยเหียม ก็มีเพียงเขื่อนไซยะบุรีขวางกั้นลำน้ำโขงเท่านั้น!

ปรากฎการณ์น้ำโขงใส ไร้ตะกอนนี้ ถูกตรวจวัดโดยเครือข่ายชุมชนจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย อ.ปากชม จ.เลย ถึง จ.อุบลราชธานี เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 ก็ให้ผลสอดคล้องกัน (สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://themekongbutterfly.wordpress.com/2021/06/28/รายงานการศึกษา-ย้อนรอย )

ดังนั้นการที่บริษัทเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ระบุว่าตะกอนเหนือเขื่อนกับท้ายเขื่อนไม่มีความแตกต่างกันที่มีนัยยะสำคัญนั้น จึงเป็นเรื่องลี้ลับที่จำเป็นต้องตรวจสอบ และต้องทวงถามถึงที่มาข้อสรุปดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

เมื่อได้พิจารณาดูรายละเอียดในสไลด์ภาษาอังกฤษหน้าที่ 26 และ 27 พบว่า คำว่า upstream and downstream of the Xayaburi HPP นั้น คือชื่อสถานีลำดับที่ 7 และ 8 ซึ่งสถานีที่ 7 หรือ upstream XHPP อยู่บริเวณเหนือสันเขื่อนไปเล็กน้อย และสถานีที่ 8 หรือ downstream XHPP อยู่บริเวณด้านท้ายเขื่อนไปเล็กน้อยเช่นกัน

การตรวจวัดตะกอนที่เอามาอ้างถึงจึงเป็นการเปรียบเทียบกันเพียง 2 สถานีนี้ที่ใกล้กันมากเท่านั้น มีเพียงเขื่อนไซยะบุรีขวางไว้ ในช่วงน้ำน้อย ตะกอนในพื้นที่อ่างเหนือเขื่อนก็จะเริ่มนอนก้นจนไม่มีความแตกต่างใด ๆ ระหว่าง 2 จุดวัดโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่การนำเสนอเสมือนทำให้เกิดความไขว้เขวไปว่า เป็นผลการตรวจวัดตะกอนของทั้ง 9 สถานี ซึ่งยังไม่มีข้อมูลใดๆ ยืนยันในข้อสรุปนี้ของบริษัทฯ ได้เลย

เช่นเดียวกับการนำเสนอของท่านลำพอน ดีมะนีวง ในการประชุมที่ อ.เชียงคาน สไลด์นี้ถูกแปลเป็นภาษาไทยในผลการวัดตะกอนว่า “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ ระหว่างต้นน้ำและปลายน้ำของโครงการฯ” ซึ่งเป็นการแปลที่ใช้คำคลุมเครือ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ เพราะความจริงไม่ได้เป็นผลการตรวจวัดระหว่างต้นน้ำและปลายน้ำอย่างที่อ้าง แต่เป็นผลการตรวจวัดของ สถานีต้นน้ำ(สถานีที่ 7) และสถานีปลายน้ำ(สถานีที่ 8 ) ที่แทบจะไม่มีความแตกต่างอยู่แล้ว

หากต้องการให้เห็นความต่าง ทางบริษัทฯ ก็ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่นำข้อมูลจากทุกสถานีมาเปรียบเทียบกันให้ประชาชนรับทราบอย่างโปร่งใสจนไร้ข้อกังขา

นี่เป็นเรื่องความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของเอ็มอาร์ซี และประเทศผู้บริจาคทั้งหลาย ที่อุตส่าห์ตั้งชื่อการประชุมว่า Data Sharing for Transparency and Trust แต่กลับกลายเป็นเวทีของการเอาข้อมูลบางส่วนมา “ฟอกขาว” เท่านั้น และต่อเนื่องมายัง สทนช. ที่จัดเวทีให้ฝ่ายลาวมานำเสนอข้อมูล ที่อาจเปรียบได้ว่าเหมือนการแหกตาพี่น้องชุมชนน้ำโขงเช่นนี้ ทั้งที่ตัวเองมีงานศึกษาที่ค้านกับผลสรุปของบริษัทอยู่เต็มมือ แต่ทำไมถึงเหมือนไม่มีความพยายามที่จะเอางานศึกษาที่ทำกันมาทุกปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 จากภาษีประชาชน มาวิเคราะห์ข้อมูลผลกระทบ กลับเปิดพื้นที่ให้มีการสร้างความชอบธรรมให้ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์แบบนี้

การไม่ยืนเคียงข้างประชาชนน้ำโขงที่พร่ำเตือนตลอดมาว่า พวกเราทั้งหลายกำลังเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาลทั้งทางนิเวศอันทรงคุณค่า และเศรษฐกิจ ให้แก่กลุ่มผู้สร้างเขื่อน จนน่าสงสัยว่า ความรู้ความเชี่ยวชาญ จิตสำนึก จริยธรรม หรือแม้แต่ความละอายของพวกท่าน ถูกแปรเปลี่ยนเป็นอะไรไปแล้วกันแน่?

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →