Search

ชี้วัดประชาธิปไตย ผ่านการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม

ภาสกร จำลองราช

เหลืออีก 4 วันก็จะถึงวันเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) เมื่อวานผมได้รับข้อความจากสำนักงานประกันสังคมเช่นเดียวกับหลายๆ คน แจ้งหน่วยเลือกตั้งที่จะไปใช้สิทธิลงคะแนนในวันที่ 24 ธค. 2566

แต่ถามเพื่อนๆ นักข่าวที่เป็นผู้ประกันตนเหมือนกัน หลายคนบอกว่าไม่รู้เรื่องเลยว่าจะมีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม และถึงรู้ก็ไม่แน่ว่าจะไปเลือกตั้งมั้ย เพราะไม่รู้ว่าเลือกไปทำไม

คำตอบของเพื่อนๆ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรเลย เพราะในจำนวนผู้ประกันตนกว่า 24 ล้านคน มี 14 ล้านคนเป็นผู้มีคุณสมบัติที่มีสิทธิเลือกตั้งบอร์ดในครั้งนี้ พบว่าส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครรู้เรื่องการเลือกตั้งในครั้งนี้เลย เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จำนวนผู้ประกันตนที่มาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งมีเพียงกว่า 9 แสนคน แถมถูกตัดสิทธิอีกเหลือเพียงกว่า 8 แสนคน

ถามว่าอะไรเป็นปัญหาหลักที่ทำให้ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ไม่มาใช้สิทธิในครั้งนี้ คำตอบคือตัวคณะผู้บริหารประกันสังคมนั่นเอง

ท่าทีของผู้บริหารประกันสังคมไม่มีความเต็มใจที่จะจัดการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมมาตั้งแต่ต้น แต่จนใจเนื่องจากกฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดเรื่องการเลือกตั้งเอาไว้

ถามต่อว่าทำไมคณะผู้บริหารประกันสังคม (อาจรวมไปถึงผู้บริหารกระทรวงแรงงานบางส่วนด้วย)  ถึงไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง คำตอบคือการได้บอร์ดชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้การบริหารเงินกองทุนประกันสังคมขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศกว่า 2 ล้านล้านบาทแห่งนี้ไม่เป็นไปตามแนวทางปรารภนาของผู้มีอำนาจในสำนักงานประกันสังคมและผู้มีอำนาจในกระทรวงแรงงานเช่นปัจจุบัน ยกเว้นได้ผู้นำแรงงานหน้าเดิมๆ ที่เป็นคนคุ้นชินอยู่กับผู้มีอำนาจเพราะผลประโยชน์ต่างตอบแทนชนะการเลือกตั้ง

เป็นที่ทราบกันดีว่าตำแหน่งบอร์ดประกันสังคมเป็นผลประโยชน์ชิ้นใหญ่ที่ผู้นำแรงงานต่างหมายตา โดยในอดีตบอร์ดฝ่ายผู้ประกันตนได้มาจากการเลือกโดยการโหวตของสหภาพแรงงาน ทำให้นักจัดตั้งสหภาพในสภาองค์การลูกจ้างแรงงานใหญ่ๆ ผูกขาดมาโดยตลอด ซึ่งก็สมใจผู้มีอำนาจเพราะสามารถเกี้ยเซียะกันได้ลงตัว

 ผู้นำแรงงานเหล่านี้ไม่ได้มีความรู้ความสามารถใดๆในเชิงการบริหารเงินกองทุนขนาดใหญ่ แค่ปากดีเสียงดัง บทบาทนำทั้งหมดตกอยู่ที่ฝ่ายเลขานุการของบอร์ดนั่นคือเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานบอร์ด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่มีอำนาจให้คุณให้โทษผู้บริหารระดับสูง 

ดังนั้นหากได้บอร์ดชุดใหม่ที่มีความเข้มแข็งและคิดนอกกรอบเดิม ย่อมไม่เป็นผลดีต่อระบบอำนาจเดิม ยิ่งหากมีการตรวจสอบที่เข้มข้นและสร้างความโปร่งใสให้กองทุนฯ มากขึ้น นั่นหมายความว่าผลประโยชน์มโหฬารที่ทำกันเป็นประเพณีนิยมต้องหายไป

ประเพณีนิยมที่ว่า อาทิ เมื่อเดือนกันยายน 2566  บอร์ดประกันสังคม ได้เดินทางไปดูงานที่สหรัฐ-แคนาดา โดยใช้งบประมาณนับ 10 ล้านบาท และในเดือนธันวาคมนี้เอง อนุกรรมการอย่างน้อย 3 ชุดยกโขยงกันดูงานที่ญี่ปุ่นกัน 

ประเพณีการดูงานของผู้ที่เกี่ยวข้องในประกันสังคมถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด เพราะแทบไม่เคยเกิดมรรคผลที่นำมาใช้บริหารกองทุนได้จริง แต่เป็นการทัวร์พักผ่อนมากว่า โดยไม่เกรงใจเม็ดเงินจากหยาดเหงื่อแรงงานของผู้ประกันตนเลย

