ชาวบ้านกว่า 300 คนสวมเสื้อผ้าท้องถิ่นในชุดกะเหรี่ยง ร่วมกันทำกิจกรรมของชุมชนอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน ในบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยมิตรภาพของคนต่างหมู่บ้านและบ้านพี่เมืองน้องจากฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ใบหน้าของทุกคนต่างฉาบไปด้วยรอยยิ้ม
เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย และชาวบ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “คืนชีวิตแม่น้ำสาละวิน” ณ บ้านแม่สามแลบ เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรแม่น้ำและความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในพื้นที่ให้มีความอุดมสมบูรณ์รวมถึงรณรงค์รักษาปกป้องสาละวินให้ปราศจากขยะมูลฝอย ตลอดจนสร้างชุมชนมีจิตอาสาสำนึกทำความดีเพื่อถวายในหลวง เนื่องในวันคล้ายพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช


แม่น้ำสาละวินไหลลัดเลาะชายแดนไทยราว 118 กิโลเมตรผ่าน อ.แม่สะเรียงและอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เดิมทีแผ่นดินผืนนี้แม้มีแม่น้ำไหลขั้นกลาง แต่ชาวบ้านทั้งสองฝั่งต่างเป็นชุมชนเดียวกันคือชาวปกาเกอะญอ ในอดีตแม่น้ำเป็นดั่งสายเลือดที่เชื่อร้อยให้คนสองฝั่งอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข จนกระทั่งมีการเปลี่ยนเส้นเลือดให้เป็นเส้นเขตแดน ทำให้ชุมชนถูกแบ่งเป็น 2 ประเทศ แต่ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองฝั่งยังแนบแน่นกันเช่นเดิม เพราะต่างเป็นเครือญาติกัน
การจัดกิจกรรมสืบชะตาแม่น้ำสาละวินและสร้างเขตอนุรักษ์ปลาสาละวิน เพื่อสร้างความร่วมมือจากผู้ที่อาศัยอยู่ในริมน้ำสาละวินตลอดทั้งสองฝั่งด้วยระยะทางกว่า 17 กิโลเมตร ตั้งแต่บ้านแม่สามแลบขึ้นไปจนถึงชุมชนบ้านท่าตาฝั่ง โดยมีหน่วยงานภาคีร่วมจัดงาน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อุทยานแห่งชาติสาละวิน มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ เครือข่ายทรัพย์ฯ ลุ่มน้ำสาละวิน
กิจกรรมจัดขึ้น 2 วันโดยในวันแรกของงาน กล่าวต้อนรับโดย นายสุภาพ นุชนงคราญ ผู้ใหญ่บ้านแม่สามแลบ และกล่าวเปิดพิธีโดย นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ
ทั้งนี้ได้มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์และตามความเชื่อดั้งเดิมบริเวณที่ท่าน้ำสาละวิน ก่อนกำหนดขอบเขตอภัยทาน จากบ้านแม่สามแลบลงไปในระยะทาง 1 กิโลเมตร ต่อด้วยเวทีเสวนาหัวข้อเรื่อง “เกี่ยวร้อยพลังคืนชีวิตสาละวิน” โดยผู้ร่วมแลกเปลี่ยน ได้แก่ นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ ตัวแทนอุทยานแห่งชาติสาละวิน ผู้แทน ฉก.กรมทหารพราน ที่ 3605 นายไวยิ่ง ทองบือ ประธานมูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ นายสุภาพ นุชนงคราม ผู้ใหญ่บ้านแม่สามแลบ นายไพโรจน์ พนาไพรสกุล ผู้แทนเครือข่ายลุ่มน้ำสาละวิน นายเอกพล พรรณธีรกุล เครือข่ายกะหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และครูอนันต์ ดะห์ลัน


ผู้เข้าร่วมต่างพูดเป็นเสี่ยงเดียวกันว่า “แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติไหลผ่านพรมแดนไทยด้วยระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมน้ำส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ได้พึ่งพาแม่น้ำสาละวินในการหาปลาเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต ทำเกษตรริมน้ำปลูกพืชพันธุ์นานาชนิดในช่วงน้ำลด ใช้ประโยชน์ในการสัญจร และยังถือว่าเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ให้กับคนในพื้นที่รวมถึงสังคมภายนอกด้านความหลากหลายทางระบบนิเวศ ชาติพันธุ์”
“แม่น้ำสาละวินเปรียบเสมือนสายโลหิตที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตทุกคนเสมอมา ปัจจุบันในช่วงน้ำลดมองเห็นถุงพลาสติกที่ติดกับต้นไคร้น้ำถูกทิ้งมาจากข้างบนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลาสัตว์น้ำ รวมถึงทำลายภูมิทัศน์ด้านการท่องเที่ยว ฉะนั้นควรร่วมมือกันหลายฝ่ายหลายชุมชนครอบคลุมตลอดทั้งสองฝั่งเพื่อเป็นการอนุรักษ์และปกป้องอย่างยั่งยืน สามารถบรรลุตามเป้าหมายดังกล่าวได้”
ในวันที่สองของงาน ชาวบ้านจิตอาสาจากบ้านแม่สามแลบ บ้านท่าตาฝั่ง รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่ร่วมพิธีน้อมระลึกถึงพระมาหากรุณาธิคุณ ในหลวง รัชกาลที่ 9 จากนั้นได้ล่องเรือเก็บขยะบริเวณริมน้ำตลอดระยะทางกว่า 17 กิโลเมตร จากบ้านแม่สามแลบถึงอุทยานแห่งชาติสาละวิน (หน่วยท่าตาฝั่ง)
วันนี้แม่น้ำสาละวินยังคงไหลเป็นอิสระ วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงริมแม่น้ำสาละวินยังคงดำเนินไปเหมือนเช่นในอดีต แม้จะมีความเจริญคืบคลานเข้ามามากขึ้น แต่ชุมชนต่างๆยังเชื่อมร้อยกันโดยมีสายน้ำโยงใยให้มิตรภาพเข้าหากัน