ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาหน่วยงานด้านความมั่นคงและผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าศึกษาต่างจับตาสถานการณ์การสู้รบในประเทศพม่าระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่กองทัพพม่าตกอยู่ในสถานการณ์เพลี่ยงพล้ำและถูกยึดฐานที่มั่นทางทหาร โดยในภาคเหนือของรัฐฉานซึ่งกลุ่มกองกำลังพันธมิตรชาติพันธุ์ในนาม The Brotherhood Alliance ประกอบด้วย กองทัพโกก้าง (Myanmar National Democratic Alliance Army-MNDAA) กองทัพตะอางหรือปะหล่อง (Ta’ang National Liberation Army-TNLA) และกองทัพอาระกัน (Arakan Army-AA) ได้ปฏิบัติการโจมตีกองทัพพม่าในชื่อ Operation 1027 มาตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม สามารถยึดพื้นที่ทางทหารของกองทัพพม่าในกว่าร้อยแห่งในหลายเมือง

ล่าสุดในรัฐคะเรนนี กองกำลังฝ่ายต่อต้านสามารถยึดพื้นที่มหาวิทยาลัยในเมืองลอยก่อไว้ได้โดยขับไล่ทหารพม่าออกจากพื้นที่ ขณะที่ในรัฐอาระกัน ในภาคสะกาย การสู้รบเป็นไปอย่างเข้มข้นและฝ่ายต่อต้านสามารถยึดได้หลายพื้นที่

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวได้สอบถามมุมมองของนักวิชาการทั้งไทยและกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อประเมินสถานการณ์ในพม่า รวมถึงนโยบายของรัฐบาลไทยที่ควรปรับเปลี่ยนให้ทันสถานการณ์

ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าสถานการณ์ในพม่ากำลังเข้าสู่สภาวะวิกฤต เราเห็นการสู้รบในหลายพื้นที่มีความรุนแรงมากขึ้นถึงขนาดบางพื้นกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์สามารถยึดเมืองหลวงของรัฐไว้ได้ ซึ่งมีนัยสำคัญสะท้อนภาพว่ากองทัพพม่าไม่สามารถคุมพื้นที่ได้อีกต่อไปโดยเฉพาะในหัวเมืองหลักในหลายพื้นที่นั่นหมายความว่าอิทธิพลของกองทัพพม่าแทบไม่เหลือแล้ว โดยเหลือเฉพาะพื้นที่ตอนกลาง เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เนปิดอว์

ดร.ภาณุภัทรกล่าวว่า การที่กองทัพพม่าไม่สามารถคุมพื้นที่ได้ ทางออกเดียวคือใช้กองกำลังทางอากาศเป็นหลัก ขณะที่ทหารราบหรือทหารบกมีข่าวอยู่เรื่อยๆ ว่าถูกจับกุมหรือยอมวางอาวุธ นั่นหมายความว่ากองทัพพม่าไม่สามารถกุมสภาพได้อีกต่อไป เช่น กรณีการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกลุ่มพันธมิตรชาติพันธุ์ในพื้นที่เมืองเล่าก์ก่าย เขตปกครองพิเศษโกก้างและภาคเหนือของรัฐฉาน ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะให้ความสำคัญกับกองทัพพม่าได้อย่างลำพัง แม้กองทัพพม่าตั้งมายาวนาน แต่สถานการณ์ตอนนี้เห็นได้ชัดว่าถูกสั่นคลอนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่าทางการไทยควรรับมืออย่างไรกับสถานการณ์วิกฤตในพม่า รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์กล่าวว่า โจทย์สำคัญคือรัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์มากยิ่งขึ้นเพราะหลายกลุ่มกองกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ติดกับชายแดนไทย ดังนั้นการสัมพันธ์กับกลุ่มเหล่านี้ไม่ใช่แค่ในเรื่องความเป็นกลุ่มกองกำลังเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องที่กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้สร้างสถาบันทางการเมืองขึ้นมา นั่นหมายความว่าเขามีความพร้อมที่จะสร้างมลรัฐขึ้นมา

“แม้ส่วนใหญ่ของกลุ่มกองกำลังจะไม่ได้แยกตัวเป็นเอกราช แต่เรื่องของการแบ่งสรรอำนาจจะเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นรัฐบาลไทยจะทำอย่างไรที่จะสานสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ การพูดคุยหรือการหารือกับกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างสองประเทศ” ดร.ภาณุภัทร กล่าว

เมื่อถามอีกว่าการต่อสู้ที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะมีการใช้กองกำลังทางอากาศมากขึ้นจะส่งผลให้มีผู้อพยพมากขึ้นหรือไม่ ดร.ภาณุภัทรกล่าวว่า แน่นอนว่าคนอพยพเยอะขึ้นตามแนวชายแดน แต่อาจไม่ได้ข้ามมาแดนไทยทั้งหมด ดังนั้นรัฐบาลควรเตรียมความพร้อม เช่น จัดพื้นที่ที่ปลอดภัยซึ่งเป็นเป็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม นอกจากนี้จะมีคนที่ได้รับบาดเจ็บมากขึ้นก็ต้องมีแพทย์และพยาบาลรองรับ หากต้องการลดภาระก็ต้องประสานกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีการฝึกอบรมด้านนี้ไว้แล้วให้เข้ามาดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการลดภาระของโรงพยาบาลชายแดนไทย

“ถามว่าต้องทำเป็นระเบียงมนุษยธรรม (humanitarian corridors ) หรือไม่ ถ้าทำเช่นนั้นก็จะเกิดความเสี่ยงอีกแบบหนึ่ง เพราะจะเห็นได้จากตัวอย่างในหลายสงครามเมื่อเปิด humanitarian corridors
กลายเป็นว่าไม่สามารถลำเลียงผู้ป่วยได้อย่างแท้จริงเพราะมีการรบกันทางอากาศเกิดขึ้น ดังนั้นอาจทำในลักษณะจับคู่พื้นที่คู่ขนาน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการรองรับการเตรียมความพร้อม” ดร.ภาณุภัทร กล่าว

เมื่อถามว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เสถียรภาพของกองทัพพม่าเกิดความสั่นคลอน ดร.ภาณุภัทร กล่าวว่า ในอดีตการต่อสู้กับกองทัพพม่าเป็นเรื่องของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ แต่หลังรัฐประหารครั้งนี้ คนพม่าได้ลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อต้านกองทัพพม่าทำให้เป็นตัวแปรสำคัญ เพราะในช่วง 10 ปีที่เป็นประชาธิปไตย คนพม่าได้เปิดโลกกว้างและสามารถพัฒนาด้านต่างๆอย่างรวดเร็ว แต่จู่ๆต้องกลับไปสู่จุดเดิม ดังนั้นในช่วง 10 ปีนั้นจึงเปลี่ยนมุมมองของคนพม่าได้มาก

ขณะที่ ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวว่าเบื้องต้นต้องเข้าใจเงื่อนไขทางยุทธศาสตร์ก่อนว่าทหารพม่าเปิดศึกรอบด้านจึงมีศัตรูรอบด้าน และ PDF(กองกำลังพิทักษ์ประชาชน)และกองทัพชาติพันธุ์ต่างก็มีเครือข่ายเขตอิทธิพล โดยเปิดแนวรบกันรอบด้านทำให้สถานการณ์ขัดแย้งและการเผชิญหน้าทางการทหารเข้มข้นอย่างรุนแรง กองทัพพม่าต้องเปิดแนวรบหมุนกองกำลังไปตามพื้นที่ต่างๆ ในบางพื้นที่ถ้ากองกำลังทหารพม่าเบาบางลงก็เป็นธรรมดาที่ฝ่ายต่อต้านหรือกองกำลังชาติพันธุ์ที่มีผลประโยชน์ในพื้นที่สบช่องสบโอกาสเข้ามายึดพื้นที่ได้ เช่น กรณีภาคเหนือของรัฐฉาน