การใช้เงินไปดูงานต่างประเทศกลายเป็นเรื่องปกติ แม้เป็นแค่เรื่องใช้เงินเพียงจิ๊บๆ แต่เป็นรูปธรรมชัด ขณะเดียวกันยังมีเรื่องการลงทุนหรือโยกงบลงทุนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ การแทงหนี้สูญให้บริษัทเอกชนอันคลุมเครือ การทุ่มงบประชาสัมพันธ์ให้กับบางบริษัทที่ยึดโยงอยู่กับผู้มีอำนาจใน สปส. เป็นต้น ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ท้าท้ายการตรวจสอบ 

ผู้มีอำนาจและผู้บริหารสปส.ลืมไปว่า ผู้ที่ถือหุ้นใหญ่ในกองทุนประกันสังคมคือผู้ประกันตน มิใช่รัฐบาล เพียงแต่แรกก่อตั้ง เขาฝากให้ระบบราชการช่วยดูแลไปก่อน แต่หัวใจสำคัญในการบริการคือการมีส่วนร่วม จึงได้ใช้ระบบไตรภาคีในบอร์ด แต่ปัจจุบันผู้บริหาร สปส.และกระทรวงแรงงานกลับทำตัวเสมือนเป็นเจ้าของเงินกองทุนฯ และหวงอำนาจที่ได้รับฝากไว้

ท่าทีที่ไม่เต็มใจจัดการเลือกตั้งของผู้บริหาร สปส.ครั้งนี้สังเกตได้ตั้งแต่แรกเปิดให้ผู้ประกันตนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเดิมทีกำหนดไว้เพียง 19 วันคือตั้งแต่วันที่ 12-31 ตุลาคม แต่ปรากฏว่ามีผู้มาลงทะเบียนน้อยมากเพียงแค่หลักหมื่น เพราะไม่มีความพยายามประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกันตนได้รับทราบ แม้จะมีงบประมาณในการเลือกตั้งอยู่ 200 ล้านบาท จนกระทั่งต้องต่อเวลาให้อีก 10 วัน และปลัดกระทรวงแรงงานออกมาขันน็อต ทำให้มีการสั่งการไปยังสำนักงานประกันสังคมจังหวัดลงพื้นชักชวนผู้ประกันตน ในที่สุดจึงทำให้ตัวเลขผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิกระเตื้องขึ้นเป็นกว่า 9 แสนคน แต่ก็ถือว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14 ล้านคน โดยเฉพาะผู้ประกันตนที่เป็นพนักงานบริษัทหรือห้างร้านต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ไม่ได้รู้สึกร่วมด้วย เพราขาดการณรงค์จาก สปส.

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และประกาศรายชื่อผู้รับสมัครลงเลือกตั้งทั้งฝ่ายผู้ประกันตนและผู้แทนฝ่ายนายจ้าง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน แทนที่บรรยากาศเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งจะตลบอบอวนไปด้วยการหาเสียงและการนำเสนอนโยบายของผู้รับสมัครลงเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าทุกอย่างยังคงเงียบเชียบ เพราะการรณรงค์เข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังคงน้อยมาก

 เมื่อจี้ถามไปยังผู้บริหารสำนักงานประกันสังคมว่าจะมีการจัดเวทีให้ผู้รับสมัครแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ ก็ได้คำตอบแบบอ้อมๆแอ้มๆ เลี่ยงไปเลี่ยงมา หากสังเกตก็จะเห็นว่าการให้ข่าวต่อสื่อมวลชนของผู้บริหารที่มีต่อเรื่องนี้ไม่กว้างขวางเลยหรือเรียกได้ว่าน้อยมาก 

พูดง่ายๆ คือผู้บริหารตั้งแต่ระดับสูงในกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคม ไม่มีใครตื่นเต้นหรือกระตือรือร้นที่จะจัดการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในครั้งนี้ให้ดีที่สุด

จนถึงขณะนี้แม้กำลังจะถึงวันเลือกตั้งแล้ว แต่กฏกติการที่ใช้ในการเลือกตั้ง เช่น บัตรเสีย เรื่องผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง เรื่องการนับคะแนน ก็ยังถูกถามกันอย่างกว้างขวางเป็นเป็นอย่างไร หรือเรื่องการซื้อเสียง การเสนอผลประโยชน์ต่างๆแลกคะแนน การขนคนไปลงคะแนน เป็นการผิดกติกาหรือไม่ และแค่ไหนที่เรียกว่าผิดกติกา ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่แพร่หลาย

ขณะเดียวกันกระแสข่าวในมุมลบของการจัดการเลือกตั้งกลับถูกปล่อยออกมาเป็นระยะๆ เช่น สิ้นเปลืองงบประมาณ ยุ่งยาก แถมยังมีข่าวด้วยว่าหลังจากหมดวาระบอร์ดชุดที่กำลังเลือกตั้ง 2 ปี อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลือกบอร์ดประกันสังคมกันใหม่ ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานได้เตรียมเสนอแก้ไข พรบ.ประกันสังคม อีกครั้งเพื่อให้การเลือกตั้งกลับมาเป็นการสรรหา

จับตามองกันต่อไป ผลการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ นอกจากเป็นการเดิมพันถึงอนาคตของกองทุนเกือบ 3 ล้านล้านบาทแห่งนี้แล้ว ยังเป็นเรื่องของกระบวนการประชาธิปไตยที่จะเบ่งบานหรือหุบหายไปกับวงจรอุบาทว์ที่เกาะกินสังคมไทยต่อไป

———-

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →