
1. คนไทย 41 คนที่ได้รับความช่วยเหลือกลับสู่ประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นคนละกลุ่มกับคนไทยกลุ่มใหญ่กว่า 200 คนที่ร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลมายาวนาน แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้ออกมาจากเมืองเล่าก์ก่าย
2. เหยื่อ 41 คนเป็นกลุ่มที่ออกมาด้วยตัวเองหลังจากเกิดการสู้รบใหญ่ระหว่างกองทัพพม่าและ 3 กองกำลังพันธมิตรชาติพันธุ์ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 โดยคนไทยกลุ่มนี้หนีออกจากเมืองเล่าก์ก่ายพร้อมกับเพื่อนๆแรงงานชาวพม่าเข้าไปในเขตปกครองของกองทัพว้า และทหารว้าได้ให้การช่วยเหลือซึ่งเดิมทีว่าจะส่งตัวให้ทางการไทยเอง แต่รัฐบาลพม่าไม่ยอมและเจรจากันจนทางกองทัพว้ายอมมอบ 41 คนให้กับทางการพม่า เพื่อส่งตัวให้ไทยผ่านด้านท่าขี้เหล็กเข้าสู่อำเภอแม่สาย จ.เชียงราย
3. ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2566 กลุ่มจิตอาสาและเอ็นจีโอได้รับการร้องเรียนจากคนไทยในเมืองเล่าก์ก่าย เพื่อขอให้ประสานกับรัฐบาลไทยในการช่วยเหลือคนไทย 116 คนออกมาจากเมืองเล่าก์ก่าย โดยคนไทยกลุ่มนี้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จากแก๊งจีนเทาที่หลอกให้ไปทำงาน call center ,การหลอกให้ลงทุน หุ้น คริปโต , Romance Scam เมื่อทำยอดไม่เข้าเป้าก็ถูกลงโทษทรมานด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ช็อตด้วยไฟฟ้า ทุบตี ขังห้องมืด
4. คนไทยกลุ่มนี้บางส่วนถูกหลอกไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 บางส่วนเพิ่งถูกหลอกไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกได้โทรศัพท์และส่งข้อความขอความช่วยเหลือไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำย่างกุ้ง การร้องเรียนไปนับครั้งไม่ถ้วนในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน คำตอบที่ได้รับคือสถานเอกอัครราชทูตไทยได้แจ้งไปยังทางการพม่าแล้ว
คนไทยที่ตกเป็นเหยื่อตั้งข้อสังเกตว่า ท้ายสุดคนร้องเรียนกลับถูกนายจ้างจีนเทาลงโทษเพราะมีรายชื่อคนที่ร้องเรียน แต่ยังไม่ชัดเจนว่ารายชื่อหลุดไปถึงมาเฟียจีนเทาในขั้นตอนไหน แต่ในที่สุดระยะหลังจึงไม่มีเหยื่อกล้าแจ้งไปยังสถานเอกอัครราชทูต แต่แจ้งให้พ่อแม่และครอบครัวในประเทศไทยเคลื่อนไหวขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆแทน เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(มีการลงบันทึกประจำวัน) กรมการกงสุล แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลืออยู่ดี

5. ก่อนวันที่ 18 ตุลาคม 2566 กลุ่มจิตอาสา เอ็นจีโอและพ่อแม่ของเหยื่อได้ประสานกับหน่วยงานต่างๆโดยยื่นหนังสือให้ดำเนินการช่วยเหลือคนไทยกลุ่มนี้ ทั้งติดต่อส่วนตัวและยื่นอย่างเป็นทางการ เช่น นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากากระทรวงพาณิชย์ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม แต่เรื่องก็ยังไม่มีปฎิกิริยาใดๆจากรัฐบาลไทย บรรดารัฐมนตรีทั้งหลายต่างให้ความสนใจน้อยมาก
ผ่านไปนานนับสัปดาห์แต่ทางการยังไม่มีความเคลื่อนไหว ทั้งๆที่กลุ่มเหยื่อนับร้อยกำลังรออย่างใจจดจ่อ และหากต้องการข้อมูลก็สามารถโทรประสานกับเหยื่อได้ในทันที แต่กลับไม่มีหน่วยงานรัฐเป็นเจ้าภาพจริงจังที่จะช่วยคนกลุ่มนี้
6. วันที่ 18 ตุลาคม 2566 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ได้ออกรายงาน “ติดกับดักนรก : การค้ามนุษย์ การเอาคนลงเป็นทาสและในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉานการทรมานเยาวชน โดยแก๊งชาวจีนหลังการทำรัฐประหาร 2564 ในพม่า”ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์เหยื่อค้ามนุษย์ชาวไทใหญ่ที่ถูกหลอกไปทำงานในเขตปกครองพิเศษโกก้างและหนีออกมาได้
7. วันที่ 19 ตุลาคม 2566 นายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม ได้หยิบยกเรื่องที่คนไทยกลุ่มนี้ขอความช่วยเหลือหารือในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนฯ ขณะเดียวกันสื่อมวลชนเริ่มลงข่าวคนไทยนับร้อยถูกหลอกลวงไปทำงานในเล่าก์ก่ายโดยสัมภาษณ์เหยื่อและพ่อแม่เหยื่อ
จริงๆแล้วข้อมูลหลุดคนไทยนับร้อยคนตกเป็นเหยื่อในเมืองเล่าก์ก่ายมาถึงมือสื่อมวลชนบางสำนักข่าวนานนับสัปดาห์แล้ว เพียงแต่ได้รับการขอร้องจากจิตอาสาและญาติพี่น้องเหยื่อเนื่องจากหวั่นเกรงในเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะการบอกพิกัดเพราะกลัวว่าหากพวกจีนเทารู้ตัวจะฆ่าปิดปากเหยื่อเหล่านี้
8.วันที่ 20 ตุลาคม 2566 ทหารพม่าได้บุกตึกพิกัด 9 ซึ่งเป็นที่ทำการของธุรกิจจีนเทาและกักขังคนไทยและคนต่างชาติ สามารถช่วยเหลือคนไทย 116 คน และนำไปยังแหล่งพักพิงในค่ายทหารในเมืองเล่าก์ก่าย อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีคนไทยกลุ่มหนึ่งได้รับการปล่อยตัวจากจีนเทาออกมาและได้หลบพักอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่งเพื่อรอประสานการส่งกลับ
ในวันเดียวกันนี้นางพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนะกรณีเหยื่อค้ามนุษย์ในเมืองเล่าก์ก่ายร้องขอความช่วยเหลือ
9.วันที่ 27 ตุลาคม 2566 กลุ่มพันธมิตรทางเหนือของพม่า ซึ่งเรียกตัวเองว่า The Brotherhood Alliance ประกอบด้วย กองทัพโกก้าง (Myanmar National Democratic Alliance Army-MNDAA) กองทัพตะอางหรือปะหล่อง (Ta’ang National Liberation Army-TNLA) และกองทัพอาระกัน (Arakan Army-AA) ได้ปฏิบัติการโจมตีในชื่อ Operation 1027 ต่อต้านกองทัพพม่าอย่างเป็นทางการพร้อมประกาศกวาดล้างจีนเทาและธุรกิจผิดกฎหมาย ทำให้เกิดการสู้รบในเมืองเล่าก์ก่าย และพื้นที่ต่างๆในรัฐฉานเหนืออย่างดุเดือด
เสียงปืนเสียงระเบิดทำให้กลุ่มคนไทยที่พักอยู่ในโรงแรมในเมืองเล่าก์ก่ายต่างหวาดผวาและต้องหลบซ่อนกันโดยพยายามทำตัวให้เงียบที่สุด ขณะที่อาหารการกินเริ่มขาดแคลนเพราะการสู้รบทำให้ห้ามออกนอกเคหสถาน ร้านค้าต่างๆปิดตัวลง

10. ได้มีการช่วยเหลือคนไทยอีก 26 คนที่เป็นเหยื่อจีนเทาออกมาจากธุรกิจมืด และนำมารวมกับคนไทยที่ได้รับความช่วยเหลือก่อนหน้านั้น และรวมทั้งคนไทยที่อยู่ในโรงแรมได้อพยพไปรวมกันที่ค่ายทหารพม่า ทั้งนี้ทางครอบครัวเหยื่อมีความพยายามร้องขอให้รัฐบาลไทยเร่งประสานไปยังรัฐบาลจีนเพื่อช่วยเหลือคนไทยทั้งหมดออกมาทางชายแดนจีนซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด
ก่อนหน้านี้ทางการพม่าทำท่าจะเอาเหยื่อทั้งหมดในค่ายกลับไปที่ย่างกุ้งก่อนเพื่อทำตามขั้นตอนทางกฎหมายของพม่า แต่ติดด้วยสถานการณ์ความปลอดภัยที่เมืองเล่าก์ก่ายถูกล้อมด้วยกองกำลังชาติพันธุ์
สาเหตุที่ต้องร้องขอให้ทางการจีนช่วยนั้น นอกจากเมืองเล่าก์ก่ายมีชายแดนติดกับจีนแล้ว เชื่อว่ารัฐบาลจีนมีอิทธิพลเหนือกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์และกองทัพพม่า หากทางทางการจีนออกปากกองกำลังทั้งสองฝ่ายย่อมยินยอม แต่ไม่ปรากฏความคืบหน้าในการประสานงานลักษณะนี้ สร้างความร้อนอกร้อนใจให้กับเหยื่อในค่ายทหารพม่ามากเพราะมีเสียงระเบิดและเสียปืนใกล้ค่ายทหารพม่าอย่างต่อเนื่อง
11. วันที่ 2 พฤศจิกายน สถานการณ์สู้รบในเมืองเล่าก์ก่ายยังคงรุนแรง และในช่วงค่ำวันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์ว่ากำลังหาทางช่วยคนไทยในเล่าก์ก่าย ซึ่งในวันรุ่งขึ้นหลายหน่วยงานราชการได้ออกมาเด้งรับทันที แม้ก่อนหน้านี้จะทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงกันดีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการกันอย่างจริงจัง
12. วันที่ 6 พฤศจิกายน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือบิ๊กโจ๊ก รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยนายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ พ.ต.ต.สิริวิชญ์ ชาญเตชะสิทธิ์กุล ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้เดินทาไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ประชุมร่วมกับ นายมงคล วิศิษฎ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูตไทย เรื่องความช่วยเหลือคนไทยในเล่าก์ก่าย นอกจากนี้ยังได้หารือกับตัวแทนทางการพม่า
13. วันที่ 12 พฤศจิกายน หลายวันที่ผ่านมาแม้สื่อมวลชนจะนำเสนอข่าวคนไทยในเขตปกครองพิเศษโกก้างมากขึ้นกันคึกโครมจนเป็นกระแสแล้ว แต่ยังไม่มีท่าทีว่าทางการไทยจะมีช่องทางในการประสานความช่วยเหลือคนไทยกลุ่มนี้
ขณะที่สถานการณ์การสู้รบในภาคเหนือของรัฐฉานซึ่งรวมถึงเมืองเล่าก์ก่ายรุนแรงต่อเนื่องโดยทางกลุ่มกองกำลังพันธมิตรชาติพันธุ์สามารถยึดฐานทหารพม่าได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่กองทัพพม่าใช้เครื่องบินรบโจมตี และยังได้ประกาศกฎอัยการศึกในหลายเมืองใหญ่ทั้งประเทศ รวมทั้งเล่าก์ก่าย
กว่า 20 วันแล้วที่คนไทยกลุ่มนี้ต้องอยู่ในค่ายทหารพม่า ซึ่งค่ายทหารพม่าได้ตกเป็นเป้าการโจมตีของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ และทหารพม่าได้ใช้คนไทยขุดสนามเพลาะและบังเกอร์ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทหารพม่ากำลังเอาเหยื่อคนไทยเป็นโล่มนุษย์ดังขึ้นทุกที แม้รัฐบาลไทยออกมาปฏิเสธในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่เคยให้คำตอบได้ว่าจะช่วยเหลือเหยื่อกลุ่มนี้ได้อย่างไร และเมื่อไร
อย่างไรก็ตามได้มีการย้ายคนไทยทั้งหมดออกจากค่ายทหารพม่าไปยังโรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่พักพิงชั่วคราว โดยพักรวมอยู่กับเหยื่อชาวเวียดนาม พม่าและมาเลเซีย รวมเป็น 500 คน แต่ยังอยู่ในความดูแลของทหารพม่า
14. ก่อนหน้านี้คนไทยกลุ่มหนึ่งจำนวน 41 คนที่หนีการสู้รบในเล่าก์ก่ายเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ได้เข้าไปพึ่งพิงความช่วยเหลือกองกำลังว้าซึ่งมีพื้นที่ติดกับเขตปกครองพิเศษโกก้างและเมืองเล่าก์ก่าย ซึ่งได้รับการสนองตอบด้วยดี และวันที่ 15 พฤศจิกายน กองกำลังว้าได้ส่งมอบคนไทยกลุ่มนี้ให้กับทางการพม่า และทางการพม่าได้เตรียมส่งต่อให้รัฐบาลไทย

15. วันที่ 16 พฤศจิกายน ทหารพม่านำตัวคนไทย 41 คนไปตรวจเอกสารและสอบปากคำต่างๆ เพื่อเตรียมส่งส่งมอบให้ทางการไทยผ่านช่องทางด่านแม่สาย จ.เชียงราย ขณะที่กองทัพไทยได้ส่งเครื่องบินจาก กทม.มารับโดยกระทรวงกลาโหมได้เชิญนักข่าวจากส่วนกลางนั่งเครื่องบินมาร่วมทำข่าวด้วย แต่ปรากฏผ่านไป 1 คืนยังไม่มีวี่แววว่าคนไทย 41 คนจะได้คืนสู่แผ่นดินไทย จนกองทัพบกต้องขนคณะนักข่าวกลับกทม.
ขณะเดียวกันในช่วงเช้าวันที่ 17 พฤศจิกายน ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเชียงตุง ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงความปลอดภัยของคนไทย 41 คน อย่างไรก็ตามทางการพม่าได้ยืนยันกับคณะนายทหารไทยในคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-พม่า (TBC) ว่าทางการพม่าปล่อยตัวคนไทยแน่ เพียงแต่รอการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง
ในวันเดียวกันพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ประสานกับทางการจีนในการช่วยเหลือคนไทยกว่า 200 คนในเมืองเล่าก์ก่าย โดยจะมีคณะนายตำรวจไทยเดินทางไปจีน เพื่อรับตัวคนเหล่านี้
สายวันที่ 18 พฤศจิกายน เครื่องบินกองทัพบกออกจาก กทม.พร้อมคณะนักข่าว เพื่อมารับตัวคนไทย 41 คนที่จังหวัดเชียงราย อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ 41 คนไทยเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ในเมืองเล่าก์ก่าย ได้กลับถึงแผ่นดินแม่
ส่วนเหยื่ออีก 200 ชีวิตในเล่าก์ก่าย ต้องติดตามกันต่อไป แต่ที่แน่ๆคืองานนี้ที่สิ่งที่เราเคยเรียกว่า “ทีมไทยแลนด์”ต้องถูกตั้งคำถามจากคนไทยที่เป็นเหยื่อและครอบครัวเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์เยอะพอสมควร โดยเฉพาะบทบาทของนักการทูต ถ้าอยู่แต่บนหอคอยงาช้างหรือถนัดแต่เรื่องบนโต๊ะเจรจาแต่ตีนไม่ถึงดินหรือหยั่งลงใต้ดินบ้าง สถานการณ์อันหนักหน่วงที่กำลังเผชิญอยู่ในพม่า อาจไม่สามารถรับมือได้ทันท่วงที