Search

ทีมประกันสังคมก้าวหน้าชนะเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ถล่มทลาย-ผู้มาใช้สิทธิน้อยเกินคาดเพียง 18% จวก สปส.ไม่จริงใจจัดการเลือกตั้ง ผู้นำแรงงาน-นักวิชาการหนุนเดินหน้าต่อ แนะรื้อระบบไตรภาคีให้ลูกจ้างได้มีส่วนร่วมแท้จริงเช่นเดียวกัน

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 สำนักงานประกันสังคม(สปส.)จัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดประกันสังคม)ในส่วนของผู้แทนผู้ประกันตน 7 คนและผู้แทนนายจ้าง 7 คน โดยมีผู้ประกันตนลงทะเบียนและมีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 854,414 คน ทั้งนี้ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่าทีมประกันสังคมก้าวหน้าซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคก้าวไกล ชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอยโดยได้รับคะแนนมากกว่า 2 หมื่นคะแนน ประกอบด้วย 1.นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี 2.นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน 3.นายชลิต รัษฐปานะ 4.นายศิววงศ์ สุขทวี 5.น.ส.นลัทพร ไกรฤกษ์ 6.นางลักษมี สุวรรณภักดี ส่วนอันดับ 7 คือนายปรารถนา โพธิ์ดี ประธานเครือข่ายพนักงานราชการไทย ได้คะแนนกว่า 7 พันคะแนน ห่างจากทีมประกันสังคมก้าวหน้ากว่า 1 หมื่นคะแนน

ทั้งนี้จากการสรุปหลังปิดหีบเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ที่ศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมรายงานว่ามีผู้ประกันตนมาใช้สิทธิ 156,870 คน คิดเป็น 18.359 % ของผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งที่มีจำนวนทั้งหมด 854,414 คน โดย 5 จังหวัดที่มีสัดส่วนผู้ออกมาใช้สิทธิมากที่สุด คือ ปัตตานี 32.87% หรือ 1,484 คน พะเยา 31.59% หรือ 1,651 คน นนทบุรี 28.19% หรือ 6,801 คน สมุทรปราการ 25.94% หรือ 16,967 คน และ กรุงเทพมหานคร 25.44% หรือ 39,169 คน

ส่วนสถานที่ที่มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากสุด 5 อันดับแรก คือโรงเรียนสมุทรปราการ 32.43% หรือ 6,371 คน สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 คิดเป็น 30.68% หรือ 4,045 คน ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ 28.83% หรือ 5,177 คน โลตัส สาขามีนบุรี 23.73% หรือ 4,661 คน และ เทศบาลเมืองบ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี 21.85% หรือ 4,404 คน

เวลา 20.00 น. ที่อาคารพรรคอนาคตใหม่ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า นำโดยนายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ได้แถลงข่าวประกาศชัยชนะและขอบคุณ โดยกล่าวว่าชัยชนะครั้งนี้เป็นของฝ่ายประชาธิปไตยที่ไม่ยอมจำนนและต้องการความเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้เห็นคนรุ่นใหม่มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะมีความฝันและความหวังอยากให้ประเทศนี้มีสวัสดิการที่ดีขึ้น ถือว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นประชาธิปไตยในที่ทำงาน หวังว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้มีการออกแบบการเลือกตั้งให้ดีขึ้น

น.ส.อรุณี ศรีโต ผู้นำแรงงานและบอร์ดประกันสังคม กล่าวว่า ตลอด 33 ปีที่มีประกันสังคมไม่เคยมีบรรยากาศที่ผู้ประกันตนได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเช่นนี้ แม้จะมีผู้ไปใช้สิทธิไม่มากแต่ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่มีความตื่นตัว โดยสิ่งสำคัญที่ต้องแก้ไขคือการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกันตนได้รับทราบ เพราะการเลือกตั้งเป็นระบบที่ดีถือว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้อง ขณะที่คณะกรรมการไตรภาคีชุดต่างๆในกระทรวงแรงงานมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นการสรรหาจากสภาองค์การลูกจ้าง ทำให้ได้ผู้นำแรงงานหน้าเดิมๆวนเวียนกันไป จนคนงานขาดการมีส่วนร่วมอย่างที่จริง

“การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เราหวังว่าจะเป็นการนำร่องและส่งเสริมไปที่คณะกรรมการไตรภาคีในชุดอื่นๆด้วย ผู้บริหารกระทรวงแรงงานควรคิดถึงเรื่องการแก้ไขโครงสร้างนี้ในการพัฒนาระบบไตรภาคี คนที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต้องใส่ใจ”น.ส.อรุณี กล่าว

น.ส.อรุณีกล่าวว่า ปัจจุบันมีสภาองค์การลูกจ้างอยู่ 17 สภา โดยผู้นำแรงงานบางคนไม่ได้เป็นบลูกจ้างจริงๆ และดำรงตำแหน่งประธานสภาเกือบตลอดชีพแม้อายุเยอะแล้วก็ไม่ยอมเกษียณ ซึ่งผู้บริหารในกระทรวงแรงงานต่างก็ทราบดี แต่กลับไม่คิดตรวจสอบและแก้ไข

“การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดี แม้ผู้ประกันตนจะมาใช้น้อย แต่หากมีการเลือกตั้งเรื่อยๆและทำให้ผู้ประกันตนรู้จักบอร์ดมากขึ้น สถานการณ์ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะประกันสังคมอยู่มา 33 ปี แต่ผู้ประกันตนยังไม่รู้เลยว่าบอร์ดทำหน้าที่อะไร และเมื่อพวกเขามีเรื่องทุกข์ร้อนก็ไม่รู้จะร้องเรียนกับใคร ดังนั้นต้องพัฒนาระบบการเลือกตั้งให้มีส่วนร่วมจริงๆและให้ผู้ประกันตนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของเงินและเจ้าของสิทธิ แต่เราเริ่มต้นถูกทางแล้ว”ผู้นำแรงงานหญิงกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่ผู้ประกันตนมาใช้สิทธิน้อยและการเลือกตั้งขลุกขลักหลายประการจะเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนระบบการเลือกบอร์ดเป็นระบบสรรหาเหมือนสมัยก่อนหรือไม่ น.ส.อรุณีกล่าวว่า ถ้าจะมีการแก้กฎหมายกลับสู่ระบบเดิมก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอ เพราะนั่นหมายถึงระบบไตรภาคีที่ไม่พัฒนา โดยควรให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งดีที่สุด

ด้าน ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ อดีตนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดครั้งนี้ขาดการเตรียมตัวอย่างมากเหมือนกับไม่มีความกระตือรือร้นและทำความสับสนให้กับผู้ประกันตนที่ออกมาลงคะแนนเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้จัดการเลือกตั้งไม่ได้ใช้ความพยายามให้เกิดผลอย่างที่ควรจะเป็น ที่สำคัญคือจำนวนหน่วยเลือกตั้งมีน้อยมาก สะท้อนถึงความไม่พร้อมและความจริงใจมีไม่พอหรือไม่ แน่นอนว่าจำเป็นต้องทบทวน และต้องถามคนที่รับผิดชอบว่าได้ใช้ความพยายามเพื่อให้เกิดความตื่นตัวแล้วหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่ผู้ประกันตนมาใช้สิทธิน้อยเป็นเหตุที่นำมาอ้างเพื่อกลับไปใช้ระบบคัดเลือกเหมือนเดิมหรือไม่ ดร.แล กล่าวว่า ก็เป็นไปได้ หรือแม้แต่คนที่ได้รับการเลือกเข้าไปก็อาจถูกอ้างว่าเป็นเสียงของผู้ประกันตนส่วนน้อยทำให้ความชอบธรรมอ่อน

“การเลือกตั้งแบบนี้เป็นวิธีการที่ถูกต้อง แต่ปัญหาคือทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เราต้องทำให้วันแมนวันโหวตมีต้นทุนต่ำสุด ไม่ใช่ให้ผู้ประกันตนวิ่งไปหาคูหาเลือกตั้งแสนไกล และต้องคอยจำว่า 7 เบอร์ที่จะลงคะแคนให้มีเบอร์อะไรบ้าง”ดร.แล กล่าว

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →