เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ที่บ้านหว้าหลัง ม.10 ต.นาหว้า อ.จะนะ จ.สงขลา นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ลงพื้นที่เพื่อรับหนังสือจากชาวบ้าน โดยนายอภิวัฒน์ พรหมทอง รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)นาหว้า เป็นตัวแทนชยื่นหนังสือถึงนายกัณวีร์ เพื่อส่งต่อไปยัง คณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ชาวบ้าน มากกว่า 116 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรม ความไม่ยุติธรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอร้องเรียน ให้มีการตรวจสอบ สอบถาม ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการออกโฉนดที่ดินให้กับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ที่ดินจังหวัดสงขลา (อ.จะนะ) ,กรมที่ดิน,นายอำเภอจะนะ,ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา,เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเหรง,กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ,กรมป่าไม้ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รองนายก อบต.นาหว้า กล่าวว่าเนื่องจากในกระบวนการที่ผ่านมา ชาวบ้านได้มีการยื่นขอสิทธิการออกโฉนดที่ดินไปแล้วตามที่มีการออกประกาศตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ที่กระทรวงมหาดไทยมีประกาศให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบในการออกหนังสือแสดงสิทธิที่ดินเนื่องจาก ส.ค.1 โดยไม่ต้องส่งเรื่องให้กรมที่ดิน ซึ่งหลังจากนั้นก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จนกระทั่งในปี 2552 มีการออกประกาศให้เข้าสู่กระบวนการรังวัดที่ดิน ชาวบ้านได้จ่ายเงินเพื่อทำการรังวัดที่ดิน และมีการรังวัดที่ดิน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการระดับจังหวัด จนปัจจุบันยังไม่สามารถออกโฉนดได้ เนื่องจากอ้างว่า ที่ดินอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเหรง ซึ่งทางชาวบ้านได้มีหลักฐานยืนยันเพื่อขอพิสูจน์สิทธิการอยู่อาศัยมาก่อน เช่น ต้นทุเรียนพื้นบ้านอายุกว่า 100 ปี การขอทุนกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ตั้งแต่ปี 2525 การร่วมปักหมุดหลวงพินิจภุวดล หมุดที่ 1 ที่มีการสลักชื่อ นายสาย ณ บ้านเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2485 รวมถึงแท่นพ่อท่านงุ่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชุมชนนับถือมาตั้งแต่บรรพบุรุษ กว่า 100 ปี ซึ่งปัจจุบันรูปปั้นหินพ่อท่านงุ่นถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) จ.สงขลา เป็นต้น
ทั้งนี้การที่หน่วยงานราชการมีความล่าช้าในการออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชน ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ควรจะได้รับ ทำให้สูญเสียโอกาสในการได้รับประโยชน์จากการใช้ที่ดิน รวมถึงการใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น วัด ในขณะที่พื้นที่อื่นที่มี ส.ค.1 มีการออกโฉนดที่ดินเปลี่ยนมือไปแล้วจำนวนมาก บ้างพื้นที่ก็ให้ต่างชาติถือครองไปแล้ว ทั้งๆที่ชาวบ้านเป็นคนไทย เป็นประชาชนไทยที่ควรได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับสูญเสียสิทธิเหล่านั้น จึงขอให้มีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ และเร่งรัดขั้นตอนเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับชาวบ้านที่รอคอยมากว่า 68 ปี
