Search

อาสาปลดชนวนระเบิดกองทุนประกันสังคม 2 นักวิชาการ-ผช.ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เผยแนวทางสร้างความมั่นคงให้กองทุน-แก้ความเหลื่อมล้ำสิทธิรักษาพยาบาล เผยรัฐเป็นหนี้ 5.5 หมื่นล้านบาททำ สปส.ขาดรายได้

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 เหลืออีกเพียง 2 วันที่จะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดประกันสังคม)ทั้งในสัดส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละ 7 คน ซึ่งจะมีการจัดคูหาเลือกตั้งให้เขียนหมายเลขและหย่อนบัตรตามจุดต่างๆ ในแต่ละจังหวัดในวันที่ 24 ธันวาคม ขณะที่ผู้รับสมัครเป็นทีมหลายทีมต่างลงพื้นที่ตามแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมกันอย่างหนัก

ศ.วรเวศม์ สุวรรณระดา อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สมัครหมายเลข 48 กล่าวว่า ตนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 กว่า 20 ปี สาเหตุที่ลงรับสมัครเลือกตั้ง เนื่องจากทำงานวิชาการเรื่องประสังสังคมและ ผู้สูงอายุ มา 20 ปี เคยทำงานที่ญี่ปุ่น ทำให้ทราบว่าระบบบำนาญของญี่ปุ่นแก้ปัญหาอย่างไร เคยทราบตัวอย่างจากประเทศอื่น ขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เป็นโอกาสดีใช้ประสบการณ์มาช่วยหาทางออกให้ประเทศ อยากเอาความรู้มาช่วยเหลือสังคมและไม่มีเหตุอะไรต้องกังวล

“ผมเห็นปัญหาซึ่งเสมือนระเบิดเวลา ในฐานะนักวิชาการที่ทำงานรับเงินเดือนจากภาษีประชาชนมา 20 ปี แม้การเลือกตั้งครั้งนี้เราไม่มีฐานเสียงอะไร แต่หากไม่อาสาใดๆก็จะรู้สึกเป็นความผิดในใจเล็กๆ ผมสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงบำนาญชราภาพเพราะเป็นตัวใหญ่ของกองทุนประกันสังคม ซึ่งกองทุนฯ จะมั่นคงหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวนี้ จริงๆ แล้วด้วยโครงสร้างอายุของผู้ประกันตน คนสูงอายุเพิ่มขึ้น ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ในส่วนชราภาพมีปัญหาแน่ ถ้าปล่อยไว้แล้วบอกต้องเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือโกลาหลแน่ ควรวางแผนเป็นขั้นตอนซึ่งผมคิดว่าช่วยได้” ศ.วรเวศม์ กล่าว

ศ.วรเวศม์ กล่าวว่าการสร้างความมั่นคงให้กองทุนประกันสังคมเป็นเรื่องสำคัญ เรารู้ว่าอีก 20 ปีจะมีค่าใช้จ่ายกรณีชราภาพมหาศาล โดยตอนนี้มีผู้ชราภาพ 7 แสนคนและใช้เงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่จากนี้ไปผู้ประกันตนที่อายุ 40 ปีเพิ่มขึ้นไปมี 8 ล้านคน ถึงเวลารับสิทธิเหน็จบำนาญชราภาพ อาจสูงถึง 5 ล้านคน และจ่ายเงินสูงนับแสนล้านบาท ทำอย่างไรให้กองทุนฯ มั่นคง เราต้องแก้ไขคือทำอย่างไรให้กองทุนฯ ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตอนนี้มีเงินสมทบค้างจ่ายจากรัฐบาลมากพอสมควรทำให้กองทุนไม่สามารถนำเงินมาลงทุนให้เกิดดอกออกผล ทำอย่างไรก็ได้ที่บอร์ดเรียกร้องเงินคงค้างจากรัฐบาล 5.5 หมื่นล้านบาทได้

ศ.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้สมัครหมายเลข 79 กล่าวว่า มีประสบการณ์เรื่องการทำวิจัยประกันสังคมและสุขภาพกว่า 20 ปี โดยสมัยที่เรียนแคนาดาก็ทำวิจัยเรื่องสวัสดิการสังคม ปัญหาหลักจากการทำวิจัยคือเรื่องความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมคือการเสนอประเด็นทางนโยบายหลายครั้งไม่ได้รับการตอบสนอง เห็นว่าระบบประกันสังคมไม่ตอบสนองต่อผู้ประกันตนซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ต้องรีบแก้ไข เพราะเป็นผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ แต่กลับไม่รู้เรื่องว่าเขาเอาเงินไปใช้อะไร และเมื่อขอดูก็ต้องใช้ความพยายามมากซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกันตน

“รัฐติดหนี้กองทุน 5.5 หมื่นล้านบาท ไม่ถูกปรับ แต่พอผู้ประกันและนายจ้างค้างเงินสมทบกลับถูกปรับ ตอนนี้หนี้ของรัฐสะสมยาวนานมาก ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนได้” ศ.วรวรรณ กล่าว

ศ.วรวรรณกล่าวว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นสอดคล้องกันว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งเงินกองทุนประกันสังคมจะขาดดุล ในช่วง 30-40 ปีข้างหน้า ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะเสียหายมากเพราะผู้ประกันตนอายุเยอะขึ้น แต่ถ้าจู่ๆไม่มีเงินบำนาญที่สะสมไว้จะเกิดอะไรขึ้น ที่สำคัญเป็นความเสียหายของตลาดเงินตลอดทุนด้วย เราจึงอยากป้องกันไว้ก่อนเพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

“การลงทุนของกองทุนประกันสังคมนั้น ต้องมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ในอนุกรรมการ และต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่สำคัญคือต้องไม่ถูกแทรกแซงทางการเมือง เพื่อสร้างความเติบโตให้กองทุน และต้องรายงานให้บอร์ดทราบ และมีประกาศผลตอบแทนให้ชัดเจน” ศ.วรวรรณ กล่าว

ศ.วรวรรณกล่าวว่า เรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาล ขณะนี้เกิดเความเหลื่อล้ำขึ้นระหว่างประกันสังคมและบัตรทอง โดยกองทุนประกันสังคมเกิดก่อนบัตรทองที่เกิดตอนปี 2545 โดยตอนนั้นรัฐอุดหนุน 1,200 บาทต่อคนต่อปี และรัฐช่วยประกันสังคม 1,800 บาทต่อคนต่อปี ทำให้ตอนนั้นเรารู้สึกว่าประกันสังคมดีกว่า แต่ปัจจุบันรัฐช่วยเหลือบัตรทอง 3,300 บาทต่อคนต่อปี แต่อุดหนุนผู้ประกันตนเท่าเดิมคือ 1,800 บาท ทำให้สวัสดิการบัตรทองแซงหน้าประกันสังคมไปเรียบร้อย และเห็นความเหลื่อมล้ำของสิทธิรักษาพยาบาล เช่น กรณีโรคเบาหวาน การทำฟัน

นายกีรติ โกสีย์เจริญ ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้สมัครหมายเลข 113 กล่าวว่า พนักงานออฟฟิศมีความน่าสงสารเพราะทำงานใช้เงินแบบเดือนชนเดือน และยังต้องกันเงินบางส่วนเข้ากองทุนประกันสังคม จึงมีความเป็นห่วงว่าเงินสมทบที่จ่ายสะสมไว้ กองทุนจะอยู่ยืนยาวหรือไม่

“คาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงให้บอร์ดเข้าไปผลักดันนโยบายได้ การปรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่หากไม่มีการหาประโยชน์เข้ากองทุนฯ เลยก็จะมีปัญหา กรณีฝรั่งเศสที่เป็นต้นแบบรัฐสวัสดิการ มีการประท้วง เผาหลายจุด เพราะตอนคุยกันอย่างหนึ่ง แต่เอาจริงๆ ทำไม่ได้ บอกว่าเกษียณ 62 ปีแต่รัฐมาบอกให้เกษียณ 65 ปี ประชาชนจึงไม่ยอมกัน ดังนั้นจึงอยากให้เรามีการเตรียมการล่วงหน้า”นายกีรติ กล่าว

นายกีรติกล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลค้างชำระ 5.5 หมื่นล้านบาท เงินก้อนนี้มีความสำคัญต่อกองทุนสามารถนำไปหาผลตอบแทนได้ หากดูเผินๆตอนี้กองทุนฯ มีเงินสูง 2.3 ล้านล้านบาท แต่น่าตกใจคือเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเร็วมาก จำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในการหารายได้และเพิ่มประสิทธิภาพ

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →