หลังจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดให้ผู้ประกันตนและนายจ้างลงทะเบียนเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกันตนลงทะเบียน 945,609 คน นายจ้างลงทะเบียน 4,209 คน รวมทั้งสิ้น 949,818 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 14 ล้านคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเดิมสปส. เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 12-31 ตุลาคม ก่อนจะขยายเวลาเพิ่มถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน ซึ่งในวันที่ 8 พฤศจิกายน ยังมีผู้มาลงทะเบียนราวๆ 7 แสนคน จนกระทั่ง 2 วันสุดท้ายจึงมีผู้ลงทะเบียนเพิ่มขึ้นกว่า 2.5 แสนราย
นางนิยดา เสนีย์มโนมัย ผู้ตรวจราชการในฐานะโฆษก สปส. กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงจำนวนผู้ที่มาลงทะเบียนเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ว่า พนักงานบางทีอาจจะไม่เข้าใจหรือไม่เห็นถึงความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้
“เท่าที่ถามมาบางคนก็ยังไม่รู้เลยว่ามีบอร์ดประกันสังคม บอร์ดประกันสังคมคืออะไร การที่เราสื่อสารผ่าน HR (ฝ่ายทรัพยากรบุคคล) บ้างเพื่อให้ไปกระจายข่าวกับพนักงาน ซึ่ง HR ก็แจ้งไปแต่พนักงานไม่ทราบว่าสิทธิของเขา เสียงของเขา จะไปมีบทบาทต่อการบริหารงานอย่างไร” นางนิยดา กล่าว
ในขณะที่ น.ส.อรุณี ศรีโต หนึ่งในกรรมการประกันสังคม กล่าวถึงผู้ที่จะเข้ามาเป็นบอร์ดประกันสังคมจากการเลือกตั้งครั้งแรกที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 นี้ว่า ต้องเป็นผู้ที่ศึกษากฎระเบียบของประกันสังคมให้รู้ชัดเจน และ ตอบคำถามให้ได้ว่าการจะมาเป็นบอร์ดประกันสังคมนั้นเพื่ออะไร
“หนึ่ง คือต้องศึกษากฎระเบียบ กฎเกณฑ์ของประกันสังคมให้ดี สอง คือ เป็นบอร์ดเพื่ออะไร อันนี้สำคัญ ถ้าเราเป็นผู้แทนของผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกันตน เราก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และต้องมีความกล้าหาญนะ นี่คือหัวใจ ถ้าไม่มีความกล้าหาญกระแสระบบราชการมันจะดูดไปหมด เถียงปลัดกระทรวงก็ไม่กล้าเถียง เถียงท่านเลขาธิการ สปส. ก็ไม่กล้าเถียง เกรงใจกันอะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นจุดยืนของบอร์ดคือต้องรู้ว่าเราอยู่ฝ่ายผู้ประกันตน มาอยู่แล้วก็ต้องดูแลสิทธิประโยชน์ ดูกระบวนการของสำนักงานประกันสังคมว่าโปร่งใสหรือไม่ มีอะไรหมกเม็ดหรือเปล่า ถ้าสงสัยก็ต้องกล้าถาม บางเรื่องยอมได้ บางเรื่องยอมไม่ได้เลยจุดยืนนี้สำคัญ” อดีตผู้นำสหภาพแรงงานไทยเกรียง กล่าว
น.ส.อรุณี กล่าวอีกว่า เนื่องจาก สปส. อยู่ในกระทรวงแรงงาน มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีตามโควต้าการจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคการเมือง จึงทำให้พรรคการเมืองต้องการเข้ามาแทรกแซง
“กรมที่มีเงินในกระทรวงแรงงานก็คือสำนักงานประกันสังคม หากใช้งบประมาณโดยที่คนงานไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย เราต้องเต็มที่ในการไม่เห็นด้วย แล้วก็เป็นผู้แทนคนงานในบอร์ด เหมือนเสนอว่าปรับนั่นนี่หน่อยนะ ผู้ใช้แรงงานร้องขอ สงเคราะห์บุตร 800 บาทน้อยไปขอเพิ่มเป็น 1,500 บาทได้ไหม แบบนี้ ช่างเจรจา เพราะตอนนี้บอร์ดประกันสังคมคนที่กำหนดวาระประชุมคือสำนักงานสปส. บอร์ดไม่มีสิทธิไปกำหนดวาระ เหมือนชงมาให้พิจารณาตามนั้น บางเรื่องถ้าเราไม่ให้ผ่าน สู้เขาไม่ได้ เขามีหลายเสียง ต้องกล้าหาญพอว่าฉันไม่เห็นด้วยให้บันทึกไว้ในรายงานการประชุม ต้องแย้งกันอย่างนั้น เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบก็ไม่ขัดข้องแต่บันทึกคำแย้งฉันไว้ อยากเห็นบอร์ดแบบนี้ บอร์ดต้องมีประสบการณ์เหมือนกันนะ ถ้าเป็นคณาจารย์เข้ามาดุลอำนาจ เขาอาจจะไม่ต้องเกรงใจเลขาธิการ ไม่ต้องเกรงใจปลัดกระทรวง อยากให้มีติดมาสัก 1-2 คน” อดีตผู้นำแรงงาน กล่าว
น.ส.อรุณี ในฐานะ 1 ใน 7 บอร์ดประกันสังคมชุดปัจจุบัน ยังกล่าวถึงการที่มีผู้ประกันตนสมัครรับเลือกตั้งเข้ามาเป็นบอร์ด 264 ราย ว่า ทาง สปส.ต้องให้ข้อมูลทั้งหมดกับผู้สมัคร เพื่อที่ทุกคนจะได้รู้ว่าต้องถูกตรวจสอบอะไรบ้าง และหากมีผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ครบหรือไม่สะดวกจะเปิดเผยทรัพย์สินยังมีเวลาที่จะถอนตัวก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง
“สปส.ต้องลงทุน เปิดห้องประชุมใหญ่ๆแล้วเชิญผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นบอร์ดประกันสังคมมา แล้วพรีเซนต์บทบาทหน้าที่ของบอร์ดที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่นต้องไปแจ้งทรัพย์สิน บัญชีหนี้สิน มีแหวนเพชรกี่วง ต้องแจ้งผู้สมัครด้วย เพราะเขาอาจสมัครโดยไม่รู้ว่ากฎเกณฑ์เป็นอย่างไร ไปเจอกฎเกณฑ์แล้วถอนตัวก็ยังทัน เมื่อเขาสมัคร สปส.ต้องบอกเขาหมด ถ้าเขายินดีที่จะเป็นก็โอเค แต่ถ้าบอกไม่หมด เขาอาจจะว่าตอนสมัครไม่เห็นมีใครบอกเลยต้องอย่างนั้นอย่างนี้ สปส.ต้องลงทุน ต้องเชิญเขามาก่อน 24 ธันวาคมนี้ ต้องจัดเวทีใหญ่ๆ เงินก็มี ได้เห็นหน้าตากัน บางคนเมื่อรู้ว่าต้องไปยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างไรก็อาจมีความรู้สึกว่าไม่เอาแล้วดีกว่า สปส.ต้องให้ข้อมูลให้หมด” น.ส.อรุณี กล่าว
อดีตผู้นำแรงงานหญิง กล่าวอีกว่า สมมุติว่าถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้สำเร็จ และเป็นไปด้วยดี การมีสิทธิมีเสียงตามหลักการแล้วมันดี แต่การดำเนินการเท่านั้นเองที่ดูขลุกขลัก คนมีส่วนร่วมน้อย ใช้เงินเป็นร้อยล้านบาท บางคนไปนั่งเฝ้าหน่วยเลือกตั้ง มีคนมาเลือกตั้ง 40 คน หมดค่านั่งเฝ้าไป 6,000 บาท ก็ไม่คุ้มเลย หนนี้เป็นหนแรกก็ต้องปล่อยให้มันดำเนินการตามวิถี ความพร้อมของประกันสังคมมีกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2558 แต่เขาตั้งหลักช้าไปเหมือนไม่ตั้งใจให้มีการเลือกตั้งอย่างนั้น