นายประเสริฐ เสนาจิตร์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.10 กล่าวว่าที่ผ่านมาชาวบ้านได้เข้าสู่กระบวนการขอออกโฉนดมาหลายขั้นตอนแล้ว แต่ปัญหาที่ล่าช้าส่วนหนึ่งเพราะมีการทำลายเอกสาร ส.ค.1 จากเหตุไฟไหม้ที่ที่ดินอำเภอจะนะ ทำให้ ส.ค.1 ของชาวบ้านบางส่วนหายไป
“ตอนนั้นทางราชการมาเอา ส.ค.1 ของชาวบ้านไป ชาวบ้านก็คิดว่าเอาไปเก็บที่อำเภอปลอดภัยที่สุด แต่ที่ไหนได้ มีการเผาสำนักงานที่ดิน เพราะมีการทุจริตกัน แต่ความเดือดร้อนมาตกที่ชาวบ้าน เพราะตอนนี้พอราชการต้องการหลักฐาน ก็ไม่มีมาพิสูจน์สิทธิ์ แล้วใครจะรับผิดชอบ”
นายประเสริฐ กล่าวว่า ชาวบ้านที่นี่มี ส.ค.1 ที่ออกให้เหมือนคนทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้เอกสารสิทธิ์กันไปหมดแล้ว เช่น ที่หาดใหญ่ ภูเก็ต บางแห่งเป็นของต่างชาติไปแล้ว แม้กระทั่งที่ดิน สปก.4-01 ซึ่งเป็นที่ป่าเสื่อมโทรมให้ทำการเกษตรยังสามารถออกเป็นโฉนดเพื่อการเกษตรได้แล้ว ถือเป็นความเหลื่อมล้ำ ที่เห็นได้ชัดเจนมากๆ
“อยากให้ท่าน สส.ช่วยผลักดันให้มีการยกเลิกกฎหมายป่าไม้ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเหรง ในพื้นที่ที่ชาวบ้านทำกินมาก่อน เพื่อปลดล็อคการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้กับชาวบ้านที่นี่” นายประเสริฐ กล่าว
ขณะที่นายจรูญ สังข์ทอง อายุ 70 ปี นำหลักฐาน ใบเสร็จภาษีที่ดินบำรุงท้องที่ หรือ ภ.บ.ท.6 ตั้งแต่ปี 2509-2512 ที่บิดาได้เสียภาษีตามปกติ รวมถึงหลักฐานการขอสงเคราะห์การทำสวนยาง เมื่อปี 2525 ในแปลงที่ดิน ส.ค.1 เช่นเดียวกับชาวบ้านทุกคน ซึ่งรอคอยการมีโฉนดที่ดินมาจากรุ่นสู่รุ่น จนคนที่มีชื่ออยู่ใน ส.ค.1 ก็เสียชีวิตไปจำนวนมากแล้ว ทำให้ในที่สุดอาจไม่มีพยานบุคคลมายื่นขอพิสูจน์สิทธิ์แล้ว ลูกหลานจะทำยังไง
นายกัณวีร์ กล่าวว่า ในเดือนธันวาคม ปี 2565 ตนเองได้ลงพื้นที่มารับฟังปัญหาจากชาวบ้านแล้ว หลังได้รับเลือกตั้งเป็น สส.ก็พบว่าผ่านมา 1 ปี ปัญหาของชาวบ้านยังไม่มีความคืบหน้า จึงมารับหนังสือประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะนอกจากเป็นปัญหาทางกฎหมายแล้ว ชาวบ้านยังสูญเสียสิทธิที่ควรจะได้รับหากมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ถูกต้อง แต่กระบวนการของรัฐล่าช้ามากว่า 68 ปีแล้ว
นายกัณวีร์ กล่าวว่าจะใช้กลไกของรัฐสภาที่มีทั้งการขอหารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบปัญหา และส่งต่อให้คณะกรรมธิการที่ดินฯ ตรวจสอบโดยตรง ส่วนที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิของประชาชน และความไม่ยุติธรรม จะต้องเข้าสู่คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ด้วย จะตั้งใจทำเรื่องนี้ให้เห็นผลในสมัยสภาฯนี้ให้ได้
“ประชาชนรอมาเกือบ 7 ทศวรรษ เป็นไปได้อย่างไร ระบบราชการต้องปรับให้ทันสมัยขึ้น เพื่อทำงานได้มีประสิทธิภาพ เพราะความล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม และจะประสาน สส.ในพื้นที่ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ให้รับทราบด้วยว่าจะช่วยผลักดันเรื่องนี้ร่วมกันหรือไม่” นายกัณวีร์ กล่าว