ดร.ดุลยภาพ กล่าวว่า ในสถานการณ์ภาคเหนือของรัฐฉาน กลุ่มที่ก่อการมีเป้าหมายเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์โกก้าง หรือกลุ่มว้า วันนี้กองกำลังโกก้างยึดพื้นที่ได้หลายเมือง ถ้าโกก้างยังครองพื้นที่ที่ยึดได้อยู่ ก็ทำให้อาณาบริเวณที่เป็นเขตอิทธิพลของโกก้างขยายตัวขึ้น ในอนาคต Beginning power ของโกก้างในการคุยเรื่องเขตปกครองพิเศษที่มีพื้นที่มากขึ้น แม้กระทั่งรัฐโกก้างที่ซ้อนอยู่ในรัฐฉาน หรือกรณีของกลุ่ม TNLA ของปะหล่อง ก็จะมีน้ำหนักมากขึ้นเพราะกองกำลังของเขาจัดวางไว้เรียบร้อยหมดแล้ว เพราะฉะนั้นภาพสถานการณ์ในรัฐฉานตอนเหนือ ค่อนข้างจะทำให้ทหารพม่าเสียเปรียบมากเลย เพราะว่าอย่างน้อยนี้ 2 เรื่องที่ฝ่ายต่อต้านยึดได้คือตามแนว BURMA ROAD ที่เป็นถนนยุทธศาสตร์ ที่สำคัญคือต้องยึดเมืองล่าเสี้ยวไว้ให้ได้ เพราะกองบัญชาหลักทหารพม่าอยู่ที่ล่าเสี้ยว ในรัฐฉานภาคเหนือ จึงต้องตรึงพื้นที่ตรงนี้ให้ได้ แต่ถ้าเมืองล่าเสี้ยวแตก จะโยงไปถึงจุดยุทธศาสตร์อื่นด้วย

“การที่ทหารพม่าสูญเสียค่ายเยอะเพราะว่าเขาใช้ยุทธวิธีที่ว่า ค่ายใดมีทหารพม่าอยู่น้อย เขาเร่งสลัดค่ายออกไป แล้วก็มากระจุกกำลังอยู่ในกองบัญชาใหญ่ เช่น ในเมืองล่าเสี้ยว ก็เลยทำให้เสียค่ายอย่างรวดเร็ว กำลังพลก็เสียเยอะ แต่ไม่ได้เสียแบบสุด ๆ ถ้าไม่ทิ้งฐานอาจจะเสียมากกว่านี้อีก เพราะฉะนั้นสถานการณ์ก็คิดว่าเป็นโมเมนตัมที่สำคัญ ที่ชิงไหวชิงพริบ ชิงความได้เปรียบกัน ถ้านับในพื้นที่อื่นๆ อีก เช่น ในรัฐคะฉิ่น รัฐคะยา รัฐกะเหรี่ยงและรัฐยะไข่ ก็จะเห็นภาพความยุ่งเหยิงของประเทศพม่า และอำนาจรัฐของทหารพม่าที่ระส่ำระสายมากขึ้น” รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าสถานการณ์ยังเดินไปเรื่อยๆ ในลักษณะนี้ ผลที่ตามมาคืออะไร ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า มีหลากหลาย scenario ที่ทหารพม่าเพลี่ยงพล้ำมากๆ และยึดฐานคืนได้เพียงน้อยนิด เพราะหากำลังพลมาเติมได้ยาก และกำลังพลทหารพม่าอาจจะแปรพักตร์ เข้าสวามิภักดิ์เพื่อเอาชีวิตรอดไปกับการขายข้อมูล หรือจงรักภักดีต่อฝ่ายต่อต้าน ซึ่งเริ่มมีปรากฏให้เห็น ถ้าเป็นรูปการณ์ยังเป็นอย่างนี้ก็เท่ากับว่ารัฐพม่าอาจมีลักษณะเป็นรัฐซ้อนรัฐในแบบที่ว่า กลุ่มที่คุมพื้นที่ได้มากขึ้นจะมีลักษณะเป็นการตั้งรัฐของตัวเองผ่านการทำสงคราม ทำให้อาณาบริเวณชายแดนแถบภูเขา ไม่ว่าจะเป็นเขตของว้า ปะหล่อง โกก้าง คะฉิ่น อาระกัน ซึ่งเป็นเหมือนรูพรุนทั่วประเทศพม่า ขณะที่อำนาจของรัฐทหารพม่าที่เคยไต่อยู่บนภูเขาสูงได้ก็จะถูกถอยคืนกลับลงสู่ที่ราบที่เป็นดินแดนหัวใจของชนชาติพม่าแท้ๆ อย่างเช่น เมืองมัณฑะเลย์ เมืองย่างกุ้ง เมืองตองอู เนปิดอว์ ทหารพม่าต้องรักษาพื้นที่ตรงนี้ให้มั่น เตรียมแผนเผชิญเหตุ หากมีการรุกรานเมือง

“ฉะนั้น scenario นี้ก็เท่ากับว่ารัฐทหารพม่า มีอำนาจเปราะบาง เบาบางลง และเสี่ยงเกิดสถานการณ์รัฐซ้อนรัฐ แต่ว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากกองกำลังชาติพันธุ์เพียงอย่างเดียว ทั้ง PDF หรือ NUG (National Unity Government:รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ) ก็ต้องการยึดพื้นที่ช่วงชิงมวลชนมากขึ้น PDF ก็ต้องไปเกลี่ยพื้นที่กับกองกำลังชาติพันธุ์ด้วยอีกทีหนึ่ง จริง ๆ มันออกเป็นสามก๊ก มีก๊ก PDF ก๊กทหารพม่า และก๊กชนชาติพันธุ์ อันนี้คือสถาณการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือความเป็นรัฐที่เปราะบางและเสี่ยงต่อการล่มสลาย แต่ผมคิดว่ายังไม่ไปถึงจุดนั้น แต่จะมียูนิต หรือ autonomy Unit area เกิดขึ้นเยอะ แต่ถ้าดูในมุมกลับ หากทหารพม่าสามารถชิงพื้นที่คืนได้ เจรจากับฝ่ายจีน แบ่งปันผลประโยชน์ได้ ทำให้จีนลดความสนับสนุนกองกำลังชาติพันธุ์ทางเหนือน้อยลง และทหารพม่าเอนหารัสเซียกับเกาหลีเหนือมากขึ้น ได้อาวุธยาว อาวุธหนักมากขึ้น เช่น ปืนใหญ่ ขีปนาวุธ หรือเติมเครื่องบินรบมามากขึ้น สถานการณ์ก็จะยื้อกันอยู่อย่างนี้อยู่ ทหารพม่าก็จะฟื้นกำลังขึ้นมาได้บางจุด แต่ไม่ทั้งหมดเพราะบอบช้ำไปเยอะ เพราะเปิดแนวรบไปทั่วประเทศ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์สายป่านก็ยังไม่หมดเพราะมีแบ็คอัพ และยังมีระบบพันธมิตร ถึงแม้ว่าจะหาเอกภาพไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่ามันมีการร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร” นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า นโยบายและทิศทางของรัฐบาลในการรับมือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในพม่าควรปรับเปลี่ยนหรือไม่ อย่างไร ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า รัฐไทยจะต้องเข้าใจโครงสร้างอำนาจล่าสุดของประพม่าว่าเป็นระบบ 3 ก๊ก และแบ่งออกเป็นหลายท่าทีในหลายยุทธศาสตร์ ในระยะหลังๆ มีหลายกลุ่ม เริ่มมาร่วมมือกับฝ่ายต่อต้าน PDF เพื่อสู้กับทหารพม่ามากขึ้น เพราะฉะนั้นการทูตไทยจะต้องเปลี่ยนจากการที่ติดต่อกับเนปิดอว์เป็นหลักอย่างเดียว หันมาพิจารณาถึงช่องทางการติดต่อกับกลุ่มอื่น ๆ ด้วย

“ผมยกตัวอย่างสถานการณ์ที่คนไทยไปติดอยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย เขตปกครองพิเศษโกก้าง ทางทีมไทยประสานกับทางการพม่าอย่างเดียว มันพิสูจน์แล้วว่า อาจไม่เพียงพอ เพราะมีคนไทยอีก 41 คน เข้ามาในเขตว้า เพราะฉะนั้นประเทศไทยจะต้องกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มที่เป็นกลุ่มกองกำลังที่มีแสนยานุภาพมากขึ้น โดยเฉพาะว้าที่เป็นพี่ใหญ่ในพันธมิตรฝ่ายเหนือ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ตรงนี้ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งต้องนำมาพิจารณา แม้ว่าว้าจะเป็นที่รับรู้ทั่วกันว่าผลิตยาเสพติด ฝิ่น เฮโรอีน ยาบ้า แต่ในการช่วยเหลือคนไทยนัดนี้ มันต้องผ่านพื้นที่ของว้าถึงจะรับกลับไทยได้อย่างปลอดภัย ในบรรดา 41 คน ในปฏิสัมพันธ์คอนเนคชั่น ที่จะต้องดีลกับทางจีนและทางว้าเพิ่ม ซึ่งเป็นอะไรที่สำคัญ” ดร.ดุลยภาค กล่าว

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สมัยก่อนรัฐไทยจะมีนโยบายใช้กลุ่มชาติพันธุ์เป็น Buffer state หรือรัฐกันชน ดังนั้นอาจจะต้องนำมาทบทวนในบางประเด็น จะเป็นกันชนในเชิงสร้างสรรค์ให้กับหลายๆ ฝ่ายให้สบายใจและไทยปลอดภัยด้วยจะทำอย่างไร คำถามคือรัฐบาลไทยตระหนักรับรู้อยู่แล้วว่า ถ้าติดต่อกับรัฐบาลพม่าอย่างเดียว ในพื้นที่ตะเข็บชายแดนเหล่านี้อาจจะไม่พอเพียงในการบริหารจัดการชายแดน เพราะอำนาจรัฐทหารพม่านั้นอ่อนลง เช่น ในพื้นที่รัฐฉาน กลุ่มว้าเริ่มโด่ดเด่นขึ้น แต่ว้าไม่ถูกกับไทใหญ่ เราจะวางรูปโฉมความสัมพันธ์กันอย่างไร ควรจะคำนึงถึงโครงสร้างอำนาจสามเส้า

ขณะที่ นายคืนใส ใจเย็น ผู้อาวุโสชาวไทใหญ่และผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพและการเจรจาปีดองซู กล่าวว่า การมองว่ากองทัพพม่าจะพ่ายแพ้กลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์นั้น เป็นการตัดสินที่เร็วเกินไป โดยเฉพาะการสู้รบกันในภาคเหนือของรัฐฉานซึ่งกองทัพพม่ายังไม่ทันตั้งตัว และยุทธวิธีที่ 3 กลุ่มกองกำลังพันธมิตรใช้นั้น กองทัพพม่าไม่เคยเจอมาก่อน นั่นคือการใช้โดรนทิ้งระเบิด ทำให้กองทัพพม่าสูญเสียและถูกยึดฐานทหารนับร้อยแห่ง ซึ่งตนคิดว่าเหมือนเอาก้อนหินโยนน้ำ ทำให้ระลอกคลื่นกว้างออกไป พื้นที่อื่นที่กำลังสู้รบกันมีกำลังใจมากขึ้น แต่โดยข้อเท็จจริงคือ กลุ่มกองกำลังต่างๆ ก็ไม่ได้ประสานงานอะไรกันสักเท่าไร

นายคืนใสกล่าวว่า กองทัพพม่าเตรียมการรุกโต้ตอบเมื่อสามารถตั้งตัวได้ เท่าที่ได้สัมผัสกับพรรคพวกจากกองทัพพม่า เขาไม่ค่อยเป็นห่วงอะไรนัก เพราะถึงอย่างไรไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว กองทัพพม่าก็สามารถกลับมาควบคุมสถานการณ์ได้ แต่จะเชื่อตามที่คนในกองทัพพม่าพูดหรือไม่นั้นก็ไม่ได้ หรือจะพูดตาม 3 กลุ่มกองกำลังพันธมิตรประกาศก็ไม่ได้

“ผมอยากตั้งเป็นข้อสังเกตไว้คือ ถึงอย่างไรกองทัพก็ยังรวมกันเป็นกลุ่ม แต่ฝ่ายต่อต้านยังไม่เป็นกลุ่มเป็นก้อน กองทัพพม่ามีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ แต่ฝ่ายต่อต้านยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน สมมุติว่าฝ่ายกองกำลังชาติพันธุ์ชนะกองทัพพม่า แล้วอนาคตพม่าจะเป็นไปอย่างไร กลุ่มกองกำลังมีเป้าหมายทางการเมืองอย่างไร แม้เขาชนะพม่าแล้วอนาคตพม่าจะเป็นอย่างไร ผมยังนึกไม่ออก เพราะฝ่ายต่อต้านยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวจะเป็นอย่างไร” นายคืนใส กล่าว

นักวิเคราะห์ชาวไทใหญ่กล่าวว่า ตอนนี้มีแต่การสู้รบกันอย่างเดียวซึ่งน่าเป็นห่วงมากเพราะไม่รู้ว่าใครแพ้ชนะ แต่ผู้ที่แพ้แน่ๆ คือประชาชน เพราะต้องอพยพหนีภัยสงครามโดยตลอด รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่ล้มเหลว

“ตอนนี้ยุทธวิธีทหารพม่าสู้ฝ่ายต่อต้านไม่ได้ แต่เป็นสงครามที่จำกัดในพื้นที่ ทั้งในคะยา ยะไข่ รัฐฉานเหนือ แต่ระยะยาวผมเชื่อว่าทหารพม่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ จนถึงตอนนี้ฝ่ายต่อต้านยังมองไม่เห็นว่าทหารพม่ามอบตัวเป็นกองพันหรือกองพล หมายความว่ากองทัพพม่ายังเป็นกลุ่มเป็นก้อน ดังนั้นไม่ควรประเมินกองทัพพม่าต่ำเกินไป” นายคืนใสกล่าว

เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่กองทัพพม่าใช้กำลังทางอากาศเป็นหลัก นายคืนใสกล่าวว่า เป็นทางเลือกเดียวของเขาคือกองทัพอากาศ แต่ไม่ได้หมายความว่ากองกำลังทางบกจะอ่อนแอ เรื่องอย่างนี้อย่าเพิ่งฟันธง อย่างน้อยต้องรอให้ถึงสิ้นปีเพราะตอนนี้ต่างฝ่ายต่างกำลังเตรียมการ ที่สำคัญเราต้องพิจารณาด้วยว่าท่าทีของจีนจะเป็นอย่างไร เขาจะให้อาวุธกองทัพพม่าเพิ่มหรือไม่ แต่สิ่งที่ทางการจีนต้องการมากสุดคือเสถียรภาพชายแดน และผลประโยชน์ในพม่า หากเขาเห็นว่าสงครามแถวชายแดนจีนยืดเยื้อนับปี คงไม่ไหว เราหวังว่าจีนจะเข้ามามีบทบาทำให้เกิดการหยุดยิงและเจรจา ถ้าเป็นไปได้ ฝ่ายไทย อินเดีย ก็ควรร่วมมือกับจีนทำให้พม่าเกิดสันติภาพเร็วขึ้น เพราะลำพังจีนอย่างเดียวคงทำไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ในพม่าไม่ไว้ใจจีน แต่ถ้าไทย อินเดียร่วมมือด้วยก็มีโอกาสสำเร็จ

